"กลุ่ม ปตท." กับ สายด่วนจิตอาสา "โครงการลมหายใจเดียวกัน"

"กลุ่ม ปตท." กับ สายด่วนจิตอาสา "โครงการลมหายใจเดียวกัน"

แม้ว่าจะล่วงเลยเข้าสู่ปีพุทธศักราชใหม่ ที่มาพร้อมการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ "โครงการลมหายใจเดียวกัน" จาก กลุ่ม ปตท. ยังคงทำหน้าที่ส่งความช่วยเหลือและดูแลประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกชีวิตสามารถผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ไปได้อย่างปลอดภัยที่สุด

กลุ่ม ปตท. ได้จับมือกับ โรงพยาบาลปิยะเวท ดำเนิน โครงการลมหายใจเดียวกัน มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 มาจนถึงปัจจุบัน ส่งต่อความช่วยเหลือทางการแพทย์ ทั้งในรูปแบบหน่วยคัดกรอง และโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) พร้อมด้วยสายด่วนจิตอาสา ที่คอยให้บริการรับสายเรียกเข้าจากผู้ที่ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเองและผลเป็นบวก เพื่อให้คำแนะนำ และส่งรถพยาบาลให้ความช่วยเหลือถึงบ้าน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการสะท้อนมุมมองของผู้ที่รับบทบาทสายด่วนจิตอาสา ที่เสมือนเป็นด่านหน้าที่คอยรับเรื่องและหาทางประสานเพื่อส่งความช่วยเหลือ วันนี้ มีนัดพูดคุยกับ มาริษา โกศัยเสวี และรุจิรา ทนงกิจ พนักงานจิตอาสากลุ่ม ปตท. ที่ได้ร่วมทำหน้าที่สายด่วนในโครงการลมหายใจเดียวกัน

\"กลุ่ม ปตท.\" กับ สายด่วนจิตอาสา \"โครงการลมหายใจเดียวกัน\"

มาริษา โกศัยเสวี ให้เหตุผลในการเข้ามารับงานนี้ว่า เห็นข่าวโควิด-19 ทุกวัน ช่วงที่สถานการณ์รุนแรง การหาเตียงรักษาเป็นเรื่องยากลำบาก ผู้ป่วยบางคนต้องถูกทิ้งไว้ที่บ้าน เลยคิดว่าถ้ามาช่วยงานส่วนนี้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม ส่วน รุจิรา ทนงกิจ แม้ในตอนแรกจะยังลังเลในการเข้ามารับงานนี้ เพราะกลัวความเครียดที่ตามมา แต่พอเธอได้พูดคุยกับ นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท โรงพยาบาลปิยะเวท ที่มาให้คำแนะนำก่อนการทำหน้าที่สายด่วน เธอก็ได้เปลี่ยนมุมมองใหม่ แม้สถานการณ์จริง คนที่โทรเข้ามาอาจมีความร้อนใจหรือความกังวลใดๆ แต่คนที่รับหน้าที่สายด่วนมีส่วนช่วยลดอาการตื่นตระหนกเหล่านั้นลงได้

ความรับผิดชอบของทั้งคู่ รวมถึงเพื่อนๆ จิตอาสาคนอื่นๆ คือ การรับโทรศัพท์สายด่วน 1745 ที่ทาง Call Center โอนสายมาพร้อมข้อมูลคร่าวๆ ของแต่ละเคส หลังจากนั้นจะเป็นหน้าที่พวกเธอในการตอบคำถาม และให้คำแนะนำและความช่วยเหลือต่างๆ หากเป็นผู้ป่วย ก็ต้องซักถามข้อมูลและอาการเบื้องต้น ซึ่งจะช่วยคัดกรองและแยกกลุ่มผู้ป่วยได้ในระดับหนึ่ง โดยให้ผู้ป่วยส่งข้อมูล ผลตรวจ ATK บัตรประชาชน เบอร์ติดต่อกลับ มายัง Line Official โครงการลมหายใจเดียวกัน โดยมีพวกเธอทำหน้าที่แอดมิน เพื่อรับข้อมูลเหล่านี้ส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลปิยะเวทเพื่อประสานงานต่อไป แม้ในชีวิตประจำวัน ยังต้องรับผิดชอบงานในหน้าที่อยู่ก็ตาม แต่ทั้งคู่ต่างก็สมัครใจที่จะสละเวลาเพื่อทำงานจิตอาสาควบคู่กันไป ในแต่ละวัน พวกเธอจะแบ่งเวลาทำงาน มารับสาย โดยแต่ละสายที่โทรเข้ามาจะใช้เวลาประมาณไม่เกิน 15 นาที ซึ่งเป็นเวลาสั้นๆ ที่พวกเธอทั้งคู่สามารถจัดสรรเวลาระหว่างวันได้

\"กลุ่ม ปตท.\" กับ สายด่วนจิตอาสา \"โครงการลมหายใจเดียวกัน\"

ช่วงเดือนตุลาคมที่เริ่มรับเคสแรกๆ นั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มเบาลง เคสส่วนใหญ่จึงเป็นการสอบถามเรื่องการตรวจ ATK รวมถึงบริการอื่นๆ ของโครงการมากกว่าเคสผู้ป่วย จนเมื่อมีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน เธอทั้งคู่บอกกับเราว่า มีสายเข้ามาจำนวนมาก โดยเฉพาะหลังช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา มีสายเข้ามาถี่ขึ้นและจำนวนมากขึ้น วันนึงแต่ละคนต้องรับสายมากกว่า 10 สายเลยทีเดียว ซึ่งในจำนวนหลายร้อยเคสที่โทรเข้ามา มีหลายเคสที่คุณมาริษาจำได้แม่น เช่น เคสของคุณแม่ที่มีลูกเล็กสามคน ทุกคนมีผลตรวจเป็นบวก แต่เหลือคนสุดท้องที่ยังเล็กมาก คุณแม่ต้องพยายามตรวจเพื่อให้ได้เข้ารับการรับรักษาทั้งหมด

 

รุจิรา เธอได้รับสายของคุณตาคุณยาย โทรเข้ามาแจ้งว่าผลตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีดแล้ว แต่ไม่สามารถส่งเข้าสู่การรับรักษาผ่าน Line Official ได้ เพราะโทรศัพท์ที่ทั้งคู่ใช้ไม่ใช่สมาร์ทโฟน เธอจึงแนะนำให้ทั้งสองท่านเก็บเสื้อผ้าและของใช้ และวอล์กอินเพื่อขอรักษาตัวที่อาคาร Enter ในโครงการลมหายใจเดียวกันแทน

การที่ต้องเผชิญกับความวิตกกังวลของแต่ละสายที่โทรเข้ามา ทำให้เธอได้เรียนรู้และปรับตัวเพื่อทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

\"กลุ่ม ปตท.\" กับ สายด่วนจิตอาสา \"โครงการลมหายใจเดียวกัน\"

มาริษา ได้บอกกับเราว่า การทำงานสายด่วนจิตอาสาสอนให้เธอรู้จักรับมือกับปัญหา บางคนโทรมาฟูมฟายบ้าง เล่าไปเรื่อยๆ บ้าง ต้องพยายามดึงเข้าประเด็น เพื่อปิดเคสให้ได้ แม้แต่การพูดคุยโทรศัพท์ เธอเองก็พยายามปรับโทนเสียงในการพูดคุย เพื่อสื่อสารได้เข้าใจง่ายมากขึ้น ในขณะที่รุจิราบอกว่า การจัดการอารมณ์ของตนเอง เป็นความท้าทายสำหรับเธอในงานนี้ เพราะเข้าใจว่าผู้ที่โทรเข้ามาอาจมีความกังวล และต้องการความช่วยเหลือ ทุกครั้งที่เธอรับสาย จึงพยายามบอกแก่ทุกคน ให้ใจเย็นๆ ตั้งสติ เพื่อให้การพูดคุยหรือสอบถามนั้น ได้ข้อมูลสำคัญครบถ้วนมากที่สุด

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยังคงอยู่ แต่สิ่งที่ทั้งคู่ต่างเห็นตรงกันว่า เราทุกคนสามารถข้ามผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ด้วยความร่วมมือร่วมใจ ในการทำตามข้อปฏิบัติต่างๆ ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่าง เพื่อป้องกันตนเองจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กว่า 3 เดือนที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ทั้งมาริษา และรุจิรา รวมถึงเพื่อนๆ จิตอาสาคนอื่นๆ ยังคงทำหน้าที่สายด่วนจิตอาสา ควบคู่ไปกับงานหลักของเธอที่ ปตท. เพราะพวกเธอเชื่อว่า โครงการลมหายใจเดียวกัน จะเป็นหนึ่งกำลังสำคัญที่จะช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ให้สู่กระบวนการรักษาโรคโควิด-19 ที่ทันท่วงที โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อต่อลมหายใจของคนไทยและประเทศให้กลับมาเข้มแข็งได้อีกครั้ง

ติดต่อสายด่วนจิตอาสา ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1745 และ Line Official Account: ลมหายใจเดียวกันATK  โดยสามารถค้นหาด้วยการพิมพ์ @ptt.covid-atk ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง