สรรพากรเตรียมเรียกแพลทฟอร์มคริปโทหารือแผนเก็บภาษี

สรรพากรเตรียมเรียกแพลทฟอร์มคริปโทหารือแผนเก็บภาษี

โฆษกกรมสรรพากรเผย กรมฯพร้อมออกกฎหมายเพื่อเรียกให้แพลทฟอร์มการซื้อขายคริปโทเคอเรนซีชำระภาษี โดยการหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ของกำไร ขณะที่ เตรียมเรียกผู้ให้บริการแพลทฟอร์มดังกล่าวเข้าหารือถึงแนวทางการเก็บภาษีดังกล่าว

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ โฆษกกรมสรรพากรเปิดเผยว่า กรมสรรพากรกำลังดำเนินการออกกฎหมาย เพื่อให้แพลทฟอร์มสำหรับการซื้อขายคริปโทเคอเรนซี จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15%ของกำไรจากการขายคริปโทเคอเรนซี ขณะที่ เร็วๆนี้ อธิบดีกรมสรรพากรจะเชิญแพลทฟอร์มและตัวกลางการแลกเปลี่ยนเงินคริปโทเคอเรนซีเข้าหารือถึงแผนการจัดเก็บภาษีดังกล่าว

ทั้งนี้ ในประมวลรัษฎากรปัจจุบันกำหนดกรณีการขายคริปโทเคอเรนซีว่า เมื่อมีกำไร ผู้ซื้อมีหน้าที่หักภาษีที่จ่ายในอัตรา 15% สำหรับกำไรที่ผู้ขายได้รับในทุกรายการหรือTransaction

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังเป็นหน้าที่ของผู้ซื้อในการหักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งกรมสรรพากร ดังนั้น ในระหว่างนี้กรมกำลังคุยกับแพลทฟอร์มที่เป็นตัวกลางหรือExchangeให้ทำหน้าที่ หัก ภาษี ณ ที่จ่าย แทนผู้ซื้อ

สำหรับวิธีการคิดภาษีกำไรจากการซื้อขายคริปโทเคอเรนซีนั้น กรมสรรพากร จะนำเฉพาะกำไรที่ได้จากการเทรดซื้อขายคริปโทเคอเรนซีมาคำนวนภาษี ส่วนที่ขาดทุนไม่มีภาระภาษี ดังนั้น ผู้ขายหรือผู้เทรด จะต้องจดบันทึกการซื้อขายในทุกครั้งว่า ครั้งไหนมีกำไรและต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย

 

เธอกล่าวว่า การคำนวณภาษีของกรมสรรพากร ใช้หลักเกณฑ์เงินสด (Cash basic)ดังนั้น เมื่อมีการเทรดคริปโทเคอเรนซี จะต้องแปลงเป็นเงินบาท เพื่อนำกำไรที่เป็นเงินบาทมาคำนวนภาษี

การคำนวนภาษี ถ้ามีการซื้อขายหลายครั้ง เราจะคิดเป็นรายครั้ง ครั้งไหนมีกำไรต้องบันทึกไว้ เพราะสิ้นปีก็เอามายื่นรวมเป็นเงินได้ทั้งปี ไม่ต้องยื่นทุกเดือน”

 สำหรับรายได้จากการขุดเหมืองบิดคอยนั้น เธอกล่าวว่าการขุดบิดคอย คล้ายกับการขุดเหมืองแร่ ซึ่งผลประโยชน์ที่ได้จากการขุด ถือเป็นเงินได้ต้องเสียภาษีตามมาตรา 40 (8) ที่เป็นเงินได้จากธุรกิจ พาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม ที่มีภาระต้องเสียภาษี และสามารถนำรายจ่ายจากการขุด ตามที่จ่ายจริงมาหักลดหย่อนภาษีได้

ส่วนการลงทุนในคริปโทเคอเรนซีแล้วได้รับผลตอบแทน ซึ่งอาจเป็นดอกเบี้ย หรือเงินปันผล ตัวนี้ถือว่า เป็นรายได้ที่เกิดจากการลงทุน ถือเป็นเงินได้ในมาตรา 40 ( 4) ที่ดอกเบี้ยและเงินปันผลต้องมาภาระภาษี แต่ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้

ส่วนการตรวจสอบว่า มีการเสียภาษีคริปโทเคอเรนซีถูกต้องหรือไม่นั้น เธอกล่าวว่า ปัจจุบัน กรมมีระบบบdata analyticโดยกรมฯมีศูนย์นวตกรรมข้อมูลอัจฉริยะ เป็นศูนย์ที่มีหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆที่อยู่ในถังข้อมูลของกรม ถ้าเราเห็นความผิดปกติ ทางกรมฯมีอำนาจออกหมายเรียกพยาน ไม่ว่าจะเป็นสถานบันการเงิน หรือ แพลทฟอร์มให้ข้อมูล

เราสามารถอออกหมายเรียกพยาน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง ถ้าถูกต้อง ยื่นไว้ตามข้อมูลที่เรามีก็ไม่มีอะไร แต่ถ้ายื่นไว้ไม่ตรง หรือไม่ได้ยื่น เราอาจต้องมีการเชิญให้มาดำเนินการให้ถูกต้อง”