โควิดบีบ“ธุรกิจ”ควบรวมปี 64 เฉียด 1 ล้านล้านบาท

โควิดบีบ“ธุรกิจ”ควบรวมปี 64 เฉียด 1 ล้านล้านบาท

ปธ.บอร์ดแข่งขันทางการค้า เผย ยอดขอควบรวมธุรกิจ ปี 62-64 มูลค่า 2.12 ล้านล้านบาท แค่ปี 64 เฉียด 1 ล้านล้านบาท คาดแนวโน้มการรวมธุรกิจปีนี้จะมีมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มบริการและอุตสาหกรรม

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ที่เกิดจาก พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ซึ่งแยกเป็นหน่วยงานอิสระจากเดิมอยู่ในการกำกับของกรมการค้าภายใน และหน้าที่สำคัญอีกด้าน คือ การกำกับดูแลธุรกิจให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม  โดยเฉพาะการดูแลเรื่อง การรวมธุรกิจ” หรือ Mergers and Acquisition (M&A) ที่มีทั้งกลุ่มที่ต้องขออนุญาตและกลุ่มที่ต้องแจ้งการรวมธุรกิจ

ช่วงที่มา กขค.อนุญาตรวมกิจการที่เป็นดีลใหญ่ เช่น การอนุญาตให้บริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซื้อหุ้นบริษัทเทสโก้ สโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จํากัด ผู้บริหารธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus ในไทย

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ให้สัมภาษณ์ ”กรุงเทพธุรกิจ” ว่า องค์กรนี้เริ่มแรกต้องจัดการเรื่องการบริการจัดการองค์กรทั้งด้านงบประมาณ บุคลากรและสำนักงาน เพื่อให้องค์กรขับเคลื่อนงานในหน้าที่ได้  โดยผ่านมา 3 ปี องค์กรได้ขับเคลื่อนงานในอำนาจหน้าที่ให้เต็มที่ภายใต้เงื่อนไขต้องทำตามขั้นตอนของกฏหมาย เพราะการแข่งขันทางการค้าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเกี่ยวข้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง 

โควิดบีบ“ธุรกิจ”ควบรวมปี 64 เฉียด 1 ล้านล้านบาท

การพิจารณาจะต้องทำตามขั้นตอนทางกฏหมายจะผิดแผกไปไม่ได้ เพราะจะถูกท้าทายและแพ้น็อค รวมทั้งจะต้องมีความรู้ด้านเศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ เพื่อป้องกันไม่ให้มีข้อโต้แย้งหรือมีข้อโต้แย้งให้น้อยที่สุด และที่สำคัญการทำงานต้องเป็นมาตรฐานสากลเพื่อให้เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย

สำหรับภารกิจสำคัญที่ต้องพิจารณาและดำเนินการ คือ การรวมธุรกิจที่เอกชนดำเนินการเพื่อปรับโครงสร้างทางธุรกิจ แต่การรวมธุรกิจบางกิจการอาจทำให้สภาวะการแข่งขันในตลาดลดลง หรือตลาดมีการกระจุกตัวมากขึ้น ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (2562-2564) มีผู้ยื่นขอรวมธุรกิจรวม 71 เรื่อง ครอบคลุมการรวมธุรกิจที่ต้องขออนุญาตและต้องแจ้ง กขค.ทราบ แบ่งเป็น ปี 2562 ยื่นขอรวมธุรกิจ 24 เรื่อง , ปี 2563 ยื่นขอรวมธุรกิจ 16 เรื่อง และปี 2564 ยื่นขอรวมธุรกิจ 25 เรื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการยื่นของรวมธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

ทั้งนี้ มูลค่าการรวมธุรกิจในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่า 2.12 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นมูลค่ารวมธุรกิจที่สูง โดยลักษณะของการรวมธุรกิจทั้งการรวมธุรกิจแบบผู้ผลิตรวมผู้ผลิต ผู้ผลิตรวมกับผู้จำหน่าย การเข้าซื้อสินทรัพย์ การเข้าซื้อหุ้น เป็นต้น 

รวมทั้งถ้าพิจารณาในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา (2563-2564) ที่เป็นช่วงการระบาดของ “โรคโควิด-19” พบการรวมธุรกิจมูลค่า 1.46 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นปี 2563 มูลค่า 485,541 ล้านบาท และปี 2564 มูลค่า 979,712 ล้านบาท

ในปี 2563 ธุรกิจที่รวมกิจการ 3 อันดับแรก คือ กลุ่มบริการ มูลค่า 303,150 ล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม มูลค่า 141,925 ล้านบาท กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มูลค่า 32,210 ล้านบาท ปี 2564 ธุรกิจที่รวมกิจการ 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจการเงิน มูลค่า 448,160 ล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มบริการ มูลค่า 372,654 ล้านบาท กลุ่มทรัพยากร มูลค่า 93,000 ล้านบาท

โควิดบีบ“ธุรกิจ”ควบรวมปี 64 เฉียด 1 ล้านล้านบาท

สำหรับแนวโน้มการรวมธุรกิจในปี 2565 คาดว่าจะมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มบริการและกลุ่มอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ พร้อมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจหลังจากนี้ ซึ่งการรวมธุรกิจเป็นการสร้างพลังทางธุรกิจทั้งด้านสินทรัพย์ บุคคลกร ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและพันธมิตร 

การรวมธุรกิจไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่คำถามที่ตามมา คือ ภาคธุรกิจที่ควบรวมกันแล้วจะกระทบต่อเศรษฐกิจและโครงสร้างธุรกิจในประเทศอย่างไรบ้าง” 

ในประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรวมธุรกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการรวมธุรกิจที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศมีมากขึ้น ซึ่งยอมรับว่าสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจ ซัพพลายเชน มีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้บริษัทใหญ่ที่อยู่ในซัพพลายเชนเดียวกันในระดับโลกต้องรวมกันเพื่อรักษาฐานของตนเอง 

ขณะที่ประเทศไทยที่บางส่วนเป็นฐานการผลิตสินค้าก็ต้องปรับโครงสร้างตามไปด้วย เช่น บริษัทแม่อยู่ต่างประเทศ แต่บริษัทลูกที่เป็นบริษัทผู้ผลิต ผู้จำหน่ายในประเทศก็ต้องถูกรวมธุรกิจไปด้วย ดังนั้นจึงไม่ใช่น่าแปลกที่มูลค่าการรวมธุรกิจในช่วงที่ผ่านมาจึงมีมหาศาล

“กระแสรวมธุรกิจจะมีมากขึ้น ดูจากตัวเลขรวมธุรกิจในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาคบริการถือเป็นภาคที่มีการวมธุรกิจมากที่สุดถึง 20 ราย รองลงมาเป็นสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคและบริโภค เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ส่วนมูลค่าการรวมธุรกิจหากไม่นับธุรกิจการเงิน ธุรกิจบริการก็จะมีมูลค่าการรวมธุรกิจสูงสุดซึ่งธุรกิจเหล่านี้เป็นฐานการผลิตที่อยู่ในประเทศ“

นอกจากนี้ ต้องจับตาเรื่องโครงสร้างของธุรกิจภายหลังการรวมธุรกิจที่จะทำให้เกิดการกระจุกตัวหรือมีอำนาจเหนือตลาด โดยผู้ผลิตและผู้ให้บริการมีน้อยลงจนไม่เกิดการแข่งขัน ซึ่งถือว่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่สำนักงานฯ จะต้องเข้าไปดูแล แม้ว่าจะมีการควบรวมธุรกิจแล้ว แต่สำนักงานฯ ต้องติดตามดูแลว่าธุรกิจที่ควบรวมแล้วได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการรวมธุรกิจ

นายสกนธ์ กล่าวว่า การที่ธุรกิจบริการมีการขอรวมธุรกิจมาก เพราะต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้มีความเข้มแข็งของธุรกิจ ซึ่งธุรกิจบริการที่ขอยื่นรวมธุรกิจที่มีมูลค่ามาก คือ กรณีกลุ่มซีพีรวมกับเทสโก้โลตัส มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท และธุรกิจปิโตรเลียม หรือการขนส่งน้ำมันทางเรือที่มีมูลค่าเกินกว่า 3 แสนล้านบาท แต่กรณีนี้ไม่ต้องขออนุญาตเนื่องจากเป็นการรวมธุรกิจภายในเพื่อปรับโครงสร้าง ไม่เข้าข่ายผู้มีอำนาจเหนือตลาดไม่มีผลกระทบต่อตลาดเพราะมีคู่แข่งมาก และมีรายอื่นที่ใหญ่กว่าจึงเป็นแค่แจ้งรวมธุรกิจ

ปัจจุบันกิจการที่ขอรวมธุรกิจที่ต้องขออนุญาตการรวมธุรกิจมี 8 กลุ่ม คือ 1.เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 2.สินค้าอุปโภคบริโภค 3.ธุรกิจการเงิน 4.สินค้าอุตสาหกรรม 5.อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 6.ทรัพยากร 7.บริการ 8.เทคโนโลยี