พาณิชย์เดินหน้าจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก ปั้มยอดส่งออกปี 64 โต 3-4 %

พาณิชย์เดินหน้าจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก  ปั้มยอดส่งออกปี 64 โต 3-4 %

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มั่นใจส่งออกปี 65 ยังขยายตัวต่อเนื่อง คาดโต 3-4% หลังประเมินเศรษฐกิจคู่ค้าฟื้นตัว เตรียมอัดกิจกรรมเพิ่มยอดเต็มที่ ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ รุก BCG Model เผยเอกชนเสนอทำมินิเอฟทีเอ”เกียวโต-เซี่ยงไฮ้-อาบูจา-โจฮันเนสเบิร์ก”ขยายโอกาสทางการค้า

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การส่งออกในปี 2565 ยังขยายตัวแต่ในขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยการส่งออกในปีนี้น่าจะยังขยายตัวเป็นบวกได้ในระดับ 3-4% มูลค่า2.8 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการประเมินของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และยังสอดคล้องกับการประเมินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 3.5% การประเมินของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ 3-5% และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ที่ 5-8%
         
สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกในปี 2565 มาจากเศรษฐกิจคู่ค้ามีทิศทางขยายตัว โดยคาดว่าผลกระทบจากโอมิครอนจะจำกัดอยู่ในช่วงครึ่งปีแรก และจะฟื้นตัวในระยะต่อไป ค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการส่งออก ราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูง ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ช่วยให้การเจรจาออนไลน์มีการเติบโตต่อเนื่อง การมีผลบังคับใช้ของอาร์เซ็ปช่วยสนับสนุนการส่งออก

 

ส่วนปัจจัยเสี่ยงก็ยังเป็นการแพร่ระบาดของโอมิครอน โดยฉพาะในประเทศค้าสำคัญของไทย เช่น สหรัฐ ยุโรป  มาตรการเข้มงวดของประเทศในการป้องกันการแพร่ระบาดของโอมิครอน ปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าและค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าน่าจะคลี่คลายลงในช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตาม กรมได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ติดตามสถานการณ์และผลกระทของการแพร่ระบาดของโอมิครอนอย่างใกล้ชิด ทั้งมาตรการป้องกันการระบาดที่คู่ค้านำมาใช้ และผลกระทบต่อการส่งออกของไทย หากมีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้น ก็ให้รายงานเข้ามาทันที เพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหาได้ทันการ และยังได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้นำเข้าสินค้าไทยว่าสินค้าไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน มีระบบป้องกันโควิด-19 ด้วย

สำหรับแผนขับเคลื่อนการส่งออกให้เป็นไปตามเป้าหมายภายใต้ โดยจัดกิจกรรมทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ รวมทั้งสิ้นประมาณ 152 กิจกรรมทั้งในตลาดหลัก ตลาดรอง และตลาดใหม่    เช่น การจัด Online Business Matching ทุกภูมิภาค ทุกสินค้า เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ไก่ ยางพารา เครื่องมือแพทย์ อาหารฮาลาล แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ อาหารสัตว์เลี้ยง อัญมณี เป็นต้น การจัดงานแสดงสินค้าในประเทศในรูปแบบ Virtual / Online Exhibition ได้แก่ งาน THAIFEX ANUGA Asia , งาน Bangkok Gems & Jewelry Fair (BGJF) และ งาน TILOG  เป็นต้น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้แก่ amazon.com (สหรัฐฯ) และ ozon.ru (รัสเซีย) 

นอกจากนี้กรมยังมีแผนเร่งทำ มินิเอฟทีเอ (Mini FTA ) กับเมืองใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อขยายโอกาสทางการค้า  ล่าสุดที่จะมีการลงนามในเร็ว ๆ นี้ คือ รัฐเตรังคานาของอินเดีย  มณฑลกานซู่ของจีน เมืองปูซาน ของเกาหลีใต้   รวมถึงเมืองรองใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมฯได้เสนอชื่อเมืองที่ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ทำมินิเอฟทีเอ    คือ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น   เซี่ยงไฮ้ ของจีน   ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร  เมืองอาบูจา ประเทศไนจีเรีย และ  เมืองโจฮันเนสเบิร์ก  ประเทศแอฟริกาใต้ เพื่อขยายโอกาสสินค้าเครื่องสำอาง  สมุนไพร ซึ่งทั้ง 3 เมืองนี้จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด

ขณะเดียวกันยังมีแผนผลักดันสินค้าในกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร และสปา (Hospitality) การส่งเสริมสินค้าและบริการไทยเข้าสู่ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และจัดเลี้ยง (Horeca) การประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าไทย การส่งเสริมสินค้าอาหาร นวัตกรรมอาหาร ข้าวไทย ธุรกิจบริการและดิจิทัล และการจัดเทศกาลส่งเสริมการบริโภคผลไม้ไทยใน 13 เมืองในจีน ส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร เครื่องดื่ม และธุรกิจบริการอาหาร เป็นการเฉพาะ 56 โครงการ แยกเป็นสินค้าเกษตรและอาหาร 13 โครงการ เช่น การจัดงานแสดงสินค้า และการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า และจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายกับห้างสรรพสินค้าและคู่ค้า 21 โครงการ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตร อาหาร และเครื่องดื่มของไทย 2 โครงการ การส่งเสริมการส่งออกและสร้างภาพลักษณ์สินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์ 8 โครงการ การประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าเกษตร อาหาร และเครื่องดื่มของไทย 3 โครงการ และการพัฒนาและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศธุรกิจบริการอาหาร 9 โครงการ

นายภูสิตกล่าวว่า กรมฯ ยังจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green หรือ BCG Model) ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาล โดยจะมุ่งขับเคลื่อนสินค้าศักยภาพ 5 กลุ่ม คือ อาหารแห่งอนาคต อาหารสัตว์เลี้ยง บรรจุภัณฑ์ ไลฟ์สไตล์ และเครื่องสำอางสมุนไพร โดยมีเป้าหมายช่วยผู้ประกอบการทำตลาด 2,056 ราย สร้างมูลค่าการค้า 517.60 ล้านบาท

ส่วนการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ให้เข้าสู่เวทีการค้าระหว่างประเทศ กรมฯ มีเป้าหมายที่จะอบรม สัมมนา และพัฒนาผู้ส่งออกรายใหม่จำนวน 13,170 ราย เช่น การพัฒนาผู้ประกอบการเข้าสู่การค้าออนไลน์ระหว่างประเทศ การผลักดัน SMEs ผู้ผลิตสินค้าชุมชน เป็นผู้ส่งออกรุ่นใหม่ การจัดทำโครงการ Salesman จังหวัด Go Inter รุ่นที่ 2 และการผลักดันนิสิต นักศึกษา ในโครงการ From Gen Z to be CEO ที่จะมีการดำเนินการต่ออย่างเข้มข้น