รัฐสั่งห้ามชำระ 'คริปโทฯ' วงกว้าง หวั่นราคาผันผวน-เครื่องมือฟอกเงิน

รัฐสั่งห้ามชำระ 'คริปโทฯ' วงกว้าง หวั่นราคาผันผวน-เครื่องมือฟอกเงิน

“ธปท.-ก.ล.ต.-คลัง” ร่างเกณฑ์ห้ามใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางชำระสินค้า-บริการ เหตุราคาผันผวน-เสี่ยงถูกแฮกข้อมูล-ตกเป็นเครื่องมือฟอกเงิน เน้นกำกับผู้ประกอบการที่ให้บริการ ห้ามสนับสนุน-ส่งเสริมให้ร้านค้ารับชำระเงิน พร้อมเฮียริ่งผู้ที่เกี่ยวข้องถึง 8 ก.พ.65

นางสาว​สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง ได้หารือกันเกี่ยวกับการกำกับความเสี่ยงในการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล ในการเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment:MOP) จากปัจจุบันที่มีการใช้งานเป็นวงกว้างมากขึ้น เช่น การใช้ชำระราคาแทนเงินบาท

อย่างไรก็ดีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมาชำระราคาเป็นวงกว้างอาจส่งผลกระทบได้หลายได้ เช่น ความเสี่ยงจากมูลค่าสินทรัพย์ที่มีความผันผวน ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้บริโภคต้องใช้สินทรัพย์ปริมาณที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาตามการขึ้นลงของราคา

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงในแง่ของเทคโนโลยีที่ให้บริษัท ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานความปลอดภัย จึงเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ และเสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงมีความเสี่ยงในการถูกนำไปใช้เพื่อการทุจริต ภายหลังผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลบางรายไม่ได้กำหนดให้ลูกค้าต้องยืนยันตัวตน

 

ร่างเกณฑ์ห้ามรับชำระคริปโทฯวงกว้าง

ในการนี้ ทั้ง 3 หน่วยงานจึงได้พิจารณาอำนาจทางกฎหมายที่สามารถใช้ในการควบคุมดูแลผู้ที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ ร้านค้า ผู้บริโภค และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยร่างหลักเกณฑ์ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้บริการที่เกี่ยวกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งผู้ประกอบการฯ ต้องไม่ดำเนินการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางฯ ดังนี้

1.ไม่โฆษณาเชิญชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้าเพื่อให้ร้านค้าสามารถรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้

2. ไม่จัดทำระบบ หรือเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกใดๆ แก่ร้านค้า ในการรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล

3.ไม่ให้บริการเปิดกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) แก่ร้านค้า เพื่อรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล

4.ในกรณีที่ผู้ซื้อขายทำการขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับเป็นเงินบาท ผู้ประกอบการต้องโอนเงินบาทเข้าบัญชีผู้ซื้อขายเท่านั้น

5.ไม่ให้บริการที่มีลักษณะเป็นการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลหรือเงิน จากบัญชีของผู้ซื้อขาย ไปยังบัญชีของรายอื่นหรือบุคคลอื่นใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้ำาหรือบริการ

6.ไม่ดำเนินการในลักษณะอื่นใดนอกเหนือจากข้อ 1-5 ที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางฯ

กรณีพบว่าผู้ซื้อขายนำบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในการรับชำระค่าสินค้าและบริการ ผู้ประกอบการฯต้องแจ้งเตือน หรือพิจารณาดำเนินการกับผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้บริการ เช่น ยกเลิกการให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือระงับบัญชี เป็นต้น

ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับหน่วยงานกำกับในต่างประเทศ แม้จะมีแนวทางกำกับดูแลที่เข้มงวดแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยปัจจุบันหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานร่วมกันในต่างประเทศมีการหารือถึงแนวทางกำกับดูแลในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้

 

เล็งอนุญาตรายตัว-สเตเบิลคอยน์

อย่างไรก็ตามอีกแง่หนึ่ง ธปท.คำนึงถึงประโยชน์ของสินทรัพย์ดิจิทัล ในแง่ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความรวดเร็ว ลดขึ้นตอน และลดต้นทุน ในการให้บริการ รวมถึงประโยชน์ในการลงทุน โดยในอนาคตข้างหน้าจะมีการพิจารณาเกี่ยวกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่มีประโยชน์และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบมาใช้บริการต่อไป

เช่น สินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถคงมูลค่า (Stablecoin) หรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีสินทรัพย์ที่มีมูลค่าหนุนหลัง เช่น สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีเงินบาทสำรองเอาไว้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวมีมูลค่าจริง โดยเป็นแนวทางที่หลายประเทศพิจารณา เพราะช่วยให้ความผันผวนของราคาสินทรัพย์ดิจิทัลน้อยลง รวมถึงการนำไปใช้จะคล้ายคลึงกับสินทรัพย์อื่นๆ มากขึ้น เช่น เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ที่รับเงินจากลูกค้าและสำรองมูลค่าเอาไว้

ในการนี้ ธปท.อยู่ระหว่างจัดทำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ Stablecoin เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า Stablecoin แบบใดจะสามารถนำมาชำระค่าสินค้าและบริการได้ อย่างไรก็ตามภายหลังประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้วผู้ประกอบการจะต้องมาขออนุญาตเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าต่อไป

 

ก.ล.ต.เปิดเฮียริ่งผู้เกี่ยวข้อง

นางจารุพรรณ อินทรรุ่ง ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า ร่างหลักเกณฑ์ห้ามมิให้ผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางนั้นฯ ปัจจุบันได้รับมติเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.แล้ว โดยจะเปิดรับฟังความเห็น (เฮียริ่ง) จากผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ 25 ม.ค. - 8 ก.พ.2565

หากไม่มีข้อคิดเห็นที่กระทบหลักการ ก.ล.ต.จะดำเนินการประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าวโดยเร็วที่สุด ซึ่งผู้ประกอบการ ได้แก่ ศูนย์ซื้อขาย นายหน้า ผู้ค้า ที่ปรึกษา และผู้จัดการเงินทุน จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ภายใน 15 วัน นับจากวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ

อย่างไรก็ดีผู้ลงทุนยังสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการลงทุนได้ตามปกติ เช่นเดียวกับผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต.ในการให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยน ส่งผลให้การลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ถูกกระทบ

 

ไฟเขียวร้านค้า-ผู้ซื้อใช้งานวงแคบ

เมื่อสอบถามถึงการกำกับดูแลในกรณีที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงชำระราคาด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล นางจารุพรรณ กล่าวว่า ในกรณีที่ร้านค้าและผู้บริโภคมีการตกลงกันเป็นเรื่องที่ทำได้ และไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. แต่มองเป็นลักษณะวงแคบ แต่หากมีผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้องจะทำให้เกิดเป็นวงกว้างขึ้นมา

สำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หากไม่ดำเนินการตามประกาศจะมีความผิดตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 โดยมีโทษปรับวันละ 1 หมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ได้แก้ไข และมีโทษปรับอีกครั้ง 3 แสนบาท นอกจากนี้ ก.ล.ต.จะพิจารณาการกำกับดูแลของผู้บริหารธุรกิจด้วย หากไม่ได้มีการกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์จะมีความผิดเช่นกัน

ส่วนผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจากต่างประเทศที่เข้ามาให้บริการคนไทย หากบริการเข้าข่ายตามที่กฎหมายระบุไว้ จะเป็นการให้บริการแบบที่ไม่ได้รับใบอนุญาต กล่าวคือเป็นการให้บริการธุรกิจเถื่อน ซึ่งที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้ดำเนินการทางกฎหมายไปแล้ว 1 กรณี