ส่อง‘หุ้นโรงพยาบาล’หลัง‘โอมิครอน’ครองเมือง

ส่อง‘หุ้นโรงพยาบาล’หลัง‘โอมิครอน’ครองเมือง

สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในประเทศ กำลังทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากการระบาดของเชื้อสายพันธุ์ใหม่โอมิครอน ซึ่งแม้จะมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่แพร่ได้ง่ายและเร็วกว่าหลายเท่าตัว

วานนี้ (8 ม.ค.) พบผู้ติดเชื้อใหม่มากถึง 8,263 ราย และแนวโน้มยังจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตาม 3 ฉากทัศน์ที่กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าหลังหยุดยาวปีใหม่จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยขณะนี้ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ ฉากทัศน์ที่ 1 ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะเป็นกรณีเลวร้ายที่สุด แต่กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว โดยมีโอกาสพบผู้ติดเชื้อสูงสุดถึงวันละ 30,000 ราย และจะใช้เวลาควบคุมสถานการณ์ราว 3-4 เดือน

ทั้งนี้ การผ่อนคลายกิจกรรมกิจการต่างๆ ในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะจากกลุ่มคลัสเตอร์ร้านอาหารกึ่งผับบาร์ที่มีคนมาเลี้ยงสังสรรค์รวมตัวกันจำนวนมาก แต่กลับละเลยไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของ ศบค. เช่น ไม่มีการจำกัดจำนวนคน แอบขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินเวลาที่กำหนด อากาศไม่ถ่ายเท ไม่มีการเว้นระยะห่าง

ด้วยสถานการณ์ที่กำลังรุนแรงขึ้น ทำให้กระทรวงสาธารณสุขประกาศยกระดับเตือนภัยโควิด-19 ขึ้นเป็นระดับ 4 โดยขอความร่วมมือประชาชนงดทานอาหารร่วมกัน งดเดินทางไปยังสถานที่เสี่ยง ชะลอการเดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้ทำงานที่บ้าน

ขณะที่ล่าสุดมีประกาศยกระดับพื้นที่ควบคุม หรือ พื้นที่สีส้ม เพิ่มเป็น 69 จังหวัด รวมทั้งเลื่อนเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ และการเดินทางเข้าประเทศด้วยระบบ Test&GO ออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด เพื่อรอประเมินสถานการณ์ หลังแนวโน้มผู้ติดเชื้อยังพุ่งไม่หยุด

ความกังวลต่อการระบาดระลอกใหม่และมาตรการที่คุมเข้มขึ้น กลายเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นไทย แต่ก็มีบางกลุ่มที่บวกสวนกระดาน อย่างหุ้นโรงพยาบาลหลายตัวราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา 

นำโดยบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH และบริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) หรือ CHG ซึ่งทั้ง 2 แห่ง ถือเป็นโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนรายได้จากการตรวจรักษาและให้บริการเกี่ยวกับโควิดมากที่สุดเกินกว่า 50% ของรายได้รวมทั้งหมด ดังนั้นเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นอีกครั้ง จึงทำให้มีแรงเก็งกำไรเข้ามารอบใหม่

สวนทางบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ BDMS และบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH ที่ราคาปรับตัวลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากมีรายได้จากโควิดไม่มาก ขณะเดียวกันคนไข้ต่างชาติที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักจะลดลง หลังมีการปรับเกณฑ์เดินทางเข้าประเทศ

อย่างไรก็ตาม รายได้จากโรคโควิดรอบนี้คงไม่มากเท่ากับช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตา เพราะแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเยอะ แต่อาการกลับไม่ค่อยรุนแรง ส่วนใหญ่สามารถพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ไม่ต้องไปนอนโรงพยาบาล

ขณะเดียวกันยอดการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมแล้วมากกว่า 105 ล้านโดส แบ่งเป็นเข็ม 1 กว่า 51 ล้านโดส, เข็ม 2 กว่า 46 ล้านโดส, เข็ม 3 กว่า 7 ล้านโดส และเข็ม 4 อีกกว่า 3 แสนโดส ทำให้ตอนนี้เข้าใกล้ที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และในที่สุดโควิด-19 จะเปลี่ยนจากโรคระบาดเป็นโรคประจำถิ่น ส่งผลให้รายได้จากโควิดของโรงพยาบาลต่างๆ ปีนี้จะชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมา

แต่ตรงกันข้ามรายได้ผู้ป่วยปกติที่ไม่ใช่โควิดจะเพิ่มขึ้น หลังคลายกังวลต่อสถานการณ์โรคระบาดและกลับเข้ามาใช้บริการ ส่วนรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติจะเร่งตัวขึ้น หากมีการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ

ดังนั้น การลงทุนในหุ้นโรงพยาบาลต้องเลือกกลยุทธ์กันให้ดีว่าจะหวังเก็งกำไรระยะสั้น หรือจะมองแนวโน้มในระยะยาว แต่สถานการณ์ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอขึ้นอยู่กับว่าเราจะคุมโอมิครอนอยู่หรือไม่? หรือจะมีสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิม?

ส่อง‘หุ้นโรงพยาบาล’หลัง‘โอมิครอน’ครองเมือง

โดยบล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ระบุว่า มีมุมมองเป็นกลางต่อกลุ่มโรงพยาบาล และเชื่อว่าเชื้อโอมิครอนจะอยู่ไม่นาน ส่งผลให้รายได้โควิดจะลดลงอย่างมากในปี 2565 แต่ยังอยู่ในระดับที่มีนัยสำคัญจากการฉีดวัคซีน

โดยคาดรายได้จากโควิดของ BCH และ CHG ปี 2565 จะลดลงโดยเฉลี่ย 54% ส่งผลให้กำไรหลักลดลง 59% และ 53% ตามลำดับ ขณะที่การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จะเข้าสู่ภาวะปกติในปี 2566 กลายเป็นปัจจัยบวกในระยะต่อไปให้กับ BH และ BDMS