‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’แข็งค่า’ที่32.94บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด’แข็งค่า’ที่32.94บาทต่อดอลลาร์

“กรุงไทย” ชี้เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้น จากแรงขายทำกำไรทองคำ จับตาความต้องการดอลลาร์ตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยและในภาวะตลาดการเงินผันผวน นักลงทุนต่างชาติก็อาจทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยเพิ่มเติม กดดันเงินบาทอ่อนค่า มองกรอบเงินบาทวันนี้ที่ 33.05-33.20บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(20ม.ค.)ที่ระดับ32.94 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.04 บาทต่อดอลลาร์ แต่ยังไม่แตะระดับแข็งค่าสูงสุด รอบ2เดือนที่32.90 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อ18ม.ค.ที่ผ่านมานี้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.05 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมองว่า แม้ว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นจากวันก่อนหน้าพอสมควร หนุนโดยโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ ทว่า หากไม่มีฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติมาสนับสนุนหรือปัจจัยพื้นฐานฟื้นตัวแข็งแกร่ง เงินบาทก็อาจจะไม่ได้แข็งค่าไปมากและยังมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways ใกล้ระดับ 32.90-33.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินดอลลาร์ก็อาจกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย

นอกจากนี้ ในภาวะตลาดการเงินผันผวน นักลงทุนต่างชาติก็อาจทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เงินบาทยังมีแรงหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่จากโฟลว์ขายทำกำไรราคาทองคำ หากราคาทองคำสามารถทรงตัวที่ระดับ 1,830-1,840 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

ทั้งนี้ เรามองว่า แนวต้านสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในโซน 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ที่ระดับดังกล่าว ส่วนแนวรับสำคัญจะอยู่ในช่วง 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจมีแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าช่วยพยุงเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปมากได้   

ตลาดการเงินโดยรวมยังคงผันผวนและอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวจากความกังวลเฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากกว่าคาด ส่งผลให้ หุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ที่พยายามรีบาวด์นั้น ยังคงเผชิญแรงขายต่อเนื่อง กดดันให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด -1.15% และเข้าสู่โซนปรับฐาน (Correction) หลังดัชนี Nasdaq ปรับตัวลงจากจุดสูงสุดมากกว่า -10% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวลดลงกว่า -0.97% 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป สามารถรีบาวด์ขึ้นมาราว +0.25% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในธีมReopening อาทิ Louis Vuitton +3.7%, Inditex +2.7%, Kering +2.0% จากความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หากการระบาดโอมิครอนในยุโรปเริ่มสงบลงได้ 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาดได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อย แต่ทว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าเฟดจะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อนั้น ยังคงหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทรงตัวที่ระดับ 1.86% ส่วนบอนด์ยีลด์ในฝั่งยุโรป โดยเฉพาะบอนด์ยีลด์ 10 ปี อังกฤษ ปรับตัวขึ้นต่อ 4bps แตะระดับ 1.25% สูงที่สุดในรอบ 3 ปี หลังจากเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดของอังกฤษพุ่งสูงขึ้นกว่าคาด ทำให้ตลาดมองว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจขึ้นดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยเงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวน แต่ขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็ไม่ได้แข็งค่าไปมาก เนื่องจากสกุลเงินหลักอื่นๆก็เริ่มทยอยแข็งค่าขึ้นได้ โดยเฉพาะเงินยูโรและเงินปอนด์อังกฤษ ตามความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจและแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของ BOE ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) แกว่งตัว sideways ใกล้ระดับ 95.51 จุด อนึ่ง ในช่วงที่เงินดอลลาร์ยังเคลื่อนไหว sideways ความผันผวนในตลาดการเงินที่สูงขึ้นได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าถือทองคำ ส่งผลให้ราคาทองคำ ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 1,840 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ซึ่งเรามองว่าการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำแตะแนวต้านสำคัญดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวมีส่วนที่จะช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้

สำหรับวันนี้ ตลาดประเมินว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะเพิ่มโอกาสการผ่อนคลายนโยบายการเงินหรือการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากทางการจีน ซึ่งตลาดมองว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) จะคงอัตราดอกเบี้ยลูกหนี้ชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปี ไว้ที่ระดับ 3.80% (หลังจากปรับลดลง 5bps ในเดือนธันวาคม) ส่วน LPR ประเภท 5 ปี ยังคงไว้ที่ 4.65% ตามเดิม นอกจากนี้ ตลาดยังมองว่า ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) รวมถึง ธนาคารกลางอินโดนีเซีย(BI) ต่างก็มีความจำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.75% และ 3.50% ตามลำดับไว้ก่อน จนกว่าเศรษฐกิจจะส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ทั้ง BNM และ BI อาจมองว่าเงินเฟ้อยังไม่ใช่ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขด้วยการทยอยขึ้นดอกเบี้ยแบบธนาคารกลางอื่นๆ