"คปภ."ถก28ม.ค. "อาคเนย์ฯ”ยื่นเลิกกิจการ-กองทุนฯ" อุ้มลูกค้า10ล้านราย

"คปภ."ถก28ม.ค. "อาคเนย์ฯ”ยื่นเลิกกิจการ-กองทุนฯ"  อุ้มลูกค้า10ล้านราย

"บอร์ดคปภ." ถกด่วนนัดถก 28 ม.ค.65 พิจารณาแผนเลิกกิจการ“อาคเนย์ประกันภัย” ขณะที่เครือไทยยื่นข้อเสนอให้"กองทุนประกันวินาศภัย"ดูแลผูู้เอาประกันกว่า 10 ล้านราย วงใน เผยกฎหมาย ตีกรอบกองทุนประกันฯ เข้าดูแลเฉพาะกรณีถูกเพิกถอนใบอนุญาตเท่านั้น 

นายโชติพัฒน์ พีชานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เครือไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TGH แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 25 ม.ค.65 มีมติเห็นชอบแผนการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัทอาคเนย์ประกันภัย ซึ่งเป็นการใช้สิทธิขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยสมัครใจ และส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียนตามมาตรา 57และ 57/1 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535

ทั้งนี้เนื่องจากทางเลือกอื่นๆ เช่น การเพิ่มทุนหรือขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อใช้ในกิจการของอาคเนย์ประกันภัย อาจจะไม่สามารถทำได้ รวมถึงผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ได้ให้การสนับสนุนด้านการเงินไปแล้วเกือบ 10,000 ล้านบาท เพื่อช่วยพยุงธุรกิจประกันวินาศภัยของกลุ่มบริษัทฯ 

คณะกรรมการได้พิจารณาผลกระทบในกรณีดำเนินกิจการของอาคเนย์ประกันภัยต่อไป ย่อมจะนำไปสู่การมีฐานะหรือการดำเนินงานที่ขาดความเหมาะสมจะประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและถูกเพิกถอนใบอนุญาต เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจประกันภัยโดยสมัครใจแล้วเห็นว่ามีข้อพิจารณาที่สำคัญหลายประการที่แสดงให้เห็นว่าการขออนุญาตเลิกประกอบธุรกิจประกันภัยเป็นทางเลือกที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ให้กองทุนผระกันดูแล10ล้านราย

นอกจากนี้คณะกรรมการขอให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) พิจารณาให้กองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการในเรื่องการดำเนินการคืนเบี้ยประกันให้กับผู้เอาประกันภัยทุกรายตามกรมธรรม์ประกันภัย ที่อาคเนย์ประกันภัย ยังมีภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยต่อผู้เอาประกันภัยนั้นๆ ประกอบด้วย 1.ผู้ถือกรมธรรม์โควิด-19 จำนวน 1,851,921 ราย และ 2.ผู้ถือกรมธรรม์ประเภทอื่นๆอีกกว่า 8,629,036 ราย หรือรวมกันประมาณ 10,480,957 ราย

รวมทั้งให้กองทุนฯจัดหาผู้รับประกันภัยรายใหม่ให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามหลักเกณฑ์และแนวทางของกองทุนประกันวินาศภัย โดยอาคเนย์ประกันภัยเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านต่างๆ ในการดำเนินการของกองทุนประกันวินาศภัย โดยผู้ถือกรมธรรม์ทั้งหมดจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้ถือกรมธรรม์จะได้รับการคืนเบี้ยประกันตามสัดส่วน หรือได้รับการคุ้มครองต่อเนื่อง หากย้ายกรมธรรม์ไปยังบริษัทประกันภัยอื่น

ยันคู่ค้าได้ชำระคืน

ส่วนคู่ค้า อาทิ อู่ซ่อมรถ, โรงพยาบาล, ตัวแทน ของอาคเนย์ประกันภัยกว่า 9,000 ราย จะได้รับเงินชำระอย่างครบถ้วน หากอาคเนย์ประกันภัยยังมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน ซึ่งปัจจุบันอาคเนย์ประกันภัยยังสามารถจ่ายเงินคืนผู้เอาประกันภัยได้ครบถ้วนทุกราย และยังมีเงินเหลือพอที่จะชำระหนี้ให้คู่ค้าทั้งหมด รวมถึงพนักงานลูกจ้าง 1,396 คน แต่ความสามารถในการชำระหนี้ของอาคเนย์ประกันภัยจะลดลงหากการตัดสินใจดำเนินการในเรื่องนี้ล่าช้าออกไป

ขณะนี้สถานะทางการเงินของอาคเนย์ประกันภัย มีสินทรัพย์สุทธิกว่า 1,800 ล้านบาทและเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย อยู่ที่ 170% สูงกว่าเกณฑ์ที่ คปภ.กำหนดไว้ที่ 120%

คปภ.ถกด่วน 28 ม.ค.

นายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการ คปภ.กล่าวว่า ขณะนี้ คปภ.ได้รับคำขอเลิกกิจการและการส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจจาก อาคเนย์ประกันภัย มาแล้ว โดยที่ประชุมคณะกรรมการอาคเนย์ประกันภัยวานนี้(26 ม.ค.) ยืนตามมติบอร์ดเครือไทย โฮลดิ้ง 

ขั้นตอนหลังจากนี้ จะเป็นอำนาจของคณะกรรมการคปภ. ในการพิจารณาว่าจะรับคืนใบอนุญาตหรือไม่ โดยมีประเด็นการพิจารณาสำคัญ คือการพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกัน และผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 57 เป็นสำคัญ ทั้งนี้คณะกรรมการคปภ. ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน จะมีการนัดประชุมพิจารณาคำขอการคืนใบอนุญาตในวันที่ 28 ม.ค.นี้ 

อย่างไรก็ตามในวันนี้(27 ม.ค.) คณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมาย คปภ. จะพิจารณาคำขอจากอาคเนย์ประกันภัยก่อน เสนอบอร์ดคปภ. ชุดใหญ่ โดยจะพิจารณาแผนการคืนใบอนุญาตว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นการดูแลผลประโยชน์ของผู้เอาประกัน และผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงดูว่าหากผู้เอาประกันไม่เห็นด้วย ที่จะรับคืนเบี้ยประกันคืน ทางบริษัทจะมีแผนดำเนินการอย่างไร              

“ตามอำนาจหากบอร์ดคปภ.ไม่เห็นชอบแผน จะมีสิทธิไม่รับการขอเบิกเลิกกิจการ ซึ่งจะทำให้การบอกเลิกกิจการนั้นยังไม่มีผลโดยสมบูรณ์ และจะต้องคุ้มครองสิทธิผู้เอาประกันอยู่จนกว่าจะได้รับอนุมัติ”

กฎหมายตีกรอบเฉพาะถูกเพิกถอน

แหล่งข่าวในธุรกิจประกันภัย กล่าวว่า กรณีที่ให้“กองทุนประกันวินาศภัย” เข้ามาดำเนินการนั้น ตามกฎหมายการจัดตั้งกองทุนประกันวินาศภัย มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ

ดังนั้นตามข้อเสนอที่อาคเนย์ประกันภัยยื่นมานั้น ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งยังต้องให้บอร์ดคปภ.พิจารณาว่าสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งจริงๆแล้ว กองทุนประกันวินาศภัย ไม่สามารถเข้ามาดูแลในกรณีนี้ได้ บริษัทก็จะต้องมีแนวทางที่บริษัทจะต้องปฏิบัติอย่างไรต่อไป เช่น การเจรจากับผู้เอาประกันภัย หรือเจรจากับพันธมิตรบริษัทประกันภัยรายอื่นๆ เพื่อมารับโอนลูกค้าที่ถือกรมธรรม์ทุประเภท เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าบอร์ดคปภ.จะกำหนดเงื่อนไขดูแลผลประโยชน์ผู้เอาประกันภัยที่ถือกรมธรรม์ทุกคนแน่นอน