ม.เกษตรฯแนะนำเข้าหมู ถ่วงราคาที่แนวโน้มยังพุ่ง

ม.เกษตรฯแนะนำเข้าหมู ถ่วงราคาที่แนวโน้มยังพุ่ง

ม.เกษตรฯ ชี้แนวโน้มราคาหมูยังแพงต่อเนื่อง แนะนำเข้า ภายใต้เงื่อนไขจากแหล่งไม่มีโรค ตรวจเช็คก่อนจำหน่าย ไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง เก็บภาษีหนุนรายย่อยไทยเลี้ยงใหม่ภายใต้มาตรฐาน ชี้ความเสียหาย 1.5 แสน เป็นความผิดร่วมกันผู้บริโภคก็ด้วย

 นางสาว สุวรรณา สายรวมญาติ อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยในการสัมมนา เรื่อง ทางเลือกทางรอด หมูแพง ผู้เลี้ยงอยู่รอด ผู้บริโภค อยู่ได้ ว่า หากปล่อยให้ราคาสุกรในประเทศเป็นไปตามกลไกการตลาด ราคาจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการระบาดของโรค การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ยังมีอยู่ โดยสต็อกที่มีถูกนำไปใช้ในปี 64 หมดแล้ว

ปริมาณสุกรในขณะนี้ 17 ล้านตัวต่อปี หรือ 2.7 หมื่นตันต่อเดือนนั้น ทำให้ราคาสุกรเนื้อแดงในตลาด อยู่ที่กิโลกรัมละ 180 บาท แม้รัฐตรึงราคาไว้ที่ 110 บาท และจะส่งผลให้ราคาสินค้าอื่นๆ แพงตามไปด้วย ที่น่ากังวลคือ แพงแล้วจะไม่ลดลง ผู้มีรายได้น้อยจะไม่สามารถเข้าถึงเนื้อสุกรได้

 

ม.เกษตรฯแนะนำเข้าหมู ถ่วงราคาที่แนวโน้มยังพุ่ง

 อย่างไรก็ตาม การระบาดที่เกิดขึ้น ไม่สามารถกล่าวโทษได้ว่าเป็นความผิดของหน่วยงานปศุสัตว์ที่จัดการล่าช้า แต่เป็นความผิดร่วมกันของทุกฝ่ายรวมทั้งผู้บริโภคด้วย ที่เลือกที่จะบริโภคเอง ทั้งนี้เพราะการระบาดครั้งนี้รุนแรงเกินที่จะรับมือได้ การจัดการต้องปิดฟาร์ม ทำลายสุกรทั้งหมดทั้งที่มีและไม่มีเชื้อ ซึ่งเนื้อสุกรจะขาดตลาดทันที ในขณะที่กรมปศุสัตว์ ไม่สามารถฝังสุกรได้มากถึง 2 พันตัว ที่ทำได้คือชำแหละแล้วสต็อกไว้ ซึ่งนำมาบริโภคหมดแล้วในปี 64

 นางเออวดี เปรมัษเฐียร อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์ราคาสุกรในประเทศ แนวทางแก้ปัญหาราคาแพง ควรเปิดให้มีการนำเข้าในระยะสั้น ภายใต้เงื่อนไขต้องมาจากแหล่งผลิตที่ไม่มีการะบาดของโรคASF แหล่งที่ไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง มีการตรวจเชื้อก่อนจำหน่าย มีการกำหนดปริมาณที่สอดคล้องกับความต้องการและผลผลิตในประเทศ ต้องเก็บภาษี และ ระบุไว้บนบรรจุภัณฑ์ ว่าเป็นเนื้อสุกรในประเทศหรือนำเข้า เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกซื้อ

 

ในที่นี้ไม่เห็นด้วยให้นำเข้าจากเพื่อนบ้าน เพราะเป็นแหล่งระบาดของโรค จะทำให้การเลี้ยงของไทยฟื้นตัวได้ช้า ควบคุมยากขึ้น ซึ่งปัจจุบันการเลี้ยงสุกรในเพื่อนบ้านเป็นนักลงทุนจากไทยไม่กี่ราย และเป็นกลุ่มเดียวกับการเลี้ยงสุกรในประเทศ ที่เป็นรายใหญ่กว่า 70 % ที่เหลือ 30 % เป็นรายย่อย

โดยรายใหญ่มีระบบการเลี้ยงที่ดี สามารถเพิ่มปริมาณการเลี้ยงภายใต้การระบาดของโรคได้ แต่การสนับสนุนรายใหญ่อย่างเดียว จะเกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย ในระยะเวลาอันสั้น ส่วนรายย่อยจะหายไปจากอุตสาหกรรม ซึ่งการนำเข้าดังกล่าว จะมีส่วนทำให้รายย่อยของไทยสามารถฟื้นตัวและแข่งขันได้ในอนาคต

 

  ปัจจุบันมูลค่าความเสียหายจากการระบาดของ ASF มีประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเงินหมุนเวียนในระบบการเลี้ยงสุกรของไทยจนถึงเขียงหมู

 

 

 

นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า การนำเข้าเนื้อสุกร ต้องเป็นระบบโควตา มีเพดานกำหนดชัดเจน ปริมาณที่นำเข้าต้องสอดคล้องกับความต้องการบริโภคที่หายไป 2.7 หมื่นตันต่อเดือน ในราคาไม่เกิน 220 บาท เพื่อไม่ให้ราคาในตลาดแพงเกินไป

รวมทั้งต้องเก็บภาษี แล้วตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนรายย่อยให้เลี้ยงในระบบที่มีมาตรฐาน ที่สำคัญต้องพัฒนาวัคซีน ปรับระบบอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นต้นทุนหลัก จากปัจจุบันปัจจัยการผลิตยังถูกบิดเบือนราคาด้วยนโยบายรัฐ โดยเฉพาะการประกันรายได้ สำหรับกรมปศุสัตว์ ขณะนี้ต้องเข้มงวดการจัดการฟาร์ม ควรเอกซเรย์พื้นที่แหล่งที่ยังไม่เกิดโรค เช่นภาคใต้ ควรควบคุมอย่างดี

 

นายณัฐพล พจนาประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ และทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การนำเข้าจากสหภาพยุโรป หรืออียู ที่ไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน ซึ่งขณะนี้ค่าระวางเรือและค่าตู้แช่แข็งได้ปรับราคาขึ้นเท่าตัว โดยเป็นผลมาจากความต้องการของจีนที่มีมากขึ้น

 

นายสัตวแพทย์ณัฐวุฒิ รัตนวนิชย์โรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การระบาดASF นั้นเกิดขึ้นกว่า 100 ปี ปัจจุบันมีการระบาด 33 ปะเทศทั่วโลกแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาวิจัยวัคซีนโดย จีน สหรัฐอเมริกา เวียดนาม รวมถึงไทย เบื้องต้นมีบางประเทศผลิตได้ แต่ผลยังไม่สามารถป้องกันได้ และยังมีเอฟเฟค

 

อย่างไรก็ตามเนื้อสุกรที่ติดเชื้อ ASF นี้ไม่ติดสู่คน ดังนั้นจึงสามารถเนื้อสุกรที่ปนเปื้อนได้โดยการทำให้สุก โดยผู้บริโภคในไทยอาจต้องรับภาระเนื้อสุกรราคาแพงอีกสักระยะ เท่ากับระยะที่เกษตรกรจะสามารถกลับมาเลี้ยงใหม่อีกครั้ง ประมาณ 1ปีครึ่ง - 2 ปี ใน 3 กรณี คือ

1. ผสมแม่พันธุ์ที่มีอยู่ ผสมจะใช้เวลา 4 เดือนในการตั้งท้อง 6 เดือนในการเลี้ยงสุกรขุนเพื่อเข้าโรงชำแหละได้

2. กรณีที่ต้องเลี้ยงแม่พันธุ์ต้องใช้เวลา 7 เดือน จึงจะผสมพันธุ์ได้ และ

3. กรณี ใช้สุกรขุนเป็นแม่พันธุ์ ซึ่งจีนใช้วิธีนี้ทำให้ มีเนื้อสุกรกลับเข้าสู่ตลาด 10 ล้านตัว ใน 3 ปี