RCEP โอกาสและความท้าทาย มองจากมุมพื้นที่ EEC

RCEP โอกาสและความท้าทาย มองจากมุมพื้นที่ EEC

RCEP จะเริ่มให้ปี 2565 และในปี 2564 ที่ผ่านไป โครงการ EEC ยังคงสามารถเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก

โดยมีการลงทุนรวมจากระยะ 5 ปีแรก (2561-2565) แล้วกว่า 1.6 ล้านล้านบาท จากเป้า 1.7 ล้านล้านบาท อีกทั้ง ยังมีปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจ EEC จากอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค การส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวตามเศรษฐกิจการค้าโลก และการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนในพื้นที่ EEC ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 60.7% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจ EEC ในปี 2564 ขยายตัวได้น้อยกว่าคาดการณ์จากอุปสรรคของการระบาดของโรคโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ผันผวน

ในปี 2565 ที่มาถึง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจหลายด้านทั้งจากความไม่แน่นอนของการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน สถานการณ์เงินเฟ้อ และปัญหาคอขวดอุปทานที่ยืดเยื้อ ยังพอจะมีข่าวดีต้อนรับปีใหม่ที่จะเป็นปัจจัยหนุนที่น่าจับตาเพื่อสร้างโอกาสสำคัญทางการค้าและการลงทุนของไทยในพื้นที่ EEC คือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ที่เริ่มมีผลบังคับใช้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 หลังจากการเจรจากันมายาวนานเกือบหนึ่งทศวรรษ และถือเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยต่อยอดประโยชน์ทางการค้าและสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค ผ่านการลดภาษีนำเข้าสินค้าและการลดมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี

 ประเด็นคำถามที่น่าสนใจของ RCEP คือ ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างไรโดยเฉพาะในบริบทของพื้นที่ EECหนึ่งในผลประโยชน์สูงสุดจาก RCEP คือ การที่ประเทศสมาชิกทั้งหมดสามารถใช้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ซึ่งทำให้วัตถุดิบผลิตสินค้าจากทั้ง 15 ประเทศสมาชิกจะถือรวมเป็นวัตถุดิบท้องถิ่นทั้งหมด ส่งผลให้ผู้ผลิตในประเทศสมาชิกสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าได้ง่ายขึ้น และเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน เป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิก RCEP เข้ามามีบทบาทในห่วงโซ่การผลิตได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลดีโดยตรงกับพื้นที่ EEC ที่เป็นจุดศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของกลุ่มประเทศอาเซียน อีกทั้ง ยังมีฐานการผลิตครบวงจรและอุตสาหกรรมการผลิตส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออก กอปรกับเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมายังคงพึ่งพาการส่งออกและเม็ดเงินลงทุนจากคู่ค้า RCEP เป็นสำคัญ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าไทยน่าจะได้รับอานิสงส์หลายประการจาก RCEP ผ่านช่องทางการขยายตัวของการส่งออกและการเปิดกว้างของการลงทุนผ่านคู่ค้าในกลุ่ม RCEP  
ถึงแม้ว่า RCEP จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทย แต่ความท้าทายที่ตามมาคือ การสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน ให้ไทยได้เปรียบประเทศอื่นในอาเซียนที่ได้รับประโยชน์จาก RCEP เช่นกัน โดยภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นและความเข้าใจถึงผลกระทบจากการลงนามในความตกลง RCEP ผ่านการลดกฎระเบียบที่ซับซ้อน เพิ่มความยืดหยุ่นในการเจรจาสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน และเร่งปรับตัวทั้งในระดับยุทธศาสตร์และแผนงานเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันรองรับความท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้นให้สอดคล้องกับการปรับแผนโครงการลงทุนใน EEC ระยะสอง (ปี 2565-2569) เป็นวงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท ที่มุ่งเน้นการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม วิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ให้ครอบคลุมทั้งส่วนของการลงทุนทั้งในโครงสร้างพื้นฐานและในอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) โดยหากรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องไม่เร่งผลักดันเรื่องดังกล่าวอย่างทันท่วงที ประเทศไทยอาจเผชิญความยากลำบากจากการแข่งขันและสูญเสียโอกาสต่อการทำการค้าการลงทุนธุรกิจใหม่ในอนาคต 

บทความโดย ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ 
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส
Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์
[email protected] | EIC Online: www.scbeic.com

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์