ความเสมอภาคทางการศึกษากับการพัฒนาEEC
ในปัจจุบันประเด็นด้านความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นเรื่องที่สังคมไทยให้ความสนใจอย่างมาก ความเสมอภาคทางการศึกษาไม่ใช่เพียงแค่การทำให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้เพียงเท่านั้น
แต่ยังหมายถึงการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพด้วยตามความต้องการและความเหมาะสมด้วย เนื่องจากประชาชนมีหลายกลุ่มหลายวัย การสร้างโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพให้ตอบสนองความต้องการของแต่ละบุคคลจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก
ความเสมอภาคทางการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการดำเนินงานร่วมกันของหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่ช่วยกันสร้างกิจกรรมและช่องทางการเรียนรู้ที่หลากหลายที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของคนกลุ่มต่าง ๆ ได้อย่างครอบคลุม การดำเนินงานนี้จำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องจึงจะเห็นผลอย่างชัดเจน
ใน อีอีซี มีเมืองแห่งหนึ่งที่ดำเนินการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้กับประชาชนได้จนได้รับการยอมรับจากยูเนสโก (UNESCO) นั่นคือ เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกของเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities – จีเอ็นแอลซี) ในปี 2020 การสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ของเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ถือเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ที่ดีในการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของประชาชนทุกเพศทุกวัย
ความน่าสนใจคือเมืองแห่งการเรียนรู้มักจะเกิดกับพื้นที่ที่มีความพร้อม เช่น เป็นเมืองใหญ่ เป็นเทศบาลนคร หรือเทศบาลเมือง ซึ่งอาจสร้างการเรียนรู้ให้กับคนในเขตพื้นที่ได้อันเนื่องมาจากความพร้อมในหลายด้าน แต่อาจยังไม่ครอบคลุมนอกพื้นที่เมืองหรือพื้นที่อื่น ๆ ทำให้ความเสมอภาคยังไม่เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง
การสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ระดับท้องถิ่น เช่น ในระดับอำเภอหรือตำบลหรือหมู่บ้าน โดยการสร้างให้มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายที่ตอบสนองความต้องการของคนทุกกลุ่ม จะทำให้โอกาสการเรียนรู้หรือโอกาสทางการศึกษาเข้าถึงคนได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ไม่กระจุกในพื้นที่ที่มีความเจริญแล้วเท่านั้น
นี่เป็นโอกาสของ อีอีซี เนื่องจาก อีอีซี มีการดำเนินงานสร้างศูนย์การเรียนรู้มาอย่างต่อเนื่อง และมีผลผลิตที่ชัดเจนออกมาเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่หลากหลายและตอบสนองความต้องการของคนหลายกลุ่ม เช่น ศูนย์เครือข่ายการพัฒนาบุคลากรตามอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซีจำนวน 11 ศูนย์ อาทิ ศูนย์เครือข่าย อุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ศูนย์เครือข่ายการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี มหาวิทยาลัยบูรพา
นอกจากนี้ โมเดลการพัฒนาการศึกษาของ อีอีซี ก็มีการสร้างโมเดลการจัดการศึกษาที่น่าสนใจ เช่น การเรียนแบบโรงเรียน-โรงงาน หรือ UNIVERTORY (UNIVERSITY+FACTORY) ทำให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงในการทำงาน และทำให้มั่นใจได้ว่าการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนำไปสู่การมีงานทำได้จริงในอนาคต
ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการสร้างการมีส่วนร่วมจากทั้งภาคนโยบาย ภาคสถาบันการศึกษา และภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ให้เกิดขึ้นใน อีอีซี ความร่วมมือเหล่านี้ทำให้เห็นว่าหาก อีอีซี จะสร้างแหล่งเรียนรู้และช่องทางการเรียนรู้ เช่น แหล่งเรียนรู้และฝึกอบรมตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้กระจายอย่างทั่วถึงมากขึ้นย่อมน่าจะเป็นไปได้ เพราะพื้นที่การเรียนรู้เหล่านี้กระจายตัวกันพอสมควรในพื้นที่ อีอีซี เหลือเพียงการนำมาจัดระบบและส่งเสริมด้วยกลไกความร่วมมือที่มีอยู่ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนในพื้นที่ทุกเพศทุกวัยได้เข้าถึงได้อย่างมีคุณภาพเท่านั้น แหล่งเรียนรู้เหล่านี้จะช่วยสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและความเข้มแข็งในการพัฒนากำลังคนของ อีอีซี ได้มากทีเดียว