ทางออกภาษี คริปโทฯ-หุ้น

ทางออกภาษี คริปโทฯ-หุ้น

การเก็บภาษี สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศได้ แต่ขณะเดียวกันต้องมีความเป็นธรรมกับกิจการนั้นๆ ด้วย จากกรณีการจัดเก็บภาษีคริปโทฯ-หุ้น กรมสรรพากรกำลังเร่งรือกับทุกฝ่าย เพื่อหาแนวทาง/หลักเกณฑ์ ให้มีความเหมาะสมและเป็นปัจจุบัน

หลักการสำคัญ "ภาษี" เป็นหัวใจสำคัญของการลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาประเทศ เพราะทุกการพัฒนาต้องมีรายได้มากพอ ถึงจะทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง ดังนั้น ไม่ว่าเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลใด เมื่อมีรายได้ ก็จำเป็นต้องเสียภาษี

แต่การจัดเก็บภาษีนั้น ต้องมีความเป็นธรรมกับกิจการนั้นๆ ขณะเดียวกัน ภาษีก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาได้เช่นกัน หากประเทศต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมอะไร อาจจะยกเว้นการจัดเก็บภาษีสินค้านั้นๆ อย่างเช่นกรณีของการลงทุนในหุ้น เป็นต้น หลายคนอาจลืมว่า เราไม่ได้ออกกฎหมายเก็บภาษีจากการลงทุนในหุ้น 

ที่จริงแล้วในประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2(7) ระบุชัดเจนกำหนดให้ธุรกรรมการค้าหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นธุรกิจที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 0.1% จากฐานรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ

 

แต่ปัจจุบันซื้อขายหุ้น ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 91/3 และพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับ 240 พ.ศ.2534 นั่นหมายความว่า กฎหมายให้เก็บ แต่ยกเว้นมา 30 ปีแล้ว หากจะเก็บใหม่ แค่ออกประกาศยกเลิก ไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ ไม่ต้องเข้าสภาให้เสี่ยงทางการเมือง

ขณะที่การจัดเก็บภาษี จะคิดภาษีจากกำไรการขายหรือการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซี กรมสรรพากรกำลังเร่งดำเนินการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาหาแนวทางในเรื่องของหลักเกณฑ์การให้มีความเหมาะสมและเป็นปัจจุบัน

คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค. 2565 เหตุที่บอกว่ากำลังหาแนวทางหลักเกณฑ์จัดเก็บเนื่องจากว่า มีกฎหมายชัดเจนออกมา 3 ปีแล้วว่าจะมีการจัดเก็บภาษี

ทั้งนี้ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 (การจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล)  ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2561 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป 

 

สาระสำคัญของพระราชกำหนดมี 2 ประการ ประการแรก กำหนดให้เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกัน ที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเฉพาะ ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)  

ประการที่สอง กำหนดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ซ) และ (ฌ) ในอัตรา15% ของเงินได้

แม้ทั้งสองธุรกิจ จะมีภาษีรองรับชัดเจน ทางออกของทั้งหุ้นและคริปโทฯ อย่างที่อธิบดีสรรพากรวางแนวทางไว้ สำรวจความคิดเห็น ฟังทุกฝ่าย ยึดถือประโยชน์สูงสุดกับประชาชนและทุกฝ่ายเป็นสำคัญ และเรายังเห็นว่า ทั้งสองธุรกรรมต้องประเมินผลกระทบ ผลประโยชน์ หลากหลายมิติ

ทั้งเรื่องความเป็นธรรมทางภาษี, ภาษีเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ, มิติเรื่องการสนับสนุนอุตสาหกรรมในอนาคต, การเก็บภาษีคริปโทฯ จะส่งผลให้เงินไหลออกจริงไหม ในภาวะที่โลกเคลื่อนย้ายทุนกันมากขึ้น

ทั้งหมดเป็นเรื่องใหม่มาก ขณะเดียวกันก็เป็นโจทย์ของคนรุ่นเก่าผู้ซึ่งทำหน้าที่กำกับนโยบาย ต้องคิดให้รอบคอบเพื่อไม่ให้ไทยสูญเสียโอกาสในตลาดโลก