“หุ้น” ติดดอย ควรทำอย่างไร ลงทางไหนดี ?

“หุ้น” ติดดอย ควรทำอย่างไร ลงทางไหนดี ?

เล่น "หุ้น" ต้องรู้! เปิดเทคนิคจัดการ "พอร์ตหุ้น" จากผู้เชี่ยวชาญ เมื่อต้องเผชิญกับความหนาวเหน็บบนยอด "ดอย" พร้อมแนวทางคัดเลือก "หุ้นดี" เหมาะกับการเติบโตในปี 2022

แค่ได้ยินคำว่า “ติดดอย” หลายคนก็รู้สึกหนาวจนขนลุก และหลายครั้งก็สับสนว่าควรจะจัดกับตัวแดงเถือกที่ปรากฏบนพอร์ตอย่างไรดี

บ้างก็ พยายามแก้ไขด้วยการปรับกลยุทธ์ ส่วนบ้างก็ยึดมั่นในหลักการ "ไม่ขาย..ไม่ขาดทุน" ทิ้งพอร์ตไว้นิ่งๆ หวังรอวันกลับมาเขียวอีกครั้ง แต่ก็มีหลายครั้งที่ยิ่งปล่อยกลับยิ่งหนาวเหน็บกว่าเดิม

สำหรับมือใหม่ลงทุนหุ้นและยังค้างเติ่งอยู่บนดอย โดยยังไม่รู้ว่าจะลงมาด้วยวิธีไหนดี “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวน สุทธิชัย คุ้มวรชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด กับเทคนิคที่จะช่วยให้พอร์ตของเรากลับมาเขียวได้อีกครั้ง หรืออย่างน้อยก็ไม่แดงจนพอร์ตแตก!

“หุ้น” ติดดอย ควรทำอย่างไร ลงทางไหนดี ?
ภาพประกอบข่าว ไม่เกี่ยวกับราคาในปัจจุบัน

  •  สัญญาณฟ้องว่า "พอร์ตหุ้น" ของคุณไม่ปลอดภัย!  

สุทธิชัย กล่าวว่า สัญญาณที่กำลังบ่งบอกว่าพอร์ตของเราไม่ปลอดภัยแล้ว คือ ความไม่เข้าใจ” ในหุ้นที่เรากำลังลงทุน ซึ่งทำให้ยากที่จะจัดการเมื่อตกอยู่ในจุดที่การลงทุนไม่เป็นไปตามคาด เช่น 

- ไม่รู้จักหุ้น: ลงทุนโดยไม่รู้จักหุ้นตัวนั้นจริงๆ อาจจะซื้อหุ้นตามที่ได้ยินมา และไม่ได้ศึกษาเนื้อแท้ของธุรกิจว่าเป็นอย่างไร 

- ไม่รู้มูลค่าของหุ้น: ไม่รู้ว่าหุ้นที่ถืออยู่เป็น Valuation ถูกหรือแพง

-ไม่รู้เทคนิค: ซื้อตามเทคนิค แต่เวลาลงไม่ได้ขายตามเทคนิค

- ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น: เมื่อราคาหุ้นลงแล้ว ทุนแล้ว เราไม่รู้ว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง เวลาลงแรงก็หวังว่าหุ้นจะขึ้น แต่กลับลงมาเรื่อยๆ จนติดดอยหนักกว่าเดิม

“หุ้น” ติดดอย ควรทำอย่างไร ลงทางไหนดี ?

  •   "ติดดอยหุ้น" หาทางลงอย่างไร ? 

“หลายคนคิดว่าเวลาที่ติดดอย ไม่ขายไม่รับขาดทุน แต่ในบางครั้งพื้นฐานหุ้นเปลี่ยนก็ยิ่งขาดทุนลงไปอีก ยิ่งขาดทุนมากเท่าไรก็ยิ่งทำให้การแก้พอร์ตยากขึ้น เช่น เวลาราคาตกลงมา 50% ถ้าจะให้กลับมาที่เดิมจะต้องกลับมาบวกถึง 100%”

ดังนั้น สุทธิชัย จึงแนะนำว่าแทนที่จะปล่อยให้พอร์ตทิ้งไว้ เมื่อรู้ตัวว่าหุ้นกำลังติดดอย สิ่งแรกที่ควรทำคือ "ตั้งสติ แล้วย้อนดูหุ้นในพอร์ตทีละตัว" โดยเริ่มพิจารณาข้อมูลของหุ้นเบื้องต้นด้วยการ "เช็คอดีตและประเมินอนาคตของหุ้น"

หลายคนคิดว่าเวลาที่ติดดอย ไม่ขายไม่รับขาดทุน แต่ในบางครั้งพื้นฐานหุ้นเปลี่ยนก็ยิ่งขาดทุนลงไปอีก
ยิ่งขาดทุนมากเท่าไรก็ยิ่งทำให้การแก้พอร์ตยากขึ้น

เช็คอดีต ประเมินอนาคต เทคนิคประเมินหุ้นติดดอย

"ไล่ย้อนดูว่าเราซื้อหุ้นตัวนี้เพราะอะไร วันนี้ที่มันลงมายังมีปัจจัยเป็นเหมือนตอนแรกที่ซื้อหรือไม่ ถ้าไม่เป็นอย่างที่คิดแล้วต้องดูต่อไปว่า สัญญาณของหุ้นแต่ละตัวนั้นเริ่มไม่มีอนาคตหรือไม่ อาจประเมินจากการตอบคำถามเหล่านี้ เช่น 

- ผลประกอบการยังดีอยู่ไหม ?
- ธุรกิจจะยังไปต่อได้หรือไม่ มีอะไรที่เปลี่ยน หรือจะถูกดิสรัปหรือเปล่า ?
- ถ้าอุตสาหกรรมยังไปต่อได้ แต่กำไรของบริษัทไม่ดีด้วยตัวของมันเอง ต้องไปดูว่าในแง่ของโครงสร้างทางการเงินมีอะไรเปลี่ยน หนี้สินเยอะไปหรือไม่ ? เป็นต้น"

 ทางเลือกที่ 1 :  ตัดขาดทุน หรือ Cut loss 

กรณีแรก หากพิจารณาโดยรวมแล้วพบว่า ภาพของอุตสาหกรรมไม่ทำให้หุ้นกลับมาได้เร็ว พื้นฐานหุ้นเปลี่ยน หรือบริษัทไปไม่ถูกทางอาจจะต้องพิจารณาการ "ตัดขาดทุน (Cut loss)" โดยรู้ลิมิตการขาดทุนของตัวเองเอาไว้ประมาณ 10-20%

วิธีนี้แม้จะเจ็บปวดไปบ้าง แต่จะช่วยให้มีเงินใหม่เข้ามา ผันเงินออกจากหุ้นที่แนวโน้มไม่ดี สามารถนำไปทำอย่างอื่นหรือลงทุนอย่างอื่นได้ และช่วยให้พอร์ตแดงลดลงได้

 ทางเลือกที่ 2 : ซื้อถัวเฉลี่ยราคา 

อีกหนึ่งทางเลือก ในกรณีที่เช็คอดีตและดูอนาคตของหุ้นตัวนั้นๆ แล้วพบว่า หุ้นพื้นฐานเปลี่ยนหรือไม่ดีแค่ในระยะสั้น แต่ยังมีโอกาสกลับมาดีได้ในระยะยาว สามารถใช้วิธีถัวเฉลี่ยเข้าช่วยได้ 

โดยจุดที่เราถัวเฉลี่ย ควรเป็นจุดที่หุ้นกำลังกลับตัว (Turning point) เปลี่ยนเป็นขาขึ้นแล้ว โดยต้องดูทั้งพื้นฐาน หรือใช้เทคนิคเข้าช่วย

วิธีการสังเกตจุดกลับตัว เช่น การดูผลประกอบการพบว่ามีภาพที่ดีในระยะยาว แต่ผลประกอบการสั้นๆ 1-2 ไตรมาสยังแย่อยู่ แปลว่าหุ้นมีโอกาสลงต่อ จะต้องรอช่วงที่กำลังจะกลับตัวเป็นขาขึ้น เนื่องจากถ้าถัวเฉลี่ยช่วงขาลง แม้ราคาของหุ้นจะลดลง แต่เม็ดเงินที่เพิ่มขึ้น ทำให้พอร์ตขาดทุนเพิ่มขึ้นอีกเช่นกัน

"การถัวเฉลี่ยต้องมั่นใจแล้วว่าจะฟื้นตัว ผลประกอบการกำลังจะกลับตัว แล้วราคาหุ้นกลับเป็นขาขึ้น แบบนี้ถัวได้"

 ทางเลือกที่ 3: Short Against Port 

Short Against Port อธิบายง่ายๆ คือ การขายทิ้งไปบางส่วน แล้วไปซื้อในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ขาย ช่วยลดภาระการขาดทุนในพอร์ตไปได้

ในกรณีนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อ หุ้นนั้นยังพื้นฐานดีอยู่ และเชื่อว่าหุ้นยังมีโอกาสปรับลงในระยะเวลาข้างหน้า โดยเร่ิมจากการขายทิ้งไปบางส่วนเพื่อรอซื้อในช่วงที่ราคาต่ำลง ในจุดที่หุ้นกำลังจะกลับตัว (Turning Point) เช่นข้อมูลต่างๆ บ่งบอกว่า ผลประกอบการกำลังจะดีขึ้น ผลประกอบการบริษัทจะเริ่มดีขึ้น ต้นทุนเฉลี่ยจะลดลง เป็นต้น 

"คนที่เคยติดดอยหุ้นมา อาจจะต้องปรับทัศนคติในการลงทุนหุ้นแล้ว ว่ามีข้อผิดพลาดอะไรที่ผ่านมา เช่น ให้เวลาในการศึกษาข้อมูลไม่พอ ศึกษาให้มากขึ้น ทำการบ้านเยอะขึ้น ดูไปถึงงบการเงินบริษัท และอุตสาหกรรม

ถ้าเป็นไปได้มีการพบนักลงทุน Opportunity day เป็นโอกาสไปพบผู้บริหารได้ หรือถ้าไม่ใช้หุ้นเล็กมากๆ ให้ลองดูบทวิเคราะห์ในตลาด สมาคมนักวิเคราะห์ เช่น Settrade จะมาเป็นตัวช่วยยืนยัน หรือเอามาประกอบว่าเขาคิดยังไง เราคิดยังไง" สุทธิชัย กล่าว

“หุ้น” ติดดอย ควรทำอย่างไร ลงทางไหนดี ?

  •  คาดการณ์ทิศทางตลาดหุ้นปี 2565 

สุทธิชัย คาดการณ์ว่า ปี 2565 ภาพเศรษฐกิจโลกเริ่มกลับมาเป็นปกติมากขึ้น ประเทศพัฒนาแล้วเริ่มเห็นแนวโน้มการชะลอตัว ส่วนประเทศเกิดใหม่จะเริ่มเห็นการฟื้นตัว  เงินเฟ้อที่เป็นประเด็นปัญหาอยู่ ณ ตอนนี้ คาดว่าจะคลายตัวช่วงครึ่งหลังปี 2565 

กลุ่มธุรกิจที่จะเป็นตัวผลักผลประกอบการให้ฟื้นในปีหน้าคาดว่าจะเป็นตัว คอมเมิร์ซ อาหารและเครื่องดื่ม อสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว การเดินทางในประเทศ รถไฟฟ้า น่าจะได้เห็นภาพที่ขาดทุนน้อยลง กำไรมากขึ้น

  •  กลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ และธีมลงทุนหุ้นปี 2565 

ส่วนอุตสาหกรรมที่น่าสนใจในปี 2565 ที่มองว่าราคายังไม่สูงเกินไปแล้วมีแนวโน้มปรับฐานสูงขึ้นได้ ได้แก่ กลุ่มพาณิชย์, การสื่อสาร และธนาคาร 

สำหรับธีมหลักในการลงทุน 2022 สุทธิชัย แนะนำให้เลือกหุ้นจาก 4 ปัจจัย 

1. หุ้นที่มีอำนาจในการต่อรองราคาสูง ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสามารถที่จะส่งต่อไปได้ เพื่อที่จะรักษา margin ให้ยังดีอยู่

2. หุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น เนื่องจากต่างประเทศเริ่มขึ้นดอกเบี้ยประเทศไทยน่าจะไปในมุมเดียวกัน

3. หุ้น Quality หรือหุ้นดี 

4. หุ้นที่ยังเติบโตที่ราคายังสมเหตุสมผล