‘ธปท.’จ่อ เก็บค่าธรรมเนียม ธุรกรรมเงินสด-เช็ค เร่งเข้าสู่ สังคมไร้เงินสด!

‘ธปท.’จ่อ เก็บค่าธรรมเนียม ธุรกรรมเงินสด-เช็ค เร่งเข้าสู่ สังคมไร้เงินสด!

ธปท.เปิดรับฟังความคิดเห็น เพื่อปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินสด และเช็ค เพื่อลดใช้เงินสด เร็วขึ้น2 เท่าใน 5 ปี และตั้งเป้าลดใช้เช็คให้ลดลงต่ำกว่า 50% จากยอดการใช้ปัจจุบัน หวังลดต้นทุนประชาชน ปลอดภัย รวดเร็วในการทำธุรกรรมมากขึ้น

     ปัจจุบัน สังคมไทย กำลังเข้าสู่ช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ไปสู่สังคมไร้เงินสด หรือ  less-cash society มากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจาก การเกิดวิกฤตจากโควิด-19 ที่เข้ามามีส่วนเร่ง ให้ประชาชน ปรับตัว มีความคุ้นชินกับการใช้ดิจิทัลมากขึ้น ในการทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น
     สะท้อนผ่านตัวเลขการทำธุรกรรมผ่านดิจิทัล ทั้งโมบายแบงกิ้ง และอินเตอร์เน็ตแบงกิ้งที่เติบโตก้าวกระโดด โดยการเติบโตบนดิจิทัลในช่วง 5ปีที่ผ่านมา  จำนวนบัญชีบนดิจิทัล ทั้งอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง และโมบายแบงกิ้ง เติบโตขึ้น 3 เท่า เป็น 121 ล้านบัญชี จาก 36 ล้านบัญชี 

       ขณะที่ ปริมาณการโอนเงินเติบโตขึ้น18 เท่า และจาก 5 ปีที่ผ่านมา ที่เห็นแบงก์แข่งขันเปิดสาขาแบงก์ แต่ปัจจุบันสาขาแบงก์ปิดไปแล้ว 1.4 พันแห่ง เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงโลกใหม่ที่เติบโต ในขณะที่การทำธุรกรรมผ่านโลกเก่าหดตัวลง  

      สิ่งที่สำคัญ จากการเร่งให้ประเทศไทย เข้าสู่สังคมไร้เงินสด คงหนี้ไม่พ้น การตอบโจทย์ในเรื่องของการทำธุรกรรม ที่ประชาชนล้วนได้ประโยชน์มากขึ้น ทั้งต้นทุนในการทำธุรกรรมต่ำลง ปลอดภัยมากขึ้น และรวดเร็วในการทำธุรกรรม ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของประเทศ ก็สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้แบบเรียลไทม์ ไม่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเล เพื่อเดินทางมาทำธุรกรรมผ่านสาขาแบงก์อีกต่อไป 
       ดังนั้น การสนับสนุนให้คนไทย เข้าสู่สังคมไร้เงินสดเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 
 

        ล่าสุด “ธนาคารแห่งประเทศไทย” หรือ ธปท. มีการจัดทำ แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (consultation paper) เพื่อกำหนดทิศทางทางการเงิน ให้สอดคล้องกับโลกดิจิทัล  โดยหนึ่งในนั้นที่น่าสนใจคือ

     การเปิดรับฟังความคิดเห็น ในการทบทวนโครงสร้างราคาบริการชำระเงิน โดยเฉพาะเงินสด และเช็ค เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซี่ง ธปท.จะมีการหารือและสรุปโครงสร้างค่าธรรมเนียมกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 และกำหนดแผนการปรับค่าธรรมเนียโดยเฉพาะ กมารใช้เงินสดและเช็คต่อไป
     ทั้งหมดนี้ เป็นการกำหนดนโยบายเพื่อลดการใช้เงินสด ด้วยอัตราเร่งเป็น 2 เท่าภายใน 3 ปี และลดการใช้เช็คกระดาษให้เหลือไม่ถึง 50% ของปริมาณการใช้ในปัจจุบัน ภายใน 5 ปี เพื่อเร่งให้ไทยเข้าสู่ Less cash society 
     นั่นหมายความว่า ในระยะข้างหน้า การเคลื่อนสังคมไปสู่สังคมไร้เงินสด ธปท.อาจมีการ ปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียม ในการทำธุรกรรมทางการเงิน ทั้งที่เกี่ยวกับเงินสด และธุรกรรมผ่านเช็ค  ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจเกิดขึ้นได้ในเร็วๆนี้ 
      เหมือนที่มีการพูดถึงในอดีต ว่าหากจะให้สังคมไทย เข้าสู่ สังคมไร้เงินสดได้เร็ว ต้องเร่งกระบวนการ การทำธุรกรรมของประชาชน ให้ลดใช้เงินสดให้น้อยลง  ผ่านการ “เก็บค่าธรรมเนียม” บนธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินสด ทั้งการฝากเงินที่เคาวน์เตอร์ธนาคาร การจ่ายทุกอย่างที่เกี่ยวกับเงินสด ผ่านสถาบันการเงิน เหล่านี้จำเป็นต้องเก็บค่าธรรมเนียม

    เพราะทุกธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวกับ “เงินสด”ล้วนสร้างต้นทุน ให้กับแบงก์และประชาชนจำนวนมา 
มีต้นทุนมหาศาลที่เกี่ยวกับการจัดการเงินสด ตั้งแต่ประชาชนนำเงินสดฝากเข้าสู่ธนาคาร เหล่านี้จะทำให้ธนาคารมีต้นทุนในการบริหารจัดการเงินสด ทั้งการเก็บรักษา การขนส่ง ต้นทุนการนำเงินสดเข้าสู่เอทีเอ็ม มีการพูดถึงต้นทุนที่ธนาคารต้องแบกรับ จากธุรกรรมเงินสด ต่อปีกว่า 10,000 ล้านบาท!!!
     ดังนั้น “ค่าธรรมเนียม” จะเป็นตัวกำหนด ตัวชี้วัด และตัวกระตุ้นสำคัญ ที่จะทำให้ ประชาชนเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม ในการลดใช้เงินสดให้น้อยลง 
    แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนจะนำไปสู่ การปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียม เงินสด และเช็ค ธปท.ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องก่อน ตั้งแต่วันนี้ ถึง สิ้นเดือนก.พ. เพื่อต้องการความคิดเห็น ว่าประชาชนคิดเห็นอย่างไรในการปรับค่าธรรมเนียมครั้งนี้ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยหรือไม่ ไม่ใช่ถูกบังคับ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเริ่มมีการปรับตัวรับกับโลกดิจิทัล
      ดังนั้นในแง่ของ “ประชาชน” หลีกเลี่ยงไม่ได้ กับทิศทางนี้ ไม่ช้าก็เร็ว การเก็บค่าธรรมเนียม บนการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินสด และ เช็ค  เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอน ดังนั้นประชาชน ต้องปรับตัว ปรับพฤติกรรม เพื่อสอดรับกับสังคมไร้เงินสดที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเต็มตัวในระยะข้างหน้านี้ให้ได้!!