“คลัง” ลุยภาษีคริปโทฯ-หุ้น “อาคม” อ้างเพื่อความเป็นธรรม-ขยายฐานภาษี

“คลัง” ลุยภาษีคริปโทฯ-หุ้น “อาคม” อ้างเพื่อความเป็นธรรม-ขยายฐานภาษี

รมว.คลังยันเดินหน้าเก็บภาษีซื้อขายหุ้นและคริปโทฯ อ้างสร้างความเป็นธรรม ขยายฐานภาษี เผยยังไม่สรุปรูปแบบภาษี "สรรพากร" ผนึกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย วางแนวปฏิบัติจัดเก็บ เปิดช่องรับฟังความเห็น “กรณ์-สุพันธ์” ออกโรงค้าน หวั่นเศรษฐกิจเสียหาย

แม้จะมีเสียงคัดค้านการจัดเก็บภาษีซื้อขายหุ้น (Financial Transaction Tax) ในอัตรา 0.1% และจัดเก็บภาษีกำไร (Capital Gain Tax) จากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี่) แต่กระทรวงการคลัง ยังคงยืนยันจะเก็บภาษีทั้ง 2 ประเภทต่อไป เพียงแต่จะทำให้การจัดเก็บมีความชัดเจนมากขึ้น ขณะที่ บล.เอเชียพลัส คาดว่า ภาษีหุ้นจะทำรายได้ให้รัฐบาลราว 21,300 ล้านบาท

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นและคริปโทเคอร์เรนซี่ ยังคงเดินหน้าต่อไป เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบ คนที่ใช้ทรัพยากร หรือคนที่มีรายได้ ก็ควรมีหน้าที่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐ และเป็นการขยายฐานการจัดเก็บภาษี เพื่อนำเม็ดเงินมาพัฒนาประเทศ แต่ที่มีการออกข้อกำหนดให้ยกเว้นภาษีบางเรื่องนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดการลดต้นทุนในภาคส่วนนั้นๆเป็นการชั่วคราว

“เราไม่ได้ขยายฐานภาษีมานาน แม้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวมากกว่าในอดีต แต่รายได้จากภาษีต่อจีดีพีไม่ได้เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรามีข้อยกเว้นทางภาษีจำนวนมาก เพื่อสนับสนุนในบางภาคส่วน แต่เมื่อการสนับสนุนมาระยะหนึ่งและถึงเวลาที่สามารถยืนได้ด้วยตัวเองการยกเว้นก็ควรลดลง”

รมว.คลัง กล่าวว่า การที่รัฐเข้ามาเก็บภาษีคริปโทฯนั้น ไม่ได้ต้องการควบคุมการขยายตัวของคริปโทฯ แต่เนื่องจากภาษีตัวนี้ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายในปัจจุบันอยู่แล้ว

ปัจจุบันประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร ให้อำนาจกรมสรรพากร จัดเก็บภาษีรายได้ที่เกิดจากการขายคริปโทฯ โดยกฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2561 ส่วนภาษีจากการซื้อขายหุ้น ก็อยู่ในกฎหมายของกรมสรรพากรแต่ได้ออกกฎหมายยกเว้นให้มา 30 ปีแล้ว

แนวทางการจัดเก็บภาษีคริปโทฯ นั้น ขณะนี้กรมสรรพากร กำลังหารือกับสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนและทำให้การจัดเก็บภาษีและการยื่นแบบง่ายขึ้น ซึ่งการเก็บภาษีคริปโทฯนั้น ปัจจุบันมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว และปีที่แล้วก็มีคนที่ยื่นเสียภาษีตัวนี้แล้วด้วย

“การที่รัฐเข้ามาเก็บภาษีคริปโทนั้น ไม่ได้ต้องการควบคุมการขยายตัวของคริปโทฯ แต่เนื่องจากภาษีตัวนี้ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายในปัจจุบันอยู่แล้ว ส่วนการเก็บภาษีจากการขายหุ้นก็เช่นกัน มีการกำหนดไว้ในกฎหมายเพียงแต่ยกเว้นให้เท่านั้น”

ยังไม่สรุปเก็บภาษีแบบไหน

นายอาคม กล่าวว่า เรื่องการจัดเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้นนั้น ในต่างประเทศมีการเก็บจาก Capital gain เช่นเดียวกับภาษีคริปโทฯ ที่มีการเก็บภาษีจาก capital gain หรือจาก Transaction ซึ่งเรากำลังพิจารณาในเรื่องแนวทางการจัดเก็บภาษีทั้ง 2 ตัวนี้ว่าจะเลือกแนวทางใด

ส่วนข้อเสนอของภาคเอกชนในเรื่องการเก็บภาษีคริปโทฯ ที่ต้องการให้นำผลขาดทุนมาหักออกจากผลกำไร (off set) ได้ด้วยนั้น นายอาคม กล่าวว่า เรากำลังพิจารณาในเรื่องแนวทางการจัดเก็บ ซึ่งแนวทางการนำขาดทุนมาหักกลบ ก็อยู่ในหนึ่งของแนวทางที่กำลังพิจารณาอยู่ด้วย 

ขณะที่กระแสข่าวอาจจะมีการยกเว้นภาษีคริปโทฯกรณีรายได้ต่อปีไม่ถึง 2 แสนบาทนั้น เขาปฏิเสธที่จะตอบในเรื่องนี้ เพียงแต่ระบุว่า เป็นเรื่องที่กรมสรรพากรกำลังพิจารณาในรายละเอียด

ส่วนภาษีจากการขายหุ้นนั้น ก็มีแนวทางว่าจะเก็บจากการขายต่อครั้ง หรือจะเก็บจาก Capital gain ซึ่งถ้าจัดเก็บจาก Capital gain จะกระทบนักลงทุนรายใหญ่ เพระมีการซื้อขายสูง ซึ่งยังไม่ได้สรุปว่าจะใช้แนวทางใด แต่ประเทศส่วนใหญ่ จะเลือกเก็บวิธีใดวิธีหนึ่ง แต่การจัดเก็บจาก Capital gain จะมีความยุ่งยากในเรื่องของ Data ที่ต้องมีความรวดเร็ว เช่น สหรัฐฯที่เก็บจาก Capital gain ซึ่งระบบสามารถบันทึกข้อมูลการซื้อขายแบบทุกนาทีได้ 

สรรพากรตั้งทีมศึกษาแนวจัดเก็บ

นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะตัวแทนจากกรมสรรพากรในคณะทำงาน 3 ฝ่าย เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้ประชุมหารือร่วมกับนายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2565 ประเด็นเรื่องของการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัลในทางปฏิบัติที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากร

 ข้อสรุปจากที่ประชุม คือ จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง กรมสรรพากร และสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย พร้อมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัลที่ครอบคลุมผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักเทรด นักขุด ผู้ประกอบธุรกิจทั้งที่มีใบอนุญาตและไม่มีใบอนุญาต รวมถึงรับความเห็นจากนักวิชาการด้านภาษีอากร

ในเรื่องของการรับฟังความเห็นนั้น ที่ประชุมได้มีการหารือและสรุปร่วมกันว่า จะมีการเผยแพร่แบบสอบถามที่มาจากการทำงานร่วมกันของคณะทำงานในรูปแบบของตัวเลือกในการปฏิบัติ แทนที่จะเป็นคำถามปลายเปิด เพื่อสะดวกต่อการนำเสนอแนวทางปฎิบัติที่เป็นรูปธรรมชัดเจน โดยสมาคมฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลทำการจัดส่งให้ทุกฝ่ายที่อยู่ในชุมชนของสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ช่วยกันเสนอแนวทางก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่อีกครั้งภายในเดือนม.ค.2565 

อย่างไรก็ดีสำหรับแนวทางปฎิบัตินั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย การสร้างแนวทางการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความชัดเจน และเป็นแนวทางการปฏิบัติที่มาจากการสรุปร่วมกันจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ได้มีการเปิดรับฟัง การผ่อนปรนกฎระเบียบบางข้อ หากสามารถทำได้ที่ไม่ขัดต่อกฏหมายและกฎระเบียบต่างๆ และการร่วมกันสร้างแนวทางที่จะส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยในอนาคต โดยการดำเนินการทั้งหมดจะเกิดความชัดเจน และไม่กระทบต่อการยื่นภาษีของปี 2564

นายศุภกฤษฏ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวว่า ประเด็น เรื่องของภาษีเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อวงการสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอย่างมาก อยากให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันสร้างแนวทางปฎิบัติที่จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมนี้ให้สามารถเติบโตไปได้แม้อาจจะไม่สามารถตอบความต้องการของทุกคนได้ทั้งหมด แต่อยากให้ทุกฝ่ายมองถึงประโยชน์ส่วนรวมซึ่งเชื่อว่าหากทุกฝ่ายให้ความร่วมมือก็จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยให้สามารถเดินไปข้างหน้าได้

"กรณ์”ค้านเก็บภาษี”คริปโตฯ” 

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้ประกาศถึงวิธีการคำนวณภาษีคริปโทฯ โดยคิดกำไรที่เกิดขึ้นจากการขายรายธุรกรรมโดยไม่สามารถนำรายการที่ขาดทุนมาหักลบได้ 

โดยคำนวณจากเงินได้(กำไร) แล้วหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ตามที่กฎหมายกำหนด และไม่จบเพียงแค่นั้น แต่ยังต้องนำเงินได้(กำไร) มารวมกับเงินได้อื่นๆ พร้อมยื่นภาษีประจำปี ซึ่งแน่นอนว่ามีเสียงสะท้อนออกมาในด้านลบจากฝ่ายต่างๆ

เขากล่าวว่า ก่อนที่จะวิเคราะห์ประเด็นเรื่องภาษีกำไร อีกเรื่องที่นักลงทุนคริปโทฯควรจะต้องมีคำถามกับทางสรรพากร แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงคือประเด็นเกี่ยวกับการเก็บภาษี VAT เพราะสรรพากรเก็บ VAT เสมือนคริปโตเป็นสินค้า เพราะฉะนั้น ‘จะเกิดการจ่าย VAT สองเด้ง’ หากเรารับชำระการขายสินค้าเป็นคริปโทฯ เพราะนอกจากเสีย VAT ตอนขายสินค้าแล้ว เรายังต้องเสีย VAT จากการขายคริปโทฯเป็นบาทอีกด้วย

อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า กรมสรรพากรควรจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องได้นำเสนอและศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมกับประเทศต่อไป โดยอาจจะดูตัวอย่างในต่างประเทศที่มีการออกข้อกำหนดลักษณะนี้มาแล้วก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง capital gains tax, VAT/GST สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล

“ภาษีจากโลกดิจิทัลรายละเอียดเยอะ ความซับซ้อนที่ต้องทำความเข้าใจมีมาก เรื่องแบบนี้ต้องให้ผู้เกี่ยวข้องที่รู้จริงมาถกหาทางออกร่วมกัน"

กกร.ตั้งทีมศึกษาภาษีคริปโทฯ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า กกร. มอบหมายให้นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยและนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ไปรวบรายข้อมูลเพื่อนำมาหารือในการประชุมกกร.ในเดือน ก.พ.2565 

นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ต้องการให้มีการศึกษาการเก็บภาษีคริปโทฯให้รอบคอบ ซึ่งเรื่องนี้ส่วนใหญ่ยังไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอ ส่วนกรณีจะเก็บภาษีจากการขายหุ้น ก็เห็นว่ายังไม่สมควรเก็บภาษี ซึ่งตลาดทุนของไทยค่อนข้างสำคัญจึงไม่ต้องการให้ได้รับผลกระทบจากจัดเก็บภาษีหุ้น 

“การเก็บภาษีหุ้นอาจส่งผลกระทบมากกว่าผลดีและไม่คุ้มค่ากับจำนวนเงินภาษีที่ได้ ซึ่งการลงทุนของต่างประเทศมีสัดส่วน 30-40% ของตลาดหุ้นไทย ถ้าถอนออกจากตลาดหุ้นไทยทุก 10% จะสร้างความเสียหายให้ตลาดหุ้นมาก”

ซีอีโอ‘Binance’รวยสุดในแวดวงคริปโทฯ

ดัชนีมหาเศรษฐีพันล้านบลูมเบิร์ก จัดอันดับให้ “ฉางเผิง เจ้า" (Changpeng Zhao) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “CZ” เจ้าของ Binance แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีอันดับหนึ่งของโลก เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก ในวงการคริปโทเคอร์เรนซี และจัดให้อยู่ในทำเนียบมหาเศรษฐีของโลกในอันดับที่ 11 

รายงานของบลูมเบิร์ก ระบุว่า ฉางเผิง มีมูลค่าทรัพย์สิน 9.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ใกล้เคียงกับ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” นักลงทุนชื่อดังจากเบิร์กไชร์ แฮธะเวย์ ที่มีมูลค่าทรัพย์สิน 1.16 แสนล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตามมูลค่าสินทรัพย์ที่ 9.6 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นจำนวนทรัพย์สินที่ตรวจสอบได้ของฉางเผิงเท่านั้น ขณะที่วอลสตรีท เจอร์ นัล รายงานเมื่อเดือนพ.ย.ว่า มูลค่าคริปโทเคอร์เรนซีที่เขาถืออยู่ในมืออาจสูงถึงกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ และหากนับรวมมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด อาจทำให้เขาได้เข้าไปนั่งใน 10 อันดับมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกแล้วก็ได้

แซม แบงก์แมน ฟรีด ซีอีโอเอฟทีเอ็กซ์ แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทฯ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Binance กล่าวกับซีเอ็นเอ็นว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาวงการคริปโทฯ สร้างความมั่งคั่งอย่างมหาศาลชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน