ก.พ.ร.เดินหน้า "รัฐบาลดิจิทัล" เร่งพัฒนา 12 งานบริการสำคัญประชาชน - ธุรกิจ

ก.พ.ร.เดินหน้า "รัฐบาลดิจิทัล" เร่งพัฒนา 12 งานบริการสำคัญประชาชน - ธุรกิจ

สำนักงาน ก.พ.ร.เดินหน้าเปลี่ยนผ่านภาครัฐสู่รัฐบาลดิจิทัล แบ่ง 5 กลุ่ม 12 งานบริการสำคัญอำนวยความสะดวกประชาชน - ธุรกิจ ตั้งเป้าแล้วเสร๋็จใน 3 ปี เร่งช่วยแรงงานที่ว่างงานให้เข้าระบบงานหลังโควิด-19 คลี่คลายผ่านช่องทาง “ไทยมีงานทำ”

การระบาดของโควิด-19 รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ทำให้ความต้องการของประชาชน และภาคธุรกิจเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วฉับพลัน และเป็นปัจจัยเร่งให้ภาครัฐผู้มีหน้าที่ให้บริการสาธารณะต้องพัฒนางานบริการของหน่วยงานให้ตอบสนองทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับทั้งภาคธุรกิจและประชาชนด้วย

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.2564 ให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องพัฒนาระบบการให้บริการเป็นรูปแบบ e-Service ใน12 งานบริการสำคัญที่ส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจให้ได้รับบริการที่สะดวกและตอบโจทย์การบริการในยุคดิจิทัล และมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. ขับเคลื่อนการพัฒนาบริการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการให้บริการประชาชนและภาคธุรกิจในรูปแบบ e-Service ตามแนวทางการขับเคลื่อนภาครัฐดิจิทัล โดยวางเป้าหมายการพัฒนาให้เสร็จสิ้นโดยรวมของทุกงานบริการไว้ภายใน 3 ปี (2565 - 2568) โดยจะได้มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ได้จัดแบ่งงานบริการออกเป็น 5 กลุ่มตามเป้าหมายของการให้บริการ ดังนี้

ก.พ.ร.เดินหน้า "รัฐบาลดิจิทัล" เร่งพัฒนา 12 งานบริการสำคัญประชาชน - ธุรกิจ

1.กลุ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการให้บริการทางดิจิทัล ได้แก่

1)ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA - Digital ID) ที่ประชาชนสามารถยืนยันตัวตนทางดิจิทัลได้แทนการใช้บัตรประจำตัวประชาชน ทำให้ประชาชนทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้สะดวก ง่าย และรวดเร็ว 

2)งานบริการในการขอ One ID One SMEs เป็นระบบให้บริการแก่ผู้ประกอบการ SMEs ด้วยเลขหมาย ID เดียว ลดภาระการยื่นเอกสารซ้ำซ้อนในการขอรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ

2.กลุ่มให้บริการประชาชน ได้แก่

1)ระบบการรับชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นระบบยื่นชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา

2)ระบบการอนุญาตวัตถุอันตราย ณ จุดเดียว (HSSS) เป็นระบบฐานข้อมูลการขออนุญาตวัตถุอันตรายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอนุมัติ อนุญาต ไว้ ณ จุดเดียว 

และ 3)ระบบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร (GAP) พืช ประมง และปศุสัตว์ เป็นระบบการยื่นคำขอรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร GAP ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่ต้นจนได้รับใบรับรอง

3.กลุ่มเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่

1)ระบบการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เดินทาง (Ease of traveling) เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เดินทางตั้งแต่ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย ระหว่างที่พักในไทย จนกระทั่งเดินทางกลับ โดยรวมงานบริการที่เกี่ยวข้องไว้ภายใต้แพลตฟอร์มเดียว  

2)ระบบช่วยเหลือผู้ว่างงานให้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน เป็นการพัฒนาต่อยอดแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” ของกรมการจัดหางาน โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ว่างงานได้ตั้งแต่การแจ้งว่างงาน การขอรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ไปจนถึงพัฒนาศักยภาพแรงงานให้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน

3) ระบบเชื่อมโยงข้อมูลการนำเข้าและส่งออกสินค้าข้ามแดนทางบกของกลุ่มประเทศ ACMECS ผ่านระบบ NSW เป็นการเชื่อมโยงระบบอนุมัติ อนุญาตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ส่งออกนำเข้าสินค้าในการผ่านพิธีการศุลกากร ซึ่งทำให้การนำเข้าส่งออกมีความรวดเร็วช่วยประหยัดต้นทุนและเวลาในการทำธุรกิจมากขึ้น 

4.กลุ่มข้อมูลเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์  ประกอบไปด้วย

1) ระบบการขึ้นทะเบียนเกษตรกร และการขอรับความช่วยเหลือด้านการเกษตร เป็นการพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรออนไลน์ และเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรเพื่อใช้ในการตรวจสิบสิทธิ์ในการขอรับการเยียวยาของเกษตรกรตามมาตรการภาครัฐ

2)ระบบการแจ้งเตือนสิทธิ์และช่วยเหลือในการรับสวัสดิการของประชาชนตลอดช่วงชีวิต ทำให้ประชาชนได้รับทราบเกี่ยวกับสิทธิที่พึงได้รับ และเป็นช่องทางในการขอรับสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ ตั้งแต่แจ้งเตือน ยื่นเรื่อง จนกระทั่งได้รับสิทธิ

รวมทั้งระบบการออกบัตรสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการออกหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 อิเล็กทรอนิกส์ ให้กับประชาชน 

และ 5.กลุ่มเปิดกว้างเพื่อกับประชาชน โดยในกลุ่มงานนี้ได้แก่

1) ศูนย์การร้องเรียนแบบเบ็ดเสร็จ เป็นระบบที่ประชาชนสามารถยื่นเรื่องร้องเรียน ติดตาม ตรวจสอบสถานะ และรับแจ้งผลร้องเรียนได้ ณ จุดเดียว

นางสาวอ้อนฟ้ากล่าวว่าขณะนี้ทุกงานบริการอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยบางงานบริการมีความก้าวหน้าไปอย่างเห็นได้ชัด เช่น ระบบช่วยเหลือผู้ว่างงานให้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน กระทรวงแรงงานได้พัฒนาต่อยอดแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่แรงงาน โดยการเชื่อมโยงงานบริการที่สนับสนุนช่วยเหลือแก่ผู้ว่างงานของหน่วยงานภายในกระทรวงแรงงานมาให้บริการบนระบบไทยมีงานทำ เช่น ข้อมูลการอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน การขอรับสวัสดิการประกันสังคม เป็นต้น 

รวมไปถึง การเชื่อมโยงข้อมูลกับสภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อรองรับในการพัฒนาศักยภาพแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ระบบการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เดินทาง (Ease of traveling) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Entry Thailand เพื่อเป็นการเปิดรับนักเดินทางสู่ประเทศไทย โดยจะเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานหรือผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ เข้ามาเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่นักเดินทาง

นอกจากนี้ จะเชื่อมโยงระบบการจองตั๋วเครื่องบิน ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (AOT) โดยวางเป้าหมายการพัฒนาภายในเดือนมีนาคม 2565 นักท่องเที่ยวจะสามารถค้นหาข้อมูลด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ ในไทยได้จากแพลตฟอร์ม Entry Thailand รวมทั้งจะต่อเนื่องการพัฒนาไปเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบการออกใบรับรองการฉีดวัคซีน หรือ Vaccine Passport ของกรมควบคุมโรค เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวตามมาตรการควบคุมโรคด้วย

"ทั้ง 12 งานบริการที่สำคัญ เป็นการพัฒนาที่มุ่งเป้าหมายเพื่อสร้างคุณภาพชีวิต สร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนในการให้บริการของภาครัฐ และสำนักงาน ก.พ.ร. จะร่วมกับหน่วยงานภาครัฐทุกแห่งเร่งเดินหน้าพัฒนางานบริการ เพื่ออำนวยความสะดวก และเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน และภาคธุรกิจต่อไป"นางสาวอ้อนฟ้า กล่าว