เปิดศักราชใหม่ “ระบบขนส่งสาธารณะไทย” อะไรขึ้นราคาบ้าง ?  

เปิดศักราชใหม่  “ระบบขนส่งสาธารณะไทย” อะไรขึ้นราคาบ้าง ?  

ระบบขนส่งสาธารณะไทยแห่ปรับขึ้นราคาค่าโดยสารรับปี 2565 หลังเจอวิกฤตโควิด-19 และต้นทุนน้ำมันสูงต่อเนื่อง "เรือแสนแสบ" รับแบกต่อไม่ไหว ขาดทุนทุกเดือน

ต้อนรับปี 2565 ราคาสินค้าแห่ขึ้นราคาทั้งอุปโภค บริโภค รวมไปถึงบริการขนส่งสาธารณะ จนเกิดเป็นกระแสแฮชแท็ก “แพงทั้งแผ่นดิน” ที่วิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นนี้กันอย่างต่อเนื่องในสังคมออนไลน์ วันนี้มาเจาะลึกค่าบริการขนส่งสาธารณะที่ถือเป็นค่าครองชีพประชาชน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร มีอะไรขึ้นราคาบ้าง ? และจะส่งผลต่อค่าครองชีพอย่างไร

เริ่มในช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา "รถไฟฟ้าบีทีเอส" ประเดิมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับค่าครองชีพของประชาชน บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ออกมาระบุว่า บีทีเอสมีความจำเป็นต้องยกเลิกโปรโมชั่นบัตรโดยสารรายเดือนในวันที่ 30 ก.ย.2564 ซึ่งเกิดจากการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป มีความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ผู้โดยสารใช้งานบัตรโดยสารรายเดือนได้ไม่คุ้มค่า

อย่างไรก็ดี บีทีเอสไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงราคาค่าโดยสาร โดยมีกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เรียกเก็บในเส้นทางสัมปทาน 23.5 กิโลเมตร จากสถานีหมอชิตไป สถานีอ่อนนุช และจากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติไปสถานีสะพานตากสิน รวมส่วนต่อขยายจากสถานีสะพานตากสิน ถึงสถานีวงเวียนใหญ่ ยังคงอยู่ในอัตรา 16-44 บาท

ทั้งนี้ แม้บีทีเอสจะยืนยันว่าไม่ได้มีการปรับอัตราค่าโดยสารมีเพดานราคาอยู่ที่ 16 – 44 บาท แต่ประชาชนส่วนใหญ่มีความเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เพราะกรณีประชาชนเดินทางระยะไกล มีเส้นทางเชื่อมต่อหลายช่วง จากเส้นทางสัมปทานไปยังเส้นทางส่วนต่อขยาย จะต้องเสียค่าโดยสารเพิ่มขึ้น หากเทียบกับบัตรโดยสารรายเดือน

เปิดศักราชใหม่  “ระบบขนส่งสาธารณะไทย” อะไรขึ้นราคาบ้าง ?  

หลังจากนั้น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ประกาศปรับขึ้นค่าผ่านทางทางด่วน ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2564 สายศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นทุก 5 ปี ตามสัญญา โดยปรับค่าผ่านทางจากอัตรา แบ่งเป็น

  • รถประเภท 4 ล้อ เดิม 50 บาท ปรับเป็น 60 บาท
  • รถประเภท 6 - 10 ล้อ เดิม 80 บาท ปรับเป็น 105 บาท
  • รถมากกว่า 10 ล้อ เดิม 115 บาท ปรับเป็น 150 บาท

ภายหลังประกาศปรับขึ้นราคา กระทรวงคมนาคมได้ขอความร่วมมือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เอกชนคู่สัญญาเพื่อหาแนวทางลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน คลอดออกมาเป็นโปรโมชั่นจำหน่ายคูปองเล่มละ 20 ใบ ใช้เป็นค่าผ่านทางได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2564 - 30 พ.ย.2565 

และล่าสุดระบบขนส่งสาธารณะตื่นตัวปรับราคาพร้อมโควิด-19 ระลอกใหม่ คือ เรือด่วนคลองแสนแสบ ที่ให้บริการโดย บริษัท ครอบครัวขนส่ง จำกัด ประกาศขอปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร 1 บาท ตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค.2565 เป็นต้นไป เนื่องจากสถานการณ์ในช่วงโควิด-19 ระบาด ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นเกินกว่าลิตรละ 25 บาท และปริมาณผู้โดยสารลดลงจากวันละ 5 หมื่นคน เหลือวันละ 9 พันคน ทำให้บริการขาดทุนทุกเดือนเดือนละ 3-5 ล้านบาท 

อย่างไรก็ดี แม้ว่ากรมเจ้าท่าในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลบริการเรือด่วนได้ออกมาระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีเรือโดยสารประเภทอื่นๆ ยื่นขอปรับราคา แต่หากจะมีการปรับ ก็ต้องคำนึงปรับขึ้นจากการพิจารณาราคาน้ำมัน เพราะน้ำมันเป็นต้นทุนหลักของการภาคขนส่ง เป็นค่าใช้จ่ายหลักของผู้ให้บริการเดินเรือ

เห็นอย่างนี้แล้วคงต้องจับตาดูต่อไปว่า ประชาชนจะต้องเจอพิษ “แพงทั้งแผ่นดิน” เพิ่มขึ้นอีกกี่บริการ หรือกระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล จะออกมาแอคชั่นขอความร่วมมือผู้ประกอบการ แตะเบรกงดขึ้นราคา ..

เปิดศักราชใหม่  “ระบบขนส่งสาธารณะไทย” อะไรขึ้นราคาบ้าง ?