วิบากกรรม 2 เจ้าสัว "ธนินท์ - เจริญ" พิษผลกระทบโควิด

วิบากกรรม 2 เจ้าสัว "ธนินท์ - เจริญ" พิษผลกระทบโควิด

วิกฤติโควิด ทุบธุรกิจ 2 เจ้าสัว ‘เจริญ’ โบกมือลาธุรกิจ 'การเงิน' ด้าน “ธนินท์” บอบช้ำ 'โครงการไฮสปีด' ขอรัฐช่วยเยียวยาผ่อนจ่ายค่าโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจอย่างรุนแรงทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่เจ้าสัวใหญ่ของประเทศไทยที่มีธุรกิจในมือมูลค่าหลักล้านล้านบาท

ย้อนไป 24 ปี ที่ผ่านมา ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” เจ้าของอาณาจักรเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ต้องสูญเสียห้างค้าปลีกโลตัส ในขณะที่ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” เจ้าของอาณาจักรไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น (ทีซีซี กรุ๊ป) ต้องสูญเสียธนาคารมหานคร ซึ่งเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของ 2 เจ้าสัว

เดือน ม.ค.2565 ในสถานการณ์ที่โรคโควิด-19 ระบาดในประเทศไทยครบ 2 ปีเต็ม อาณาจักรธุรกิจขนาดใหญ่ที่หลายฝ่ายเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของธุรกิจ กลับทำให้บางธุรกิจในอาณาจักรอยู่ในสถานการณ์ที่เครดิตระดับ "เจ้าสัว" ถูกท้าทาย

ธุรกิจการเงินเป็นธุรกิจในฝันของเศรษฐีระดับเจ้าสัวในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา รวมถึง “เจ้าสัวเจริญ” ที่เริ่มเข้าสู่ธุรกิจการเงินเมื่อปี 2529 ด้วยการเข้าครอบครองธนาคารมหานคร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจ และบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด แต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540

เหลือเฉพาะ “อาคเนย์ประกันภัย” จึงทุ่มทรัพยากรการขยายธุรกิจการเงินที่เหลือเป็น บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) , บริษัทอาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท อาคเนย์ มันนี จำกัด และบริษัทอาคเนย์ แคปิตอล จำกัด รวมทั้งต่อมาได้เข้าซื้อกิจการบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)

“อาคเนย์ประกันภัย” ธุรกิจการเงินที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หลังจากการออกกรมธรรม์ “เจอ จ่าย จบ” ที่ไปได้สวยในปี 2563 แต่ปี 2564 สายพันธุ์เดลตาที่ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อในไทยมากกว่า 2 ล้านคน และอาคเนย์ประกันภัยต้องจ่ายสินไหมไปแล้ว 9,900 ล้านบาท ทำให้ต้องยื่นต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ขอให้บริษัทประกันยกเลิกกรมธรรม์นี้ได้ แต่ถูกปฏิเสธและนำมาสู่การร้องศาลปกครอง และทำให้ต้องยื่นขอ “เลิกกิจการประกันวินาศภัย” เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2565

แหล่งข่าวจากตระกูลธุรกิจชั้นนำของเมืองไทย กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า การที่เจ้าสัวเจริญทิ้งธุรกิจประกันถือเป็นการ Cut loss หรือหยุดการขาดทุน เพื่อไม่ให้ธุรกิจเสียหายหนักยิ่งขึ้น หากยังยื้อต่อ “ในทางธุรกิจไม่ว่าผู้ประกอบการรายใดที่เผชิญภาวะนี้เชื่อว่าจะเลือกวิธีการนี้เช่นกัน”

การหยุดขาดทุนในธุรกิจประกัน ช่วยประคองภาพรวมของธุรกิจทีซีซี กรุ๊ป จากพิษโควิด-19 ระบาดกว่า 2 ปี ฉุดความมั่งคั่งของเจ้าสัวเจริญ ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจการเงิน ภายใต้ บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

ส่วนกลุ่มธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยวภายใต้บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ปี 2563-2564 รายได้ลดลงโดยมีผล “ขาดทุน” สะสม 2 ปีเกือบ 2,000 ล้านบาท เพราะโรงแรมในประเทศมีอัตราเข้าพักต่ำถึง 1% จากเคยอยู่ระดับ 80%

วิบากกรรม 2 เจ้าสัว \"ธนินท์ - เจริญ\" พิษผลกระทบโควิด

ธุรกิจเครื่องดื่มและอาหาร ภายใต้อาณาจักรไทยเบฟเวอเรจ ช่วง 2 ปียอดขายลดลงต่อเนื่องเช่นกัน โดยปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.2562-ก.ย.2563) ยอดขายรวม 253,481 ล้านบาท ลดลง 5.2% ราว 13,876 ล้านบาท แต่กำไรสุทธิลดเพียง 18 ล้านบาท อยู่ที่ 26,065 ล้านบาท ปี 2564 ยอดขายรวม 240,543 ล้านบาท ลดลง 5.1% ราว  12,938 ล้านบาท กำไรสุทธิ 27,339 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% ประมาณ 1,274 ล้านบาท

ด้าน “มาร์เก็ตแคป” ช่วงเกือบ 6 เดือนที่ผ่านมา ลดลงจาก 13,700 ล้านดอลลาร์ ณ 2 ก.พ.2565 มูลค่าอยู่ที่ 12,216 ล้านดอลลาร์ มาร์เก็ตแคปหายไปกว่า 48,000 ล้านบาท

ภาพรวมฐานะทางการเงินของ "ไทยเบฟ" ยังคงแข็งแกร่ง และตลอดการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมามีความสามารถทำกำไรและเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจ "สุรา" เป็นพระเอกที่ทำกำไรสัดส่วนสูงสุดถึง 87%

ส่วนธุรกิจเบียร์ในประเทศยังมีทิศทางดีแม้ช่องทางผับ บาร์ ถูกกระทบปิดร้าน ส่วนตลาดเบียร์ต่างประเทศปีที่ผ่านมาหดตัว 11% โดยหลักจากไซง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น (SABECO) ในเวียดนามที่เจอมาตรการรัฐเข้มสกัดโควิด ด้านธุรกิจอาหารขาดทุน 488 ล้านบาท ติดลบสูง 383.2% ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ยอดขายลดลง 6.6% แต่ทำกำไรเติบโต 51%

ภาพรวมธุรกิจไทยเบฟถือว่ามีแข็งแกร่ง โดยเฉพาะ “การเงิน” ที่ยังทำกำไรได้ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด

ไทยเบฟ วางแพชชั่นเคลื่อนธุรกิจสู่ชัยชนะหรือ Passion to Win 2025 โดยมุ่งรักษาบัลลังก์เครื่องดื่มครบวงจรของไทยและอาเซียน หรือ โททัล เบฟเวอเรจ หลังโควิดจะต้องแข็งแกร่งกว่าเดิม พร้อมเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ด้านธุรกิจอุตสาหกรรมและการค้าภายใต้บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี เผชิญโควิด 2 ปี ยอดขายลดลงระดับ “หมื่นล้านบาท” แต่ยังทำกำไรแม้จะเป็นอัตราลดลง โดยปี 2563 มีกำไรสุทธิ 4,000 ล้านบาท และ 9 เดือนปี 2564 กำไรกว่า 2,000 ล้านบาท

หากโควิดคลี่คลาย คาดว่าบีเจซีจะเติบโตอีกครั้งเพราะบริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ขณะที่ห้างค้าปลีกบิ๊กซี เป็นหน้าร้านหนึ่งในช่องทางที่เสิร์ฟสินค้าเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

สำหรับธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรภายใต้กลุ่มพรรณธิอร มีการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรในไทย ลาว กัมพูชา ครอบคลุมทั้งยางพารา กาแฟ ปาล์มน้ำมัน และมีโรงงานน้ำตาล โรงงานผลิตปุ๋ยเคมี “ปุ๋ยตรามงกุฏ” และโรงงานผลิตสินค้าแปรรูป เช่น สับปะรดกระป๋อง สุขภาพธุรกิจหลักมีความแข็งแกร่ง เช่น เทอราโกร เฟอร์ติไลเซอร์ ผลิตและทำตลาดปุ๋ยตรามงกุฎ ทำรายได้ปี 2563 หลัก 5,000 ล้านบาท เติบโตเล็กน้อย กำไรเติบโตกว่า 1,000%

วิบากกรรม 2 เจ้าสัว \"ธนินท์ - เจริญ\" พิษผลกระทบโควิด

ในขณะที่ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน ถึงแม้มีโควิดทั่วโลกยังทำให้รายได้ทั้งกลุ่มซีพีทั่วโลกในปี 2563 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.14 ล้านล้านบาท มากกว่าปี 2562 ที่มีรายได้ 1.99 ล้านล้านบาท 

ส่วนผลดำเนินงานปี 2564 ในบริษัทหลักอย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ช่วง 3 ไตรมาส แรกของปี รายได้รวม 378,455 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,308 ล้านบาท และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) รายได้รวม 401,083 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,281 ล้านบาท

ผลกระทบจากโควิด-19 เกิดกับ “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่ดำเนินการผ่าน "บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด" ต้องขอให้รัฐ “เยียวยา” ผลกระทบโควิด-19 ด้วยการขอผ่อนชำระค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของรถไฟความเร็วสูง

ตามสัญญาร่วมลงทุนกำหนดให้กลุ่มซีพีชำระ 10,671 ล้านบาท ภายในวันที่ 24 ต.ค.2564 หรือภายใน 2 ปี หลังลงนามสัญญา แต่กลุ่มซีพีชำระไม่ได้ และขอผ่อนจ่าย ซึ่งนำมาสู่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้แก้ไขสัญญาร่วมลงทุนที่กำลังเจรจากันขณะนี้

ทั้งนี้ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด มีปัญหาในการเจรจาขอสินเชื่อลงทุน โดยได้รับการชี้แจงจากสถาบันเงิน 3 ประเด็น สำคัญ คือ 

1.แอร์พอร์ตเรลลิงก์มีจำนวนผู้โดยสารน้อยลง จากผลกระทบโควิด-19 เหลือวันละ 9,000 คน จากช่วงก่อนระบาดมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 70,000 คน 

2.รัฐบาลสนับสนุนนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ลดลงเมื่อเทียบช่วงที่ผ่านมา

3.อัตราหนี้ของกลุ่มซีพีชนเพดาน หลังจากที่ผ่านมาธุรกิจในเครือกู้เงินเพื่อลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะการซื้อกิจการเทสโก้ในไทยและมาเลเซีย 338,445 ล้านบาท ซึ่งใช้ทั้งกระแสเงินสดของบริษัทในกลุ่มซีพีและการกู้เงิน

นอกจากประเด็นการขอผ่อนจ่ายค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์แล้ว ยังมีประเด็นการรับมอบพื้นที่ก่อสร้างที่กลุ่มซีพีกำหนดท่าทีชัดว่าจะรับมอบเมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) พร้อม 100% แต่ขณะนี้พร้อมส่งมอบ 98% ยังเหลือ 2% ที่ต้องเร่งเคลียร์พื้นที่ โดยถ้ารับมอบพื้นที่ก็จะมีการออกหนังสือเริ่มทำงาน (Notice to proceed : NTP) เพื่อเริ่มต้นอายุสัญญาร่วมลงทุนไฮสปีดเทรน โดยการรับมอบพื้นที่ ที่ล่าช้าออกไปจะส่งผลดีต่อกลุ่มซีพีเพราะมีเวลาในการหาเงินทุนมากขึ้นและการเริ่มนับระยะเวลาสัญญาร่วมลงทุนช้าไป

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กลุ่มซีพีต้องยื่นกู้เงินจากธนาคารสัดส่วน 80% ของมูลค่าโครงการที่ 2.2 แสนล้านบาท หรือต้องกู้ราว 1.7 แสนล้านบาท

ขณะที่การเข้าซื้อ “เทสโก้ โลตัส” เป็นอีกโปรเจกต์ที่สร้างภาระทางการเงินให้กับกลุ่มซีพีมาก โดยหลังปิดดีล 338,445 ล้านบาท แล้วในปี 2564 กลุ่มซีพีปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจค้าปลีกครั้งใหญ่ทำการโอนกิจการทั้งหมดของ บริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (CPRH) ซึ่งเป็นผู้ถือ 99.99% ในบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) และ Lotuss Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. ให้บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)  มูลค่า 217,949 ล้านบาท รับแผนสยายปีกทั้งในไทยและภูมิภาคเอเชียตลาดเป้าหมายแห่งอนาคต

สำหรับ “เทสโก้ โลตัส” ทยอยปรับโฉมและรีแบรนด์สู่ “โลตัส” (Lotus’s) การโอนกิจการ“โลตัส”ไปอยู่ภายใต้การดูแลของ “แม็คโคร” ซึ่งดำเนินกิจการค้าส่งสมัยใหม่แบบ Cash&Carry ชำระเงินสดและบริการตัวเอง นับเป็นการลดความเสี่ยงของสถานะการเงินให้ “ซีพี ออลล์” ผู้บริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่ต้องแบกรับหนี้ก้อนโต ในฐานะผู้เข้าซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 กระทบผลประกอบการเซเว่นอีเลฟเว่นไม่น้อย เทียบ“แม็คโคร”ที่รายได้และกำไรยังคงเป็นบวก

ก่อนหน้านี้ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ประธานกรรมการ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้จะผลักดันแผนขยายกิจการ แม็คโคร และ โลตัส ในต่างประเทศให้คล่องตัวขึ้น เพื่อแข่งขันกับผู้เล่นระดับโลก

“แม็คโคร”นับเป็นหัวหอกเจาะกลุ่มผู้ประกอบการในรูปแบบ B2B ส่วน“โลตัส”รองรับผู้บริโภคทั่วไป หรือ B2C ผ่านโมเดลไฮเปอร์มาร์เก็ต“โลตัส”และ มินิ ซูเปอร์มาร์เก็ต ภายใต้ชื่อโลตัส โก เฟรช (Lotus's go fresh) มินิ ซูเปอร์มาร์เก็ต

ธุรกิจค้าปลีกเป็นโอกาสสำคัญของเครือซีพีและไทยบนเวทีโลก ซึ่งซีพีมุ่งขยายร้านค้าปลีกและร้านค้าส่งหลากหลายรูปแบบทั่วภูมิภาคจากปัจจุบันเครือซีพีมีธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจค้าส่งในจีน มาเลเซีย อินเดีย กัมพูชา เมียนมา โดยในไทย“เซเว่นอีเลฟเว่น”ครองเบอร์ 1 ตลาดคอนวีเนียนสโตร์ 13,000 สาขา

ดีลโลตัสและแม็คโครนับเป็นการเพิ่มขนาดความใหญ่ของธุรกิจค้าปลีกประเภทอุปโภคบริโภค หรือ โกรเซอรี สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันจากการจัดซื้อ “บิ๊กวอลุ่ม” ภายใต้บริษัทเดียวกัน เกิดความประหยัดจากขนาดธุรกิจทำให้ได้ต้นทุนต่ำ (Economies of Scale) หัวใจสำคัญของค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตและค้าส่งภายใต้ “กลยุทธ์ราคา” ยิ่งการแข่งขันในระดับภูมิภาคล้วนเผชิญหน้ากับยักษ์ค้าปลีกระดับโลกที่เปี่ยมด้วยพลังทุน! พร้อมทุ่มตลาดช่วงชิงลูกค้าทั้งสิ้น

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์