เฟดอาจเริ่มขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด จับตาเรื่องการลดขนาดงบดุล  

เฟดอาจเริ่มขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด จับตาเรื่องการลดขนาดงบดุล  

รายงานการประชุมเฟดบ่งชี้ถึงโอกาสขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด จากตลาดแรงงานที่อยู่ในภาวะตึงตัวและเงินเฟ้อ ทำให้กรรมการส่วนใหญ่มีความเห็นว่าเฟดสมควรปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้เกิดความคาดหมายของนักลงทุนบางส่วนที่คาดว่ามีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจเริ่มขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่ มี.ค.65 อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ระบุถึงความเห็นของกรรมการบางส่วนที่มองว่าเฟดสมควรที่จะปรับลดขนาดงบดุล (Balance sheet) ทันทีหลังขึ้นดอกเบี้ย ก่อให้เกิดความกังวลกับภาพรวมการลงทุนในระยะสั้น เนื่องจากการเข้าสู่นโยบายการเงินตึงตัว จะประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การเริ่มลดการผ่อนคลาย 2) การขึ้นดอกเบี้ย และ 3) การเริ่มลดขนาดงบดุล (ซึ่งจะส่งผลให้สภาพคล่องในระบบลดลง และเป็นลบกับสินทรัพย์เสี่ยง) ดังนั้นความเห็นดังกล่าวซึ่งระบุถึงการเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 ของนโยบายการเงินตึงตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่เฟดดำเนินการในช่วงปี 2561 และทำให้สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกปรับลดลง จะทำให้นักลงทุนต้องเพิ่มความระมัดระวัง
 

การเดินหน้าเข้าสู่นโยบายการเงินตึงตัวเร่งการหมุนกลุ่ม ทิศทางดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรเร่งตัวขึ้น ซึ่งในทางการเงินส่งผลให้อัตราคิดลด (discounted rate) ที่ใช้ในการประเมินมูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบมากต่อหุ้นที่ซื้อขายด้วย Valuation ที่แพง หรือมูลค่าอิงกระแสเงินสดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะที่กระทบน้อยกว่ากับหุ้นที่ซื้อขายด้วย Valuation ที่ไม่สูงนัก หรือมีปันผลในระดับสูง ช่วยหักล้างความเสี่ยงของอัตราคิดลด ดังนั้น “กระแสระวังหุ้นเติบโต (Growth) และเข้าลงทุนหุ้นคุณค่า (Value)” จะเริ่มกลับมา ทำให้ระยะสั้นต้องระวังหุ้นแพง อาทิ เทคโนโลยี การแพทย์ ไฟฟ้า รวมถึงหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นธนาคาร พลังงาน และหุ้นที่ผลตอบแทนปันผลสูง
 

 

 

ตัวเลขผู้ติดเชื้อชี้ถึงการเริ่มเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 5 ศูนย์ข้อมูล Covid-19 รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อ 6 ม.ค.65 ที่ 5,775 ราย เพิ่มขึ้นจากวานนี้ที่ 3,899 ราย และเร่งตัวขึ้นชัดเจนจากต่ำกว่า 3 พันรายในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา บ่งชี้ถึงการเข้าสู่ระลอก 5 (Wave 5) อย่างชัดเจน ตลาดหุ้นไทยอาจผันผวน โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นที่กังวลเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการเข้มข้นที่อาจกระทบการดำเนินงาน อาทิ กลุ่มห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สปา โรงภาพยนตร์ ขณะที่หุ้นได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจภายนอกหรือส่งออก อาทิ อาหาร เกษตร พลังงาน (ไม่รวมอิเล็กทรอนิกส์) เช่น TFG, TU, CPF, GFPT, TWPC, TVO, BANPU อาจเคลื่อนไหวดีกว่าในระยะสั้น นักลงทุนควรติดตามการเพิ่มของผู้ติดเชื้อที่มีการประเมนฉากทัศน์ (scenario) ของผู้ติดเชื้อสูงสุดอยู่ที่ 10,000-30,000 ราย ตลาดอาจมีแรงกดดันระยะสั้น แต่คาดจะฟื้นตัวดีเมื่อเห็นจำนวนการระบาดสูงสุดแล้ว ความผันผวนดังกล่าวคาดเปิดโอกาสลงทุนที่ดี

ธีมการลงทุนปี 2565 การฟื้นตัวเปลี่ยนจากการผลิต มายังภาคบริการ ซึ่งหนุนการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ เป็นบวกต่อหุ้นธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ สื่อสาร ค้าปลีก บันเทิง โดยมีหุ้นเด่นคือ KBANK, CPN, ADVANC, ONEE, WHA, BANPU, OR // หุ้นม้ามืด ที่เราชอบ ได้แก่ TKN, FSMART, RAM, SFT 
 

 

ภาพรวมกลยุทธ์: มีโอกาสย่อตัวหลังเฟดส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ของการการลด งบดุลหลังขึ้นดอกเบี้ยที่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่มี.ค.65 ซึ่งเร็วกว่าคาดการณ์เดิม อย่างไรก็ตามยังคงมุมมองเชิงบวกสำหรับการลงทุนช่วง 4-5 เดือนแรก และสำหรับผู้เก็งกำไร ไม่หลุด 1,640 จุด โมเมนตัมการเก็งกำไรไม่เปลี่ยนแปลง //หุ้นแนะนำ: BANPU*, TU*, SUPER*, TIDLOR*

แนวรับ: 1,640-1,650 / แนวต้าน : 1,680 จุด สัดส่วน : เงินสด 50% : พอร์ตหุ้น 50%

 

ประเด็นการลงทุน

ธปท.ชี้โอมิครอนกระทบจำกัด - ธปท.ชี้ผลกระทบจากโอมิครอนจะจำกัดแค่ช่วงแรกของปี 65 ส่วนตลาดการเงินโลกเคลื่อนไหวผันผวนสูงขึ้น ขณะที่จีดีพีไทยปีนี้ยังมองที่ 3.4%

ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ เกษตรกรเลี้ยงหมู – ธ.ก.ส.ทุ่ม 3 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 4% ต่อปี หนุนเกษตรกรเลี้ยงหมู-แก้ปัญหาราคาแพง

อัดฉีดคนจนพ่วงแพ็กเกจคนละครึ่ง - รัฐบาลจ่ออัดฉีดคนจน-เปราะบาง 16 ล้านคนเดินคู่โครงการคนละครึ่งเฟส 4 เหตุได้รับผลกระทบเหมือนกัน พร้อมรอ ครม.เคาะเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่

 

ประเด็นติดตาม: - 20 ม.ค. – ผลประกอบการกลุ่มธนาคาร / 26 ม.ค. – Fed meeting

(* หมายถึง หุ้นทางกลยุทธ์ ซึ่งอาจมีคำแนะนำต่างกับพื้นฐาน หรือที่ไม่ ได้อยู่ในการวิเคราะห์ของ UOBKH ซึ่งนักลงทุนควรพิจารณาตั้งจุดตัดขาดทุน 3-5% ของราคาที่เข้าซื้อ)