น้ำมันดิบรั่ว “มาบตาพุด” บทเรียนรอบใหม่พัฒนา EEC

น้ำมันดิบรั่ว “มาบตาพุด” บทเรียนรอบใหม่พัฒนา EEC

"อีอีซี" ถือเป็นพื้นที่ที่จัดตั้งมาพิเศษเพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประเทศ แต่อีกปัญหา "น้ำมันดิบรั่ว" ที่เกิดขึ้นบริเวณ “มาบตาพุด” ถือเป็นบทเรียนในการพัฒนาอีอีซี ด้วยเช่นกัน

จากกรณีที่ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC เกิดน้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2565 พบปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหล 39 ตัน เทียบเท่า 47,000 ลิตร และขจัดคราบน้ำมันจนหมดในวันที่ 30 ม.ค.2565

ทั้งนี้ SPRC ได้ออกมาขอโทษและพร้อมที่จะรับผิดต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชุมชน การประมง ธุรกิจท้องถิ่น และต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล พร้อมกับทำงานร่วมกับจังหวัดระยอง เพื่อจัดตั้งจุดรับเรื่องร้องทุกข์ ณ บริเวณชายหาด บ้านสบ๊าย สบาย รีสอร์ท ตำบลตะพง นอกเหนือไปจากสายด่วนเบอร์โทร 1567 เพื่อเตรียมให้การช่วยเหลืออย่างรวดเร็วทั้งในระยะสั้น และระยะยาวสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ น้ำมันดิบรั่วในทะเลระยองดังกล่าว สร้างความหวั่นวิตกต่อทุกภาคส่วนว่าจะสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจ คล้ายกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ที่รั่วไหลจากท่อส่งกลางทะเลอ่าวไทย ปริมาณ 50 ตัน ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร ก่อนเคลื่อนตัวเข้าพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม-หมู่เกาะเสม็ด โดยอ่าวพร้าว เสียหายมากที่สุด เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2556

โดยเกิดผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือ หาดทรายมีสีดำกลิ่นเหม็นน้ำมันตลอดแนวชายหาด, น้ำทะเลบริเวณอ่าวพร้าวเต็มไปด้วยคราบน้ำมัน ปิดอ่าวพร้าวเป็นการชั่วคราว

ทั้งนี้ ชาวประมงพื้นบ้านและผู้ประกอบการด้านธุรกิจท่องเที่ยว ในพื้นที่อ่าวระยองกว่า 400 ราย ยื่นฟ้องแพ่งต่อ PTTGC เรียกค่าเยียวยาจากความเสียหาย

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ตัดสินเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2563 สั่งให้บริษัทชดเชยชาวประมง 150,000 บาท จากเดิม 90,000 บาท และผู้ประกอบการท่องเที่ยว 120,000 บาท

จากสถิติกรมเจ้าท่าในรอบ 10 ปี พบการรั่วไหลของน้ำมันในปริมาณกว่า 150,000 ลิตร ส่วนมากพบการรั่วไหลบริเวณท่าเทียบเรือจากอุบัติเหตุระหว่างการขนถ่ายน้ำมัน และจากอุบัติเหตุต่างๆ อาทิ

วันที่ 24 เม.ย.2555 พบการรั่วไหลปริมาณ 300 ลิตร ของเรือสินบริเวณที่จอดเรืออู่ ASIMAR และ SEAFDEE จ.สมุทรปราการ

วันที่ 28 ต.ค.2555 ชนิดน้ำมันเตาปริมาณ 40 ลิตรบริเวณอู่เรือ LPN ในแม่น้ำเจ้าพระยาสาเหตุท่อสูบถ่ายน้ำมันบริเวณดาดฟ้าของเรือสินค้า ชำรุด

วันที่ 29 ม.ค.2556 พบคราบน้ำมันสีน้ำตาลลักษณะเป็นแผ่นและหยดน้ำมันขนาดเล็กปริมาณ 700ลิตรบริเวณหน้าท่าเรือศรีราชาฮาร์เบอร์เขตอำเภอศรีราชาจังหวัดชลบุรีสาเหตุไม่ทราบ

วันที่ 22 มี.ค.2556 พบน้ำมันเต่าปริมาณ 20 ลิตรบริเวณคลองท่าจีนอำเภอเมืองจังหวัดภูเก็ตสาเหตุเรือประมงดัดแปลงชื่อเปมิกาจมลงในคลองท่าจีนส่งผลให้น้ำมันเตาที่บรรทุกมาในเรือเกิดการรั่วไหล

วันที่ 27 ก.ค.2556 ชนิดน้ำมันดิบประมาณ 50 ตัน ของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) รั่วไหลจากท่อส่งกลางทะเลอ่าวไทย อยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร อ่าวพร้าวได้รับความเสียหายมากที่สุด

วันที่ 9 ม.ค.2561 พบน้ำมันเครื่อง ปริมาณ 30 ลิต บริเวณท่าเรือจุกเสม็ด จังหวัดชลบุรี สาเหตุเกิดจากการรั่วไหลจากเรือประมง “โชคชูชัย” จมเพราะโดนกับเรือสินค้าต่างประเทศ

วันที่ 20 เม.ย.2561 พบชนิดน้ำมันเตาปริมาณ 500 ลิตร บริเวณ ด้านหลังคลังสินค้าของ บริษัท กรุงเทพ โสภณจำกัด (มหาชน) เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร สาเหตุ รั่วไหลจากการสูบถ่ายน้ำมันใช้การในเรือจากถังน้ำมัน กลางไปยังถังน้ำมันซ้าย

วันที่ 29 มิถ.ค.2562 ภาพน้ำสีดำ ไม่ทราบปริมาณในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าเรือ 11บี ของบริษัท ทรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน) ตรวจสอบพบสาเหตุการลักลอบทิ้งกากตะกอนน้ำมันบริเวณท่อระบายน้ำรวมถนนสุขสวัสดิ์

วันที่ 21 พ.ย.2562 พบน้ำมันเตาชนิด F01 0.5% ปริมาณ 100,000 ลิตร ในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าเรือ สลิปเวย์ 2 คลังปิโตรเลียมบางจาก (ปตท.) สาเหตุเกิดจากการรั่วไหลจากเรือบรรทุกน้ำมันชื่อดรากอน 2 จม สัญชาติไทย

ล่าสุด วันที่ 25 ม.ค.2565 กรณี บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC รั่วไหล  29 ตัน บริเวณห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุด จังหวัดระยอง ประมาณ 20 กิโลเมตร

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากมองในภาพของผลกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ไม่น่ากระทบ เพราะต้องยอมรับว่าเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมใหญ่หลักที่มีการเติบโตและอยู่ที่พื้นที่อีอีซีหมด

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ของ PTTGC ปี 2556 ก็สามารถแก้ปัญหาได้ดี รัฐบาลไม่ได้นิ่งดูดาย รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ และภาคเอกชนก็ได้ร่วมมือกันช่วยเหลือ คิดว่าก็น่าจะไม่ได้ยืดยื้ออะไร เป็นเหตุการณ์ที่ต้องยอมรับว่าเป็นอุบัติเหตุและเป็นข้อเตือนใจให้ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน

โดยการลงทุนในลักษณะนี้ จะต้องระบบการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน เพื่อรับมืออุบัติภัยต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันมีระบบนี้ได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยมากขึ้น สามารถตรวจสอบป้องกันไว้ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์สามารถตรวจเช็คได้ ส่วนผลกระทบต่อชาวบ้าน ผู้ประกอบการก็จะต้องเยียวยา ดูแลช่วยเหลืออย่างเต็มที่เช่นกัน