"ยื่นภาษี 2564" เปิดแนวทางยื่น "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" ลดหย่อนอะไรได้บ้าง

"ยื่นภาษี 2564" เปิดแนวทางยื่น "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" ลดหย่อนอะไรได้บ้าง

"ยื่นภาษี 2564" ปีนี้ยื่นออนไลน์ได้ถึง 8 เม.ย.65 ถ้าอยากให้ราบรื่น ได้เงินคืนไวๆ ไปดูกันว่า ต้องเตรียมตัวอย่างไร ใช้ข้อมูลอะไรบ้าง และที่สำคัญ มาอัพเดทกันว่า "ภาษี 2564" ปีนี้ค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนส่วนไหน ที่สามารถนำมา "ลดหย่อนภาษี" ได้บ้าง และต้อง "คำนวณภาษี" อย่างไร

เมื่อก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2565 ก็ถึงเวลาต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยตามกฎหมายกำหนดว่าผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 120,000 บาท ทุกคน มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีประจำปี 2564 และมียอดภาษีต้องชำระหากคำนวณแล้วเงินได้สุทธิมีจำนวนตั้งแต่ 150,000 บาทขึ้นไป

แต่เพื่อให้การยื่นภาษีของผู้มีรายได้ทั้งหลาย เป็นไปอย่างรวดเร็วและถูกต้องครบถ้วน เรามาเตรียมตัวกันก่อน ว่าคุณต้องใช้ข้อมูลอะไร ปีนี้ค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนส่วนไหนที่สามารถนำมาลดหย่อนได้บ้าง รวมถึงหลักการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยตนเอง

  • ค่าใช้จ่ายใดบ้างที่นำมา "หักภาษี" ได้

ก่อนอื่นผู้มีรายได้ต้องเช็กก่อนว่าตนเองต้องยื่นแบบฟอร์มไหน ซึ่งประกอบด้วย

1) ภ.ง.ด.91 ผู้มีรายได้จากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว เช่น พนักงานบริษัท

2) ภ.ง.ด.90 ผู้มีรายได้อื่นๆ ที่นอกเหนือจากเงินเดือน เช่น รายได้จากเงินปันผล ผู้ที่เป็นฟรีแลนซ์ หรือพ่อค้าแม่ค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เป็นต้น

  • รู้จักชนิดของ "รายได้พึงประเมิน"

ต่อมาต้องทราบว่า มีรายได้พึงประเมินอยู่ประเภทไหน เพื่อให้สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการหักลบรายได้ ดังนี้

- เงินได้ประเภทที่ 1 ได้แก่ เงินเดือน โบนัส หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 50% (รวมหักค่าใช้จ่ายจากเงินประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 แล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท)

- เงินได้ประเภทที่ 2 ได้แก่ ค่าจ้างทั่วไป หักแบบเหมา 50% (รวมหักค่าใช้จ่ายจากเงินประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 แล้ว ต้องไม่เกิน 100,000 บาท)

- เงินได้ประเภทที่ 3 ได้แก่ ค่ากู๊ดวิลล์ หรือเงินได้จากสินทรัพย์ไม่มีตัวตน เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา ค่าลิขสิทธิ์ ค่าสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ค่าเฟรนไชส์ หักแบบเหมา 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

- เงินได้ประเภทที่ 4 ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผลจากหุ้น และ cryptocurrency หักค่าใช้จ่ายไม่ได้

- เงินได้ประเภทที่ 5 ได้แก่ ค่าเช่า หักแบบเหมา 10-30% หรือหักตามจริง

- เงินได้ประเภทที่ 6 ได้แก่ ค่าวิชาชีพอิสระ หักแบบเหมา 30-60% หรือหักตามจริง

- เงินได้ประเภทที่ 7 ได้แก่ ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ หักแบบเหมา 60% หรือหักตามจริง

- เงินได้ประเภทที่ 8 ได้แก่ เงินอื่นๆ ที่ไม่เข้าพวก เช่น รายได้จากการขายของออนไลน์ ตามจริงหรืออัตราเหมา 40% และ 60%

  • ค่าลดหย่อน ต่างๆ มีแบบไหนบ้าง

นอกจากค่าใช้จ่ายตามประเภทรายได้พึงประเมินของผู้มีรายได้ จะนำมาหักภาษีได้แล้ว ยังมีค่าลดหย่อนอื่นๆ ที่สามารนำมาลดหย่อนภาษีได้อีก ซึ่งสำหรับปีนี้มีค่าลดหย่อนใดบ้างนั้น สามารถแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

1) ค่าลดหย่อนกลุ่มเกี่ยวกับครอบครัว

- ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
- คู่สมรส 60,000 บาท
- ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร 60,000 บาท ลดหย่อนได้ตามจริง หรือสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนบุตร 30,000 บาท/คน บุตรคนที่ 2 ขึ้นไป และเกิดตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท อายุไม่เกิน 20 ปี
- ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา-มารดา อายุ 60 ปีขึ้นไป (คนละ) 30,000 บาท
- อุปการะผู้พิการ หรือทุพพลภาพ 60,000 บาท/คน

2) ค่าลดหย่อนกลุ่มเกี่ยวกับการประกันและการลงทุน

- เงินสมทบประกันสังคม ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 5,100 บาท เนื่องจากในปี 2564 ประกันสังคมเรียกเก็บเงินสมทบลดลงในช่วงโควิด-19
- ประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากที่มีประกันชีวิต 100,000 บาท (เมื่อรวมกับประกันสุขภาพตนเองแล้วไม่เกิน 100,000 บาท)
- ประกันสุขภาพตนเอง 25,000 บาท (เมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไป หรือเงินฝากที่มีประกันชีวิตแล้วไม่เกิน 100,000 บาท)
- ประกันสุขภาพบิดา-มารดา 15,000 บาท
- ประกันชีวิตบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ / กบข. / สงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) 13,200 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท

3) ค่าลดหย่อนกลุ่มเกี่ยวกับการบริจาค

- บริจาคสนับสนุนการศึกษา การกีฬาเพื่อประโยชน์สาธารณะ และโรงพยาบาลรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
- บริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศล ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
- เงินบริจาคแก่พรรคการเมือง 10,000 บาท

4) กลุ่มพิเศษ (จากมาตรการรัฐ)

- ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยสูงสุด 100,000 บาท
- ค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิต (ธุรกิจที่มีเครื่อง EDC) ลดหย่อนเพิ่มได้อีก 1 เท่า ตามที่จ่ายจริง

  • การคำนวณอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

หลังจากทราบแล้วว่าต้องนำค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอะไรบ้าง มาช่วยในการลดหย่อนภาษีของตนเอง จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการคำนวณตามสูตรการคำนวณภาษี คือ

(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี
= ภาษีที่ต้องจ่าย

หากมีรายได้ประจำช่องทางเดียว อัตราภาษีจะเป็นแบบอัตราขั้นบันได ตั้งแต่ 5 – 35%

ภาษีแบบเหมา หากคุณมีรายได้ช่องทางอื่น นอกจากรายได้ประจำหรือเงินเดือนตั้งแต่ 120,000 บาทขึ้นไป

ภาษีแบบเหมา = (เงินได้ทุกประเภท – เงินเดือน) x 0.5%

โดยต้องคำนวณภาษี ทั้งแบบอัตราขั้นบันใด และอัตราเหมา เพื่อเอามาเทียบกัน และเลือกยอดภาษีที่ต้องเสีย จากวิธีที่ยอดภาษีคิดมาแล้ว สูงกว่า

เพิ่มเติม : หากคำนวณด้วยวิธีคิดแบบเหมาแล้ว มีภาษีที่ต้องเสียทั้งสิ้นไม่เกิน 5,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษีในวิธีนี้

  • เอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อยื่นภาษีประจำปี 2564

สำหรับเอกสารและข้อมูลที่ผู้มีรายได้จะต้องเตรียมไว้เพื่อยื่นภาษีนั้น หลักๆ ประกอบด้วย

- หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) (พนักงานประจำ และผู้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้)
- รายการลดหย่อนภาษีทั้งหมดที่รวบรวมทั้งปี
- เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี เพื่อกรอกแบบฟอร์มการยื่นจ่ายภาษี

สิ่งที่สำคัญคือ ในกรณีที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไป เมื่อคำนวณแล้วไม่ต้องเสียภาษีเพิ่ม จะทำให้ผู้มีรายได้สามารถขอคืนเงินภาษีที่ถูกหักไปได้ ดังนั้น หากผู้เสียภาษีที่ได้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชน ทางสรรพากรมีบริการคืนเงินภาษีโดยโอนเงินตรงเข้าบัญชีได้เลย ซึ่งจะเร็วกว่ารอเป็นเช็คที่ต้องส่งผ่านไปรษณีย์

  • ช่องทางยื่นภาษี

ผู้มีรายได้สามารถยื่นภาษีประจำปี 2564 แบบกระดาษได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2565 ซึ่งปัจจุบันกรมสรรพากรได้ปรับปรุงเว็บไซต์ให้ยื่นเสียภาษีออนไลน์ได้ง่ายขึ้น และมีการป้องกันความปลอดภัยขั้นสูงสุด โดยการส่งรหัส OTP ผ่านมือถือ ดังนั้น ผู้มีรายได้สามารถยื่นภาษีผ่านทางออนไลน์ตามช่องทางต่างๆ ได้ด้วย ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 8 เมษายน 2565 ดังนี้

- ยื่นออนไลน์ผ่านเว็บไซต์สรรพากร www.rd.go.th
- ยื่นผ่านแอพพลิเคชั่น Rd Smart Tax สำหรับผู้เสียภาษีที่ถนัดใช้สมาร์ทโฟน

ทั้งนี้ ในส่วนที่เป็นพนักงานประจำ หรือผู้ที่มีรายได้แน่นอน การยื่นภาษีอาจไม่ยุ่งยาก แต่สำหรับพ่อค้าแม่ค้า หรือเจ้าของธุรกิจที่เลือกจ่ายภาษีแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะค่อนข้างยุ่งยากกว่า ดังนั้น การทำบัญชีรายรับรายจ่าย จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ทราบรายได้ที่แท้จริง ละเอียดและครบถ้วน ซึ่งจะช่วยทำให้เสียภาษีน้อยลงนั่นเอง

-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่