‘เงินบาท’ วันนี้เปิด ’แข็งค่า’ ที่ 33.20 บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด ’แข็งค่า’ ที่ 33.20 บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้แนวโน้มเงินบาทยังผันผวนหลังตลาดการเงินกลับมาทยอยเปิดรับความเสี่ยง ลดความน่าสนใจเงินดอลลาร์ แต่ยังต้องระวังแรงกดดันระยะสั้น จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่ 33.10 - 33.30 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ (1 ก.พ.65)ที่ระดับ  33.20 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.29 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.10 - 33.30 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมองว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนไปตาม sentiments ของตลาดการเงิน โดยหากตลาดการเงินสามารถทยอยเปิดรับความเสี่ยงได้ (Risk-On) ก็จะลดความน่าสนใจของเงินดอลลาร์ลง และอาจช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาได้บ้าง 

อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม อาทิ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ที่อาจกลับมากดดันตลาดการเงินโดยรวมได้อีกครั้ง ทั้งนี้ในระยะสั้น 

เราคงมองว่า เงินบาทจะยังแกว่งตัว sideways และคงไม่สามารถแข็งค่าไปได้มากจนหลุดแนวรับเชิงจิตวิทยาแถว 32.80 บาทต่อดอลลาร์ได้ เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวดีขึ้นชัดเจน ซึ่งต้องรอให้สถานการณ์การระบาดโอมิครอนคลี่คลายลง จนรัฐบาลประกาศพร้อมเปิดประเทศให้มีการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาคึกคักมากขึ้นได้อีกครั้ง 

ทั้งนี้ แนวต้านของเงินบาท อาจอยู่ในโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราคาดว่าจะเห็นฝั่งผู้ส่งออกต่างทยอยขายเงินดอลลาร์มากขึ้น ส่วนแนวรับเงินบาทในช่วงนี้ จะอยู่ในช่วง 33.10 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าผู้นำเข้าจะรอซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าวมากขึ้น

ตลาดการเงินโดยรวมเริ่มกลับมาทยอยเปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง หนุนโดยแรงซื้อ Buy on Dip จากกลุ่มผู้เล่นบางส่วนที่เชื่อว่า การปรับฐานในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ราคาหุ้นมีความน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ยังคงขยายตัวได้ดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดการเงินยังได้แรงหนุนจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดที่ออกมายืนกรานว่า เฟดจะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดตามความเหมาะสมและไม่เหนือความคาดหมาย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง สะท้อนว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยราว 0.25% ในแต่ละครั้งเหมือนในอดีต ซึ่งจะช่วยลดความกังวลของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มคาดว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 0.50% ในการประชุมเดือนมีนาคมนี้  

ทั้งนี้ แรงซื้อ Buy on Dip สินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม Tech ได้หนุนให้ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พลิกกลับมาพุ่งขึ้นกว่า +3.41% ส่วนดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น +1.89% ส่วนดัชนี Dowjones ก็ปรับตัวขึ้นราว +1.17% 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นต่อราว +0.91% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ ยุโรป อาทิ ASML +5.0%, Infineon Tech. +3.8%, Adyen +3.6% อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นนี้ นักลงทุนควรติดตามปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่อาจบานปลายสู่สงคราม ซึ่งอาจกดดันให้ตลาดหุ้นยุโรปผันผวนต่อได้ อย่างไรก็ดี เรามองว่า หากตลาดหุ้นยุโรปมีการปรับฐานลงมาต่อ ก็จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนทยอยเข้าสะสมการลงทุนในยุโรปเพื่อรอลุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจหลังการระบาดโอมิครอนมีสัญญาณว่าจะเริ่มสงบลงได้

อนึ่ง เรามองว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกอาจเริ่มกลับมาเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องได้ หากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเริ่มมีการประกาศออกมามากขึ้น อาทิ เกินกว่า 70% และโดยรวมผลประกอบการต้องออกมาเติบโตต่อเนื่องและดีกว่าคาด ถึงจะช่วยพยุง sentiment ของตลาดให้ทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงได้

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะตลาดทยอยเปิดรับความเสี่ยงได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ระยะยาว อาทิ บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย สู่ระดับ 1.78% อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น ตลาดยังมีโอกาสกลับมาปิดรับความเสี่ยงได้จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่คอยกดดันไม่ให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวสามารถปรับตัวขึ้นไปมากได้ จนกว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะคลี่คลายลง 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก กดดันโดยแนวโน้มการทยอยเปิดรับความเสี่ยงของตลาดที่ทำให้ความต้องการถือเงินดอลลาร์เพื่อเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยลดลง ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงใกล้ระดับ 96.54 จุด นอกจากนี้ แนวโน้มเงินดอลลาร์ที่กลับมาอ่อนค่าลง ได้หนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์กลับขึ้นมาใกล้ระดับ 1,796 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือใกล้แนวรับสำคัญในโซน 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง ซึ่งเราคาดว่าอาจเริ่มเห็นผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำบ้าง 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะจับตาการประชุมของธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) โดยตลาดประเมินว่า แนวโน้มเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น จะหนุนให้ RBA เริ่มส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อาทิ ลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ ในการประชุม RBA ที่จะถึงนี้ ตลาดมองว่า RBA อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.10% เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจในช่วงที่มีการระบาดของโอมิครอน อย่างไรก็ดี มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า RBA จะส่งสัญญาณใช้ทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ได้หนุนให้ เงินออสเตรเลียดอลลาร์ (AUD) แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.706 ดอลลาร์ ต่อ AUD 

นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด ซึ่งเราคาดว่า รายงานผลประกอบการจะมีผลต่อตลาดการเงินมากขึ้น โดยหากผลประกอบการสามารถขยายตัวดีขึ้นกว่าคาด ก็อาจพอช่วยพยุง sentiment ของตลาดได้บ้าง แต่โดยรวมตลาดอาจยังคงผันผวนเนื่องจากยังคงมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์