รถยนต์ไฟฟ้ายอดพุ่ง 6 ล้านคัน - มาตรการ ‘หนุน‘ รถยนต์ไฟฟ้า

ในส่วนของประเทศไทยปัจจุบันกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างรอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ รถจักรยานยนต์และรถกระบะ คาดว่าคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาในเร็วๆนี้

โจนาธาน ดาเวนพอร์ท ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “จากที่ประชุม COP26 เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว สมาพันธ์ Zero Emission Vehicle Transition Council มีข้อตกลงเห็นพ้องตรงกันว่า ภายในปี 2583 ผู้ผลิตรถยนต์จะเดินหน้าผลิตและจำหน่ายยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ จากที่ก่อนหน้านี้ได้กดดันให้ผู้ผลิตในตลาดรถยนต์ชั้นนำเตรียมพร้อมรับมือกับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ กับภาคการขนส่ง ทั้งนี้ยานยนต์ไฟฟ้า (หรือ EVs) นั้นเป็นเทคโนโลยีระบบส่งกำลังที่มีความสำคัญต่อการช่วยลดการปล่อย CO2 ในภาคการขนส่ง ภาวะขาดแคลนชิปยังส่งผลกระทบต่อเนื่องกับยอดการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในปีนี้ แม้สัดส่วนการจัดส่งรถยนต์พลังไฟฟ้าประเภทรถตู้ (Vans) และรถบรรทุก (Trucks) ยังมีขนาดเล็กในปัจจุบัน แต่การจัดส่งยานยนต์ในกลุ่มนี้จะเติบโตอย่างรวดเร็วเมื่อเจ้าของกิจการเล็งเห็นถึงประโยชน์ทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและด้านการเงิน เมื่อเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้า”
 
การ์ทเนอร์คาดว่ารถยนต์ (Cars) จะมีสัดส่วนจัดส่งสูงถึง 95% ของตลาดยานยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2565 ส่วนที่เหลือจะแบ่งเป็น รถโดยสาร (Buses) รถตู้ (Vans) และรถบรรทุกขนาดใหญ่ (Heavy Trucks)

 

 

ประเทศจีนและยุโรปตะวันตกมียอดจัดส่งยานยนต์พลังงานไฟฟ้าสูงสุดในปีนี้
ด้วยนโยบายของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีคำสั่งให้ภายในปี 2573 ผู้ผลิตรถยนต์ต้องผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในสัดส่วน 40% ของยอดจำหน่ายรถยนต์ทั้งหมด รวมถึงการจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าขึ้นใหม่ การ์ทเนอร์คาดว่าประเทศจีนจะกลายเป็นผู้นำอันดับ 1 ที่ครองยอดการจัดส่งรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยมีสัดส่วนราว 46% ของการจัดส่งรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดทั่วโลกในปีนี้ โดยมียอดจัดส่งสูงถึง 2.9 ล้านคัน ขณะที่ฝั่งยุโรปตะวันตกจะอยู่ในอันดับที่ 2 ด้วยยอดการจัดส่งที่ 1.9 ล้านคัน และตามมาด้วยอันดับสามคือผู้ผลิตจากอเมริกาเหนือ ที่คาดว่าจะมียอดจัดส่งอยู่ราว 855,300 คัน

 

“แผนของสหภาพยุโรป (EU) ที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้รถยนต์ให้ได้ที่ 55% และรถตู้ที่ 50% ภายในปี 2573 เป็นการกระตุ้นตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่สำคัญในยุโรป” ดาเวนพอร์ท กล่าวเพิ่มเติมว่า
 
จากการที่รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญ ออกกฎระเบียบและใช้มาตรการกระตุ้นต่าง ๆ เพื่อผลักดันยอดจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น นั่นทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์เพิ่มการลงทุนในบริษัทที่เป็นผู้วางโครงสร้างพื้นฐานจุดชาร์จไฟและเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในรถยนต์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า การ์ทเนอร์คาดว่า ในปีนี้จะมีจำนวนจุดชาร์จไฟฟ้าสาธารณะทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2.1 ล้านจุด จากเดิม 1.6 ล้านจุด เมื่อปี 2564

ปัจจัยท้าทายการใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังมีอยู่อีกมาก 
เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ผู้ผลิตจะต้องจัดการกับปัจจัยหลายประการ อาทิ การลดราคารถยนต์พลังงานไฟฟ้าและแบตเตอรี่ การรีไซเคิลแบตเตอรี่ การนำเสนอรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นต่าง ๆ ที่หลากหลายกว่าเดิม พร้อมยืดระยะการขับให้ได้ระยะไกลขึ้น รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องจุดชาร์จไฟฟ้า
 
ดาเวนพอร์ท กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข นั่นคือ จำนวนจุดชาร์จไฟฟ้าแบบเร็วที่บ้านและตามพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ที่ยังขาดแคลน โดยผู้ให้บริการสาธารณูปโภคจะต้องเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไฟฟ้าสมาร์ทกริดเพื่อรับมือกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และตอบสนองต่อเป้าหมายทางด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศที่ยังใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อผลิตไฟฟ้าจะต้องออกแบบระบบการผลิตไฟฟ้าใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว”

ในส่วนของประเทศไทยปัจจุบันกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างรอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ รถจักรยานยนต์และรถกระบะ คาดว่าคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาในเร็วๆนี้

เบื้องต้นคาดว่ามาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 
1.รถยนต์ แยกการให้สิทธิเป็นกลุ่มที่มีราคาขายปลีกไม่เกิน 2 ล้านบาท (รถที่ผลิตและประกอบในประเทศ) ให้สิทธิประโยชน์ลดอากรขาเข้าสูงสุด 40% ในปี 2565-2566 , ลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เป็น 2% ในปี 2565-2568 , เงินอุดหนุนในปี 2565-2568 คันละ 70,000 บาท สำหรับรถที่ใช้ขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง และอุดหนุน 150,000 บาท สำหรับรถใช้แบตเตอรี่ 30 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงขึ้นไป 
ทั้งนี้ มีเงื่อนไขในปี 2567 ต้องผลิตเพื่อชดเชยรถที่นำเข้าในปี 2565-2566 โดยผลิตรถรุ่นใดก็ได้ 

ส่วนรถยนต์ที่ราคาขายปลีก 2-7 ล้านบาท ได้สิทธิประโยชน์ลดอากรขาเข้าสูงสุด 20% (ปี 2565-2566) ลดภาษีสรรพสามิต จาก 8% เป็น 2% ในปี 2565-2568 โดยต้องเลือกผลิตรถยนต์จากรถรุ่นใดรุ่นหนึ่งที่ได้นำเข้ามาในช่วงปี 2565-2566 เท่านั้น

 

 

 

สำหรับเงื่อนไขของผู้ขอรับสิทธิต้องเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมภายในประเทศผลิตรถยนต์ชดเชยในปี 2567 เท่ากับจำนวนที่นำเข้า CBU ในปี 2565-2566 และหากจำเป็นขยายเวลาการผลิตชดเชยได้ถึงปี 2568

2.รถจักรยานยนต์ แบ่งเป็นราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท ได้สิทธิประโยชน์เงินอุดหนุนคันละ 18,000 บาท ทั้ง CKD และ CBU ในปี 2565-2568 โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นผู้ประกอบการในประเทศ ผลิตรถชดเชยในปี 2567 เท่ากับจำนวนที่นำเข้า CBU ในปี 2565-2566 หากจำเป็นขยายเวลาการผลิตชดเชยได้ถึงปี 2568 โดยต้องผลิตอัตราส่วนนำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คัน และต้องเลือกผลิตรถยนต์จากรถรุ่นใดรุ่นหนึ่งที่ได้นำเข้ามาในช่วงปี 2565-2566

3.รถกระบะ ราคาขายปลีกไม่เกิน 2 ล้านบาท จะได้สิทธิประโยชน์ลดภาษีสรรพสามิตเป็น 0% ในปี 2565-2568 , เงินอุดหนุนในปี 2565-2568 คันละ 150,000 บาท สำหรับรถยนต์กระบะ BEV แบตเตอรี่ขนาดตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป เฉพาะที่ผลิตในประเทศ โดยผู้ขอรับสิทธิต้องยื่นโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำให้กรมสรรพสามิตเพื่อพิจารณา และผู้ขอรับสิทธิต้องผลิตหรือใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตหรือประกอบในประเทศ โดยต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

สำหรับเงื่อนไขของผู้ขอรับสิทธิต้องทำสัญญากับกรมสรรพสามิต โดยต้องเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมในประเทศ และต้องยื่นโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำกับกรมสรรพสามิตพิจารณา โดยกรมสรรพสามิตจะอุดหนุนเงินและภาษีไปที่ผู้ประกอบการเท่านั้น

ผู้ประกอบการจะต้องวางเงินค้ำประกัน (Bank Guarantee) ประกอบการขอใช้สิทธิ์ และหากไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขต้องคืนเงินอุดหนุนเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย รวมทั้งถูกยึดเงินค้าประกันจากธนาคาร และไม่ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีสรรพสามิตและอากรขาเข้าตามมาตรการ ซึ่งทำให้ต้องเสียภาษีทั้ง 2 ส่วน พร้อมด้วยเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม นับแต่วันที่ความรับผิดในอันต้องเสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสรรพสามิต ศุลกากร และพิกัดอัตราศุลกากร