ส่องปลายทางอภิมหาดีล 'ทรูควบดีแทค' ทำได้ แต่ ‘ไม่ง่าย’

ส่องปลายทางอภิมหาดีล 'ทรูควบดีแทค' ทำได้ แต่ ‘ไม่ง่าย’

ดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค” อีกหนึ่ง “โอกาส” มหาศาลของเจ้าสัวซีพี ที่จะเป็นแต้มต่อก้าวสู่ผู้เล่นระดับภูมิภาค และระดับโลกในภาพของ “เทค คอมพานี” ยิ่งใหญ่ หากหนทางของดีลนี้ยังไม่จบ ระหว่างทางยังเจอหนามเต็มไปหมด จนสุดท้ายอาจกลายเป็นอีกหนึ่ง “วิบากกรรม” ของกลุ่มซีพี

หลังเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ ประกาศการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) โดยสนับสนุนให้ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ตั้งเป้าปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีภายใต้ยุทธศาสตร์ "เทคโนโลยีฮับ" พร้อมเสริมธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ การสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม และกองทุนสตาร์ทอัพ เพื่อสอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค 

ระหว่างการศึกษาและพิจารณาการปรับโครงสร้างครั้งนี้ ธุรกิจของทรู และดีแทค ยังคงดำเนินไปตามปกติของแต่ละบริษัท ขณะที่เครือซีพี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทรู และกลุ่มเทเลนอร์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของดีแทค ตั้งเป้าที่จะหาข้อสรุปในรายละเอียดของความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) ซึ่งจะส่งผลให้ เครือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์ ถือหุ้นเท่าเทียมกันในบริษัทใหม่ที่จะร่วมกันสร้างขึ้น
 

นอกจากนี้ กลุ่มทรูฯและดีแทคจะดำเนินการตามเงื่อนไขต่างๆ ทั้งการตรวจสอบกิจการของอีกฝ่ายหนึ่งแล้วเสร็จเป็นที่พอใจ (ดีล ดิลิเจ้นท์) การขออนุมัติที่เกี่ยวข้องจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท และผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท ตลอดจนการดำเนินขั้นตอนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ให้แล้วเสร็จ โดยในเบื้องต้นไทม์ไลน์การควบรวมจะแล้วเสร็จราวไตรมาส 2 เป็นต้นไป บริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น จะตั้งกองทุนมูลค่าประมาณ 100-200 ล้านดอลลาร์  ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย

จับตาข้อตกลงร่วมทุน 60:40

อย่างไรก็ดี กระแสข่าวที่ออกมาล่าสุด กลับระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มทรู จะค่อยๆ เข้าเทคโอเวอร์บริษัทใหม่ที่จัดขึ้น โดยแหล่งข่าวในวงการ กล่าวว่า ผลสรุปสุดท้าย อาจไม่ได้หมายถึงการควบรวมในสัดส่วน 50:50 เพราะมีหลายกระแสคาดการณ์ว่า การควบรวมครั้งนี้ ทรูน่าจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 60:40 ซึ่งจะค่อยๆ ซื้อหุ้นเพิ่มภายหลัง รอเวลาให้กระแสด้านลบจางหายไป
 

แหล่งข่าว วิเคราะห์ในประเด็นนี้ต่อว่า สิ่งที่ต้องจับตาดูจากนี้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่สถานะผู้ถือหุ้นของดีแทค คือ “เทเลนอร์ กรุ๊ป”จะยังคงลงทุนหรือทำตลาดให้บริการโทรศัพท์มือถือในไทยอย่างแข็งขันต่อไปอีกหรือไม่ เพราะหากดูจากผลประกอบการที่ปี 2564 อยู่ที่ 81,320 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% ส่วนกำไรสุทธิลดลงถึง 34.3% มาอยู่ที่ 3,356 ล้านบาท มีจำนวนผู้ใช้บริการทั้งหมด 19.5 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 3.7% แต่เทียบไม่ได้กับในปี 2563 ที่ลูกค้าหายไปถึง 1.7 ล้านราย เมื่อบัญชีออกมาเป็นอย่างนี้ อาจจะเป็นอีกเหตุผลที่ เทเลนอร์ฯ ตัดสินเข้าควบรวมกับกลุ่มทรูฯดังที่กล่าวข้างต้น

และอีกปัจจัยที่เทเลนอร์ กรุ๊ป กำลังเริ่มหาลู่ทางทิ้งตลาดประเทศไทย เพราะการทำรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำเหมือนเช่นในอดีตนั้นไม่เป็นเหมือนเดิม ประกอบจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือก็เต็มจำนวนมากเกินกว่าอัตราจำนวนประชากรมากกว่า 100% แล้ว แต่ต้นทุนการบริหารและค่าใช้จ่ายด้านใบอนุญาต 4จีและ5จี ก็ยังเป็นปัจจัยที่กดผลประกอบการในช่วง 3-5 ปีต่อจากนี้ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้ทรูฯที่ต้องการขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดโค่นแชมป์เก่าอย่าง “เอไอเอส” ให้ได้

ข้อสรุปดีลหนทาง “ไม่ง่าย” 

แต่หนทางของกลุ่มทรู อาจไม่ง่ายอย่างที่ต้องการ เพียงเพราะซื้อกิจการคู่แข่งเพื่อให้ก้าวเข้าสู่ฐานะผู้นำ เพราะล่าสุด มีรายงานข่าวแจ้งว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แจ้งว่า กลุ่มทรู และ ดีแทค ได้ส่งเอกสารพิจารณาการควบรวมกิจการมายัง กสทช. ซึ่งจากการตรวจสอบเอกสาร พบว่า ยังไม่ครบถ้วน ขาดในส่วนการวิเคราะห์ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทั้งผลดี และผลเสีย จากการควบรวม ขณะเดียวกัน บริษัทที่ปรึกษาที่ส่งมามีเพียง 1 ราย จากปกติจำเป็น จะต้องมีบริษัทที่ปรึกษาประมาณ 2-3 ราย เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างกัน ดังนั้น กสทช.จึงมีการส่งหนังสือกลับไปยังสองบริษัทให้เร่งดำเนินการใหม่ ทำให้หนทางการควบรวมที่กำลังจะเริ่มต้นกลับไม่เป็นดังที่คิด

นอกจากนี้ ล่าสุดในโซเชียลมีเดียยังได้ผุดแคมเปญ ‘รณรงค์ต่อต้านการผูกขาดทางการค้ากรณีการควบรวมกิจการระหว่างกลุ่มทรูฯและดีแทคใน Change.org ชี้ทำให้ “ประชาชนเสียผลประโยชน์ในระยะยาว”โดยตั้งเป้ารวบรวมผู้สนับสนุน 2,500 ราย พร้อมยังขอเรียกร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กสทช. และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ได้โปรดทำหน้าที่ในการตรวจสอบดีลควบรวมกิจการระหว่างกลุ่มทรู และดีแทคด้วย เนื่องจากเป็นการรวบผูกขาดทางการตลาด ขัดต่อกฎหมาย และก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเพราะจะเหลือผู้ให้บริการเพียงแค่ 2 รายและนอกจากนี้ในฐานะลูกค้าดีแทคก็เป็นเหมือนเป็นการถูกมัดมือชกให้ต้องไปใช้กลุ่มทรู โดยไม่ได้สมัครใจ