การรถไฟฯ จ่อเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์บางซื่อ ก.พ.นี้

การรถไฟฯ จ่อเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์บางซื่อ ก.พ.นี้

ร.ฟ.ท. เตรียมเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์-ป้ายโฆษณา สถานีกลางบางซื่อ และ 12 สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงรวม 4 สัญญา 5.5 หมื่นตารางเมตร ก.พ.นี้ มอบสัมปทานสูงสุด 20 ปี คาดดึงเม็ดเงินเข้าองค์กร 7.9 พันล้านบาท

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. ได้อนุมัติหลักการให้ดำเนินการประกวดราคาโครงการจัดหาเอกชนเพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ และป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีกลางบางซื่อ และสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง 12 สถานี รวมพื้นที่ประมาณ 5.5 หมื่นตารางเมตร (ตร.ม.) ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดประมูลได้ภายในเดือน ก.พ.นี้

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างเก็บรายละเอียดการจัดทำร่างเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) ให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ โดยภายหลังเปิดประกวดราคาคาดว่าจะใช้เวลาราว 5 เดือนในขั้นตอนพิจารณาข้อเสนอและคัดเลือกเอกชน จึงคาดว่าจะได้ตัวผู้ชนะการประมูลในเดือน ส.ค.2565 พร้อมผลักดันให้เอกชนเข้ามาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ทันทีภายในปีนี้ เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับรายละเอียดสัญญาการประมูล แบ่งออกเป็น 4 สัญญา ประกอบด้วย 1.การบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีกลางบางซื่อ จำนวน 1 สัญญา 2.การบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณาสถานีกลางบางซื่อ จำนวน 1 สัญญา 3.การบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง 12 แห่ง จำนวน 1 สัญญา และ 4. การบริหารจัดการพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณาในสถานี 12 แห่ง จำนวน 1 สัญญา

โดยสัญญาที่ 1 และ 2 เป็นสัญญาระยะยาว 20 ปี ส่วนสัญญาที่ 3 และ 4 เป็นสัญญาระยะสั้น 3 ปี เบื้องต้นผลการศึกษาพบว่าอายุสัมปทานที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 20 ปี ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้กับ ร.ฟ.ท. ประมาณ 7.9 พันล้านบาท หรือเฉลี่ย 399 ล้านบาทต่อปี แต่จะเป็นส่วนสำคัญของการสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้บริการสถานีกลางบางซื่อ และจะผลักดันให้ปริมาณการใช้บริการรถไฟเพิ่มมากขึ้น

“ตอนนี้เราได้มีการปรับลดจำนวนพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีกลางบางซื่อลงประมาณ 5 พัน ตร.ม. จากเดิม 5.2 หมื่นตร.ม. เหลือประมาณ 4.7 หมื่นตร.ม. เพราะต้องใช้พื้นที่บางส่วนสำหรับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด) ส่วนพื้นที่ในส่วนอื่นๆ ยังคงจำนวนพื้นที่เท่าเดิม โดยพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณาสถานีกลางบางซื่อ มีจำนวนประมาณ 2,300 ตร.ม., พื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง 12 สถานี พื้นที่ประมาณ 3,700 ตร.ม. และพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณาสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง 12 สถานี ประมาณ 2,000 ตร.ม.”

ทั้งนี้ ปัจจุบันเริ่มมีประชาชนมาใช้บริการที่สถานีกลางบางซื่อ และสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หนักอีกระลอกช่วงต้นปี 2565 ส่งผลให้ผู้โดยสารลดลง โดยขณะนี้มีปริมาณอยู่ที่ 8 พันคนต่อวัน

ประกอบกับปัจจุบันยังคงมีประชาชนเข้ามาใช้บริการศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ดังนั้นในระหว่างที่การประมูลพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ และป้ายโฆษณา สถานีกลางบางซื่อ และ 12 สถานียังไม่แล้วเสร็จ ร.ฟ.ท. จึงได้จัดตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (คีออส) และจัดศูนย์อาหารชั่วคราวที่สถานีกลางบางซื่อ บริเวณชั้น 1 ประตู 4 เพื่อให้บริการประชาชนชั่วคราว

ส่วนการเปิดให้บริการรถไฟทางไกลที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งก่อนหน้านี้มีแผนจะเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2564 ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเปิดให้บริการวันใด คงต้องรอข้อสรุปการเช็กลิสต์ผลกระทบตามนโยบาย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้ให้จัดทำโดยมีผู้เชี่ยวชาญ และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องร่วมให้คำแนะนำ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมต่อของประชาชน และการขนส่งสินค้า การอำนวยความสะดวกด้านการจราจรและความปลอดภัยในการเดินรถ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.นี้