เดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนเฟส 2 “พลังงาน” ยืนยันคลอดแผนปีนี้

เดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนเฟส 2 “พลังงาน” ยืนยันคลอดแผนปีนี้

“พลังงาน” จับมือกระทรวงเกษตรฯ ศึกษาพื้นที่โรงไฟฟ้าชุมชนเฟส 2 จำนวน 400 เมกะวัตต์ คาด มี.ค.นี้ สรุปพื้นที่เหมาะสม

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนระยะที่ 2 (เฟส 2) ปริมาณ 400 เมกะวัตต์ จะประกาศนโยบายปลายปี 2565 หรืออย่างช้าต้นปี 2566 เพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบ 

ทั้งนี้ ได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ศึกษาพื้นยุธศาสตร์ ประกอบด้วย 1.พื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจที่ราคาขายขาดทุนและรัฐต้องตั้งงบอุดหนุนสูง 2.พื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงหรืออยู่ปลายสาย

รวมทั้งเมื่อทราบพื้นที่จะดูว่าควรปลูกพืชใดให้สอดคล้องนโยบายกระทรวงเกษตรฯ และสอดคล้องความต้องการไฟฟ้า คาดว่าในเดือน มี.ค.นี้ จะได้ข้อมูลพื้นที่ ส่วนรูปแบบของผลประโยชน์ชุมชนอาจนำแนวทางผลประโยชน์ของโรงไฟฟ้าชุมชนนำร่อง เช่น ให้วิสาหกิจชุมชนมีหุ้น 10% เข้ามาใช้ในเฟส 2 ด้วย

“การประมูลอาจเป็นการประมูลพื้นที่ใครพื้นที่มันเพราะพื้นที่แตกต่างกัน บางพื้นที่อาจทำได้ 2 เมกะวัตต์ บางพื้นที่อาจได้ 8 เมกะวัตต์ หรืออาจใช้วิธีแบ่งพื้นที่”

นายประเสริฐ กล่าวว่า เบื้องต้นมองว่าถ้าเป็นพื้นที่ปลายสายการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนจะคุ้มค่ากว่า ซึ่งปัญหาที่พบคือไม่มีใครทราบได้ว่าพืชเศรษฐกิจราคาจะตกต่ำเมื่อไหร่ โดยจะเห็นได้ชัดเจน คือ การปลูกข้าวในช่วงนี้ชาวนาพบปัญหาขาดทุนแม้จะได้รับเงินเยียวยาถือว่าไม่คุ้มทุน ซึ่งหากโรงไฟฟ้าชุมชนเกิดขึ้น เกษตรกรอาจแบ่งพื้นที่ทำนามาปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อให้เกิดรายได้ทดแทน

นอกจากนี้ ปัจจุบันราคาค่าไฟแพงแต่โรงไฟฟ้าชุมชนถูกกว่าค่าไฟที่มาจากแก๊ส ดังนั้น ต้องเร่งให้โรงไฟฟ้าชุมชนจ่ายไฟได้สม่ำเสมอ ซึ่งต้องดูพื้นที่ด้วยเช่นกันและหากบริหารจัดการได้จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

“ยิ่งพื้นที่ที่ไฟเข้าไม่ถึงแล้วการทำระบบไมโครกริดจะดีมาก ทำควบคู่กับโซลาร์จะช่วยเรื่องความต้องการขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลเพราะหากเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายการเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซลจะเกิดต้นทุนจากภาคขนส่ง การทำโรงไฟฟ้าจึงดีกว่า แต่ต้องดูพืชที่จะปลูกในพื้นที่ด้วย”

นายประเสริฐ กล่าวว่า สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) 43 รายปริมาณพลังงานไฟฟ้า 149.50 เมกะวัตต์นั้น กรมฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบให้ความรู้และรับฟังความเห็นพบว่าวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่อยากให้เปิดโรงไฟฟ้าชุมชนเร็ว โดยแต่ละพื้นที่ตั้งทีมงานให้ความรู้ มีพันธุ์กล้าให้พร้อมเก็บเกี่ยวพืชเกษตร และขนย้ายแบบครบวงจร

“ตอนนี้ได้ให้เวลาเจ้าหน้าที่เดินทางให้ครบทุกพื้นที่ภายในเดือนมี.ค.2565 เพื่อให้ทราบถึงปัญหา พร้อมทำแผนมอนิเตอร์ทั้ง 43 โครงการว่ามีการเริ่มปลูกพืชอะไรไปถึงไหนแล้วบ้าง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบการต่อต้าน มีแต่จะถามว่าเมื่อไหร่จะสร้างเสร็จ อย่างจังหวัดขอนแก่น สามารถดำเนินการได้ทันที เพราะมีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ในขณะที่พื้นที่อื่น ก็พร้อมเช่นกัน" นายประเสริฐ กล่าว

ทั้งนี้ ในการเตรียมพร้อมตั้งโรงไฟฟ้าเบื้องต้นจะใช้เวลาสั่งอุปกรณ์ จัดทำประชาพิจารณ์ รวมถึงขั้นตอนการขอใบอนุญาตไม่เกิน 2 ปี มั่นใจว่าน่าจะเปิดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ทันกำหนดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 3ปี หรือภายในวันที่ 21 ม.ค.2568