EIC หวั่นผลกระทบ ‘โอมิครอน’ ดึงปัญหาหนี้นอกระบบพุ่ง

EIC หวั่นผลกระทบ ‘โอมิครอน’ ดึงปัญหาหนี้นอกระบบพุ่ง

อีไอซี ชี้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ในไตรมาส 3/2021 ทรงตัวในระดับสูงที่ 89.3% จับตา 2 ความเสี่ยงสำคัญต่อหนี้ครัวเรือนในระยะต่อไป คือ ผลกระทบของ Omicron และปัญหาหนี้นอกระบบที่กำลังเร่งตัว

    ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 3 ปี 2021 อยู่ที่ 14.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ 4.2%YOY ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ระดับ 89.3% ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยยังถือว่าอยู่ในระดับสูง
        การขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนจากระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ชะลอลงในทุกหมวดสินเชื่อสำคัญ อย่างไรก็ดี สินเชื่อส่วนบุคคลยังคงขยายตัวในระดับสูง ตามความต้องการสภาพคล่องเพื่อชดเชยรายได้ที่ลดลงที่ยังมีมาก

      ปัญหาหนี้นอกระบบของภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเร่งตัวสูง จากกลุ่มครัวเรือนที่มีความต้องการสินเชื่อเพื่อนำมาใช้จ่ายแต่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว
       สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 นี้ โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Omicron ที่จะกระทบรายได้ครัวเรือนและทำให้ความต้องการสินเชื่อเพื่อทดแทนสภาพคล่องกลับมาเพิ่มสูงอีกครั้ง ส่งผลทำให้กระบวนการซ่อมแซมงบดุลของภาคครัวเรือนมีอุปสรรค และสถานะทางการเงินภาคครัวเรือนจะกลับมาฟื้นตัวได้ช้าลง ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องไปถึงแนวโน้มการใช้จ่ายและคุณภาพสินเชื่อของภาคครัวเรือน

    ด้วยเหตุนี้มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ การเยียวยาด้านรายได้ การสนับสนุนการจ้างงาน และการปรับทักษะแรงงาน เพื่อเพิ่มความสามารถในการหารายได้ รวมถึงการสนับสนุนด้านสภาพคล่องเพื่อป้องกันปัญหาหนี้นอกระบบจะยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับภาคครัวเรือนไทยที่ยังมีความเปราะบางสูง
 
    หนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 3 ปี 2021 เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 14.3 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวที่ 4.2%YOY 
เป็นการขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจในช่วงเดียวกัน อันเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงและมีมาตรการล็อกดาวน์ โดยสินเชื่อจากกลุ่มผู้ให้กู้ยืมหลัก ได้แก่

     ธนาคารพาณิชย์, สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน (SFI)[1], สหกรณ์ออมทรัพย์ และบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อให้ครัวเรือนรวมกันถึง 96.4% ล้วนมีการเติบโตที่ชะลอลงทั้งสิ้น (ตารางที่ 1)
      เมื่อพิจารณาในรายละเอียดที่มาของการเติบโตของสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ พบว่า การเติบโตของยอดคงค้างสินเชื่ออุปโภคบริโภคมีการชะลอลงในทุกประเภทผลิตภัณฑ์หลัก โดยในไตรมาส 3 ปี 2021 ยอดคงค้างของสินเชื่ออุปโภคบริโภคในระบบธนาคารพาณิชย์เติบโต 4.2%YOY ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโตถึง 5.7%YOY โดยเป็นการชะลอตัวทั้งในสินเชื่อที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ ส่วนบุคคล และบัตรเครดิต (ตารางที่ 2)

     โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์และบัตรเครดิตที่มีการหดตัว ตามกิจกรรมการใช้จ่ายที่ซบเซาลงในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ อย่างไรก็ตาม สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล แม้จะมีการชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่ยังถือว่าเติบโตได้ในระดับสูง

     โดยในไตรมาส 3 ยอดคงค้างของสินเชื่อส่วนบุคคลจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวที่ 8.2% สูงกว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อประเภทอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลทำให้สัดส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 22.7% ต่อสินเชื่ออุปโภคบริโภครวมในระบบธนาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้นจาก 22.5% ในไตรมาสก่อนหน้า ทำให้สินเชื่อส่วนบุคคลขยับขึ้นมาเป็นสินเชื่อที่มีสัดส่วนสูงเป็นอันดับสองรองจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย

    โดยได้แซงหน้าสัดส่วนของสินเชื่อรถยนต์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการเผยแพร่ข้อมูลสินเชื่อในปี 2013
     การเติบโตที่ยังอยู่ในระดับสูงของสินเชื่อส่วนบุคคลในระบบธนาคารพาณิชย์ และสินเชื่อจากบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล ยังคงสะท้อนถึงแนวโน้มการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายทดแทนสภาพคล่องที่หายไปตามรายได้ที่ลดลงของภาคครัวเรือนที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโตของหนี้ครัวเรือนในช่วงนี้ และเป็นเทรนด์ที่ดำเนินมาต่อเนื่องในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

     สอดคล้องกับข้อมูลประกอบจาก Google Trends ในส่วนของการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับ “เงินกู้” “เงินด่วน” ซึ่งจากผลการค้นหาที่ปรากฏ สามารถเป็นได้ทั้งหนี้ในและนอกระบบ

     โดยล่าสุดแม้ดัชนีจะมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง แต่ก็ยังสูงกว่าระดับก่อนโควิดถึงราว 30% (รูปที่ 1) สะท้อนถึงความต้องการที่ยังสูงของผู้บริโภคต่อสินเชื่อเพื่อนำมาเป็นสภาพคล่องสำหรับการใช้จ่ายในช่วงที่รายได้ซบเซาและฟื้นตัวช้า
 
      อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินส่วนใหญ่ยังคงระมัดระวังในการให้สินเชื่อสะท้อนจากมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลที่ปรับเข้มงวดขึ้นมาโดยตลอดในช่วงวิกฤต COVID-19 (รูปที่ 2 ซ้าย)

     โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย ทำให้ความต้องการสินเชื่อที่ยังมีสูงอาจไม่ได้ถูกเติมเต็มได้อย่างครอบคลุมด้วยสินเชื่อในระบบ ส่งผลทำให้ในช่วง COVID-19 ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งที่มีความต้องการสินเชื่อ ได้หันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ จากการสำรวจผู้บริโภคของ EIC (EIC Consumer Survey 2021) พบว่า มีถึง 26.1% ของกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่ทำการกู้ยืมในช่วง COVID-19 ที่มีการกู้ยืมหนี้นอกระบบ (รูปที่ 2 กลาง) แนวโน้มดังกล่าวส่งผลทำให้ปริมาณหนี้นอกระบบของภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหลังเกิดวิกฤต COVID-19

     จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมภาคครัวเรือน พบว่า หนี้นอกระบบของภาคครัวเรือนไทยรวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 อยู่สูงถึง 8.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงจากช่วงก่อน COVID-19 ในปี 2019 ที่อยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราสูงถึง 78% ถือเป็นการกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งหลังจากที่หนี้นอกระบบมีแนวโน้มลดลงในปี 2019
 
     เมื่อพิจารณาในรายละเอียดการกระจายตัวของหนี้นอกระบบภาคครัวเรือนจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ปัญหากระจุกตัวอยู่ในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยเป็นส่วนใหญ่ ในภาพรวมสัดส่วนของครัวเรือนที่เป็นหนี้นอกระบบอยู่ที่ 9.2% จากจำนวนครัวเรือนที่มีหนี้ทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ของครัวเรือนกลุ่มที่เป็นหนี้นอกระบบนี้มักจะกู้ยืมหนี้นอกระบบเพียงอย่างเดียว (ตารางที่ 3)

     และหากแยกตามระดับรายได้แล้ว จะพบว่า สัดส่วนของการเป็นหนี้นอกระบบในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยจะสูงกว่าครัวเรือนรายได้สูง สอดคล้องกับผลกระทบของวิกฤตครั้งนี้ที่มีความรุนแรงกับกลุ่มคนรายได้น้อย และมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อมักจะมีความเข้มงวดกับกลุ่มคนเหล่านี้มากเป็นพิเศษ

    ทั้งนี้ครัวเรือนที่พึ่งพาหนี้นอกระบบในระดับสูง มักมีภาระหนี้สูงกว่าจากอัตราดอกเบี้ยหนี้นอกระบบที่จะสูงกว่ามาก สถานการณ์ดังกล่าวนี้จึงเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อป้องกันไม่ให้ครัวเรือนเปราะบางเหล่านี้เข้าสู่วังวนปัญหาภาระหนี้สินล้นพ้นตัว


w.scbeic.com
Line : @scbeic