“ภาษี”ภาระของใคร เมื่อใครๆไม่อยากจ่าย

“ภาษี”ภาระของใคร เมื่อใครๆไม่อยากจ่าย

การจัดเก็บภาษีเป็นภารกิจของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการให้รัฐมีค่าใช้จ่ายในกิจการของรัฐ คงต้องพิจารณาว่าภาษีเงินได้ที่เกิดจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล สมควรได้รับการยกเว้นหรือไม่ เพื่อให้เห็นภาพชัดว่าภาษีควรเป็นภาระของใคร?

การจัดเก็บภาษีเป็นภารกิจพื้นฐานของรัฐบาลที่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้รัฐมีงบประมาณใช้จ่ายในกิจการของรัฐที่เป็นภารกิจเพื่อส่วนรวมครอบคลุมหลายด้าน เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา ความมั่นคง รวมทั้งยังมีการใช้ภาษีเพื่อใช้รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการใช้ภาษีเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้และทรัพย์สิน ซึ่งที่ผ่านมามีการประกาศใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงการประกาศใช้ภาษีมรดกที่แม้จะยังจัดเก็บไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย 

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ประกาศใช้ในจังหวะที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมามีความตั้งใจที่จะนำมาใช้แทนภาษีโรงเรือนและที่ดิน รวมทั้งมีความคาดหวังว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำลงได้ แต่ต้องมีการลดภาษีลง 90% ในปี 2563-2564 เพราะประชาชนและผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 และำลังมีเสียงเรียกร้องที่จะให้ลดต่อในปี 2565-2566

ในขณะที่กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างภาษี และมีภาษีหลายรายการที่อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทุกครั้งจะมีการจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ขึ้นมาจะมีเสียงร้องคัดค้าน โดยภาษีประเภทใหม่ที่อยู่ในความสนใจของสังคมในขณะนี้ คือ ภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่มีการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 และภาษีเงินได้ที่เกิดจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งถือเป็นแหล่งลงทุนและแหล่งรายได้ใหม่ของตลาดทุนที่กฎหมายยังตามไปไม่ถึง

เสียงคัดค้านในการเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ มีการยกเหตุผลถึงการได้ไม่คุ้มเสียเพราะจะกระทบกับมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ และจะทำให้นักลงทุนต่างชาติหันความสนใจไปลงทุนในประเทศอื่น จึงทำให้หลายองค์กรเตรียมทำเรื่องเสนอถึงกระทรวงการคลังเพื่อขอให้ทบทวน ส่วนการจัดเก็บภาษีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล มีการยกเหตุผลถึงการจัดเก็บภาษีที่จะเป็นปัจจัยลดความน่าสนใจของการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย

ปัจจุบันมีการยกเว้นภาษีให้ผู้มีเงินได้บางกลุ่ม เช่น เกษตรกร รวมถึงการยกเว้นให้กับผู้มีเงินได้บางกลุ่ม เช่น ผู้มีเงินได้สุทธิต่อปีไม่เกิน 150,000 บาท ซึ่งการที่กระทรวงการคลังจะดำเนินการคงต้องพิจารณาว่าผู้มีเงินได้จากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และภาษีเงินได้ที่เกิดจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล สมควรได้รับการยกเว้นหรือไม่ เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าภาษีควรเป็นภาระของใคร และใครควรได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษี