ค่าครองชีพสูง "รัฐบาล" สั่งตรึงราคาสินค้าอะไรบ้าง?

ค่าครองชีพสูง "รัฐบาล" สั่งตรึงราคาสินค้าอะไรบ้าง?

รัฐบาลงัดแผนระยะสั้นแก้สินค้าราคาแพง ค่าครองชีพพุ่ง ตรึงราคาสินค้าพลังงาน - อาหาร กระทรวงพลังงานขยายเวลาก๊าซหุงต้มใช้ราคาเดิมถึง 31 มี.ค. ส่วน NGV ยืนราคาเดิมถึง 15 มี.ค. พาณิชนย์สั่งไก่สดห้ามขึ้นราคา 6 เดือน ไข่ไก่หน้าฟาร์ม 2.90 บาท/ฟอง ขอความร่วมมือมาม่าไม่ขึ้นราคา

ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 ส่งผลกระทบต่อราคาค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะสินค้าในหมวดพลังงานได้แก่ ราคาน้ำมัน ราคาก๊าซ และหมวดอาหารสดอย่างเนื้อหมู ไข่ไก่ ไก่สด ฯลฯ 

การปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าที่เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจพึ่งจะฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด -19 ได้ไม่นาน รายได้ของประชาชนยังไม่เพิ่มขึ้น  เมื่อบวกกับหนี้ครัวเรือนที่สูงทำให้ภาครัฐต้องยื่นมือเข้ามาช่วยกำหนดมาตรการในการตรึงราคาสินค้าหลายชนิดเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ยอมรับว่าราคาสินค้าแพงส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ โดยรัฐบาลพร้อมจะเข้าไปดูแลแก้ปัญหาโดยตรึงราคาสินค้าบางส่วนไว้เพื่อให้กระทบกับประชาชนน้อยที่สุด และเชื่อมั่นว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยในปีนี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 1-3% 

ค่าครองชีพสูง "รัฐบาล" สั่งตรึงราคาสินค้าอะไรบ้าง?

ในช่วงที่สินค้าต่างๆราคาปรับตัวขึ้นเครื่องมือที่รัฐบาลใช้แก้ปัญหาได้ทันทีคือการประกาศ "ตรึงราคาสินค้า"  "กรุงเทพธุรกิจ" รวบรวมว่าถึงวันนี้มีสินค้าอะไรที่รัฐบาลได้มีการประกาศตรึงราคาไปแล้วบ้าง 

ตรึงราคาก๊าซลดต้นทุนพลังงาน

มติของที่ประชุมคณะกรรมการการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้สั่งการให้ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ต่ออีก 2 เดือนที่ราคา 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 มกราคม 2565 เป็นวันที่ 31 มีนาคม 2565 

นอกจากนี้ยังขอความอนุเคราะห์ ให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ให้คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ที่ 15.59 บาท/กิโลกรัม และคงราคาขายปลีกก๊าซ NGV โครงการ "เอ็นจีวี เพื่อลมหายใจเดียวกัน" ให้กับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ 13.62 บาท/กิโลกรัม ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2565

พาณิชย์สั่งตรึงราคาไก่ ตรึงราคาไข่หน้าฟาร์ม ตรึงราคามาม่า

เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2565 กรมการค้าภายใน ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่วมกัน กำหนดราคาจำหน่ายไก่มีชีวิตหน้าฟาร์ม และราคาจำหน่ายปลีกชิ้นส่วนไก่สด เป็นระยะเวลา 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เป็นต้นไป โดยสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2565

นอกจากนั้นยังสั่งการให้มีการตรึงราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม ที่ 2.90 บาท ไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย 

นอกจากนั้นกระทรวงพาณิชย์ได้มีการหารือกับบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตรา "มาม่า" เพื่อไม่ให้มีการปรับขึ้นราคามาม่าซองประเภทที่เป็นสินค้ามวลชนและเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในท้องตลาดทั้งประเทศ เพื่อเป็นการช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบัน