"เน็กซ์" เปิดแผนปี 65 หวังขึ้นแท่นเบอร์ 1 ธุรกิจรถโดยสารประจำทาง

"เน็กซ์" เปิดแผนปี 65 หวังขึ้นแท่นเบอร์ 1 ธุรกิจรถโดยสารประจำทาง

“เน็กซ์” เปิดแผนปี 65 รุกธุรกิจรถโดยสารประจำทางตั้งเป้าขึ้นแท่นเบอร์ 1 หลังคุมต้นทุนเชื้อเพลิงถูกกว่าคู่แข่งในตลาด ชู 10 เส้นทางเชื่อมหัวเมืองทุกภูมิภาค ประเดิมอีอีซี กรุงเทพฯ-ชลบุรี มี.ค.นี้

นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX เปิดเผยว่า ในปี 2565 บริษัทฯ มีแผนขยายธุรกิจรถโดยสารประจำทางเพิ่มมากขึ้น โดยจะครอบคลุมหัวเมืองในทุกภูมิภาค เพื่อเพิ่มทางเลือกการเดินทางให้กับผู้โดยสาร ซึ่งจุดแข็งคือรถโดยสารไฟฟ้า เป็นเชื้อเพลิงที่ประหยัดพลังงาน และทำให้บริษัทฯ สามารถคุมต้นทุนเชื้อเพลิงได้มากกว่าผู้ประกอบการรายอื่น ทำให้สามารถเพิ่มความถี่ในการให้บริการ สร้างความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร

“เป้าหมายเราต้องการเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจรถโดยสารประจำทาง เพราะเรามองว่าจุดแข็งเรื่องรถโดยสารที่ใหม่ และสะดวกสบายจะตอบรับความต้องการของผู้โดยสาร และสิ่งสำคัญคือรถยนต์ไฟฟ้า เป็นเชื้อเพลิงที่ประหยัดกว่าหากเทียบกับน้ำมัน ทำให้เราสามารถบริการความถี่ได้มากกว่า ออกเดินทางได้โดยไม่ต้องรอผู้โดยสารเต็มคัน”

นอกจากนี้ จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางต้องลดต้นทุน ลดจำนวนรถโดยสาร และมีเลิกกิจการไปบ้าง ทำให้เป็นโอกาสในการเข้ามาทำธุรกิจประเภทนี้ โดยบริษัทฯ มองว่าปัจจุบันความต้องการเดินทางของผู้โดยสารยังมีสูงต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการเริ่มลดลง ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่จะเข้ามาขยายธุรกิจในช่วงนี้

ส่วนการแข่งขันของบริการขนส่งสาธารณะประเภทอื่นๆ เช่น รถไฟ รถไฟความเร็วสูง และสายการบิน บริษัทฯ ประเมินว่าขนส่งเหล่านี้ไม่สามารถตอบสนองการเดินทางของผู้โดยสารที่จะเดินทางเข้าพื้นที่ชุมชนได้มากพอ หากเทียบกับขนส่งทางถนนอย่างรถโดยสารประจำทาง ดังนั้นหากรถโดยสารประจำทางมีบริการที่ตอบสนองความสะดวกสบาย รถโดยสารใหม่ และมีความถี่เที่ยววิ่ง เชื่อว่าจะทำให้ธุรกิจรถโดยสารประจำทางกลับมาเติบโตอีกครั้ง

นายคณิสสร์ กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าผลิตรถโดยสารให้ได้จำนวน 470 คัน เพื่อขยายเส้นทางเดินรถ 10 เส้นทาง ซึ่งในขณะนี้การขอใบอนุญาตเส้นทางเดินรถเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แบ่งเป็น ภาคตะวันออกจำนวน 5 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-พัทยา กรุงเทพฯ-สัตหีบ กรุงเทพฯ-ศรีราชา กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา โดยได้จัดเตรียมรถโดยสารไฟฟ้าขนาดเล็ก (มินิบัส) ขนาด 7.6 เมตร จำนวน 20 ที่นั่ง จำนวน 150 คัน เส้นทางละ 30 คันให้บริการ ค่าโดยสารตามที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กำหนด ประมาณ 100-120 บาทต่อคนต่อเที่ยวตามระยะทาง

ทั้งนี้ คาดว่าจะได้รับความสนใจจากผู้โดยสารที่ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง หรือประมาณ 80% หรือ 16 คนต่อคันต่อเที่ยว เนื่องจากเส้นทางที่ให้บริการในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก และมีแหล่งท่องเที่ยว ทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทาง อีกทั้งบริษัทฯ ยังมั่นใจว่าจะมีนักลงทุนสนใจเข้ามาร่วมธุรกิจเปิดเส้นทางเดินรถในพื้นที่ดังกล่าวจำนวนมาก

“การขยายธุรกิจรถโดยสารประจำทางเรามองไว้หลายรูปแบบ ทั้งเดินรถเอง เปิดหาพันธมิตรเข้ามาเช่ารถโดยสารไปบริหารเอง หรือแม้แต่จะจ้างเราไปบริหารก็ได้ ซึ่งเส้นทางอีอีซีเชื่อว่าจะมีนักลงทุนสนใจจำนวนมาก เพราะที่ผ่านมาได้สอบถามความสนใจไปบ้างแล้ว พบว่ามีหลายรายที่สอบถามข้อมูลเข้ามา โดยหลังจากนี้เราจะคัดเลือกนักลงทุนที่มีความพร้อม มีความมั่นคงทางการเงิน เพื่อร่วมเป็นผู้ประกอบการในเส้นทางนี้”

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเรื่องสถานที่จอดรถ และจุดจอดรับส่งผู้โดยสาร โดยคาดว่าจุดจอดในกรุงเทพฯ จะมีต้นทางอยู่ที่ไบเทคบางนา เพื่อความสะดวกของผู้โดยสารในการเดินทางที่สามารถเชื่อมต่อระบบขนส่งที่หลากหลาย โดยเส้นทางในอีอีซี ประกอบด้วย กรุงเทพฯ-พัทยา กรุงเทพฯ-สัตหีบ กรุงเทพฯ-ศรีราชา คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ช่วงเดือน มี.ค.นี้

อย่างไรก็ดี ตามแผนบริษัทฯ ยังจะขยายเส้นทางไปยังภูมิภาคอื่นๆ อาทิ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-อุดรธานี กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี และกรุงเทพฯ-บุรีรัมย์ เส้นทางภาคตะวันตก 1 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-หัวหิน และภาคเหนือ 1 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-นครสวรรค์