น้ำมันแพง ดันเงินเฟ้อ ธ.ค. 64 ขยับ 2.17%

กระทรวงพาณิชย์เผยตัวเลขเงินเฟ้อเดือนธันวาคมเพิ่มสูงขึ้น 2.17% จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนราคาเนื้อหมูแพงจากสาเหตุกลไกการผลิต แต่ไม่มีผลต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ คาดการณ์ทั้งปีกรอบเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.7-2.4%

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า รณรงค์ พูลพิพัฒน์ ระบุ ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือนธันวาคม 2564 สูงขึ้น 2.17 สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า ที่สูงขึ้น 2.71% จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่สูงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากมาตรการตรึงราคาน้ำมันของภาครัฐ ขณะที่สินค้าในกลุ่มอาหารสด อาทิ ราคาผักสดยังอยู่ในระดับสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื้อสุกรและไข่ไก่ ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการเลี้ยง ปริมาณผลผลิตลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการรายย่อยลดปริมาณการเลี้ยงสุกร รวมทั้ง น้ำมันพืช กับข้าวสำเร็จรูปและข้าวราดแกง ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนและวัตถุดิบ 

ทั้งนี้ มองว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นขณะนี้มาจากกลไกการผลิต โดยเฉพาะราคาเนื้อหมู ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น 1.72% ตามต้นทุนการเลี้ยง ค่าการบริหารจัดการป้องกันโรคระบาด และปริมาณการเลี้ยงหรือผลผลิตที่ลดลง ทำให้หมูออกสู่ตลาดน้อย แต่ไม่มีผลต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2564 สูงขึ้น 1.23% ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในช่วง 0.8 – 1.2% และเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้น 0.23% ซึ่งขยายตัวเท่ากับปีก่อน ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อในปีนี้ ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง จากอุปทานที่ไม่สมดุลกับอุปสงค์ของโลกที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันสูงขึ้น ประกอบกับราคาผักสดเพิ่มสูงขึ้น จากปริมาณผลผลิตลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม และผลผลิตที่ต่ำกว่าปีก่อน ขณะที่เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ 

สำหรับปัจจัยลบ ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และผลไม้สด จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศชะลอตัวลง รวมถึงผลผลิตมีปริมาณมากเมื่อเทียบกับปีก่อน 

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในระดับที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากแรงหนุนการเปิดท่องเที่ยวและส่งออก แต่ยังคงต้องจับตาสถานการณ์โควิด-19 คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2565 จะเคลื่อนไหวระหว่าง 0.7 – 2.4% มีค่ากลางอยู่ที่ 1.5% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสม