13 ปี เขตมลพิษมาบตาพุด ข้อเสนอเร่งแก้ปัญหาเพื่อปลดล็อก

13 ปี เขตมลพิษมาบตาพุด ข้อเสนอเร่งแก้ปัญหาเพื่อปลดล็อก

 “บัณฑูร”เร่งปฏิรูปปัญหามลพิษ หวังปลดล็อกพื้นที่ “มาบตาพุด” คาดกลางปีนี้ เห็นพื้นที่ปลอดมลพิษ50% ปลดล็อคเขตควบคุมมลพิษก้าวสู่ต้นแบบ “อีอีซี” สีเขียว ย้ำขาดงบประมาณในการบริหารจัดการน้ำทิ้ง

มาบตาพุดถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษมาตั้งแต่ปี 2552 โดยครอบคลุมพื้นที่ตำบลมาบตาพุด ตำบลห้วยโป่ง ตำบลเนินพระ และตำบลทับมา อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ทั้งตำบล 

รวมทั้งพื้นที่ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง ทั้งตำบล และตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ทั้งตำบลรวมทั้งพื้นที่ทะเลภายในแนวเขต เป็นเขตควบคุมมลพิษ

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมมีอยู่มาก โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อมแม้จะมีแผนบริหารจัดการ ซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญ ประกอบด้วย ขยะ น้ำและอากาศ โดยสิ่งสำคัญที่จะสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ที่การมีส่วนร่วมและการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้เกิดระบบยุติธรรม

สำหรับองค์ประกอบด้านการมีส่วนร่วมปัจจุบันได้ยกระดับการมีส่วนร่วม ซึ่งหุ้นส่วนถือว่ามีความสำคัญในการพัฒนาการมีส่วนร่วมโดยเฉพาะในอีอีซี ดังนั้น การมุ่งสู่การมีส่วนร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้ระบุการมีส่วนร่วมไว้หลายมาตรา อาทิ มาตรา 6 และมาตรา 30

“ล่าสุดได้ลงพื้นที่ชุมชนฉะเชิงเทรา พบว่าครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมเกษตรกรด้านความยั่งยืน มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม เช่น ความมั่นคงทางอาหาร บนพื้นที่นา ภูเขา โดยการวางพื้นที่ที่นากับการเลี้ยงสัตว์และแหล่งน้ำจะคงอยู่ไว้ในการพัฒนาอีอีซีในสัดส่วนเท่าไหร่”

สำหรับการพัฒนาบังคับใช้กฎหมายเป็นปัจจัยสำคัญ ตัวอย่างปัญหาที่อยู่ในอีอีซี คือ ปัญหาลักลอบทิ้งขยะและของเสีย ปัญหาการปล่อยมลพิษทางอากาศ ดังนั้น การจะแก้ไขปัญหาจะสร้างความเชื่อมั่นต่อกลไกการบริหารของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ว่าจะจัดการกับปัญหาที่มีเดิมแล้วไม่ทำให้ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นอีกในการเดินของอีอีซีได้อย่างไร

13 ปี เขตมลพิษมาบตาพุด ข้อเสนอเร่งแก้ปัญหาเพื่อปลดล็อก ทั้งนี้ ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย โดยกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยมีมากกว่า 50 ฉบับ อาทิ กฎหมายด้านป่าไม้ ดิน น้ำ ทะเล อากาศ และจะมีกฎหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) และด้านชีวภาพเกิดขึ้น ดังนั้น อีอีซีต้องทำให้เป็นต้นแบบการบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายที่พิสูจน์ให้เห็นประสิทธิภาพธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อมที่ก้าวหน้ากว่าพื้นที่อื่น

ยกตัวอย่างรูปธรรมชัดเจน คือ เป้าหมายที่กำหนดในแผนปฏิรูปประเทศในอีอีซีด้านการยกเลิกเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งไทยไทยมี 18 เขตมาตรการควบคุมมลพิษ 13 จังหวัด ที่ประกาศมามากกว่า 20 ปี อาทิ พัทยา ภูเก็ต สงขลา กระบี่ ปทุมธานี สมุทรปราการ โดยเป็นพื้นที่ที่มีมลพิษประกาศควบคุมอันตรายและไม่ได้ยกเลิก

ทั้งนี้ การจัดทำแผนปฏิรูปประเทศได้กำหนดวิธีบริหารจัดการเขตควบคุมมลพิษไว้ เมื่อประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้วควรทำให้มลพิษอยู่ในระดับปกติและยกเลิกประกาศ ซึ่ง 18 เขตที่ประกาศไปไม่ยกเลิก 

ดังนั้นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เลือกมาบตาพุดมาพิจารณาตามแผนปฏิรูป 5 ปี (2561-2565) โดยมุ่งการบริหารจัดการเรื่องน้ำ ป่า และมลพิษมาบตาพุดเพื่อความชัดเจนก่อน เพราะหากขยายอีอีซีแล้ว การพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ก่อนต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้ดี หากทำเรื่องนี้ไม่สำเร็จอาจกระทบอีอีซี เพราะประชาชนในพื้นที่ยังห่วงกังวลปัญหามลพิษ เกิดข้อครหาว่าของเก่ายังไม่แก้ไขปัญหาแล้วเมื่อขยายใหม่อีกจะเกิดปัญหาได้

ดังนั้น ภายในปี 2565 ต้องเร่งแก้ปัญหามลพิษให้กลับสู่ภาวะปกติ ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมามูลพบว่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์ได้กลับมาสู่ระดับที่ดีต่ำกว่ามาตรฐานที่กระทรวงฯ กำหนดแล้ว ส่วนที่ยังมีปัญหาคือสารอินทรีละเหยง่าย (VOC) ที่มาจาก 2 เขตนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องเร่งแก้ปัญหาเพราะภายในเดือน ส.ค.2565 จะครบกำหนดการแก้ปัญหาตามแผนปฏิรูป 5 ปี

อีกปัญหาสำคัญ คือ น้ำทิ้ง ที่ติดงบประมาณสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวมที่ไม่ได้รับการอนุมัติ ดังนั้น โอกาสที่จะทำให้ปลดล็อกอาจได้เป็นบางจุดก่อน ตรงไหนที่ทำเสร็จก็ขอคลายล็อคก่อน โดยคาดว่าเมื่อครบกำหนดน่าจะมีการปลดล็อกในมาบตาพุดได้กว่า 50%

“เราอาศัยกลไกปฏิรูปมาเป็นตัวเร่งการบริหารจัดการ เมื่อประกาศไว้ก็ควรทำให้สำเร็จไม่ควรอยู่แบบนี้เป็น 10-20 ปี ดังนั้น แนวคิดของการปฏิรูปพื้นที่เขตควบคุมมลพิษมาบตาพุดประกาศจะครบ 13 ปีแล้ว ควรต้องขจัดและลดมลพิษให้หมด สู่เป้าหมายภารกิจสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นของอีอีซีให้ได้ว่าอีอีซีจะทำได้ดีกว่าเดิม และเดินหน้าสู่อุตสาหกรรม New s-curve”

สำหรับการกำหนดให้พื้นที่ใดเป็นเขตควบคุมมลพิษนั้น เพื่อให้ท้องถิ่นหรือเขตการปกครองในพื้นที่มีการจัดการควบคุมและแก้ไขปัญหามลพิษอย่างเป็นระบบ ดังนี้

1.กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ ทำการก่อสร้างติดตั้งหรือจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียหรือระบบกำจัดของเสีย

2.กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษทุกประเภท ส่งน้ำเสียหรือของเสียที่เกิดจากแหล่งกำเนิดมลพิษของตนไปทำการบำบัดหรือกำจัดโดยระบบบำบัดน้ำเสียรวมหรือระบบกำจัดของเสียรวมที่มีอยู่ภายในเขตควบคุมมลพิษหรือเขตท้องที่นั้น และมีหน้าที่ต้องเสียค่าบริการด้วย

3.ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ น้ำเสียหรือของเสียจากแหล่งกำเนิดของตนไปให้ผู้รับจ้างให้บริการทำการบำบัดหรือกำจัด

4.จัดให้มีวิธีการชั่วคราวสำหรับบำบัดน้ำเสียหรือกำจัดของเสียจนกว่าจะได้ก่อสร้าง ติดตั้งและเปิดดำเนินงานระบบบำบัดน้ำเสียรวมหรือระบบกำจัดของเสียรวมในเขตควบคุมมลพิษหรือเขตท้องที่นั้น