นักค้าเงินชี้แนวโน้มเงินบาทปี 65 ผันผวน หนัก คาดตรึงดบ. 0.5% ยาวถึงสิ้นปี

นักค้าเงินชี้แนวโน้มเงินบาทปี 65  ผันผวน หนัก คาดตรึงดบ. 0.5% ยาวถึงสิ้นปี

"กรุงไทย -ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" มองปี 65 ค่าเงินบาท ครึ่งแรก “อ่อน” -ครึ่งหลัง “แข็ง” “ซีไอเอ็มบีไทย” คาดแบงก์ชาติตรึงดอกเบี้ย 0.5% ยาวถึงสิ้นปี “กรุศรี” ชี้ผันผวนหนักในกรอบ 31.50-34.25 บาทต่อดอลลาร์ ด้าน “ทีทีบี” แทงเงินบาทขา “อ่อนค่า"สูงสุดแตะ 34.50 บาทต่อดอลลาร์

 ปี 65 “กูรูค่าเงิน” เปิดเป้าหมาย “ค่าเงินบาท” เตรียมรับความผันผวน ชี้ ครึ่งปีแรก “อ่อนค่า” สูงสุดแตะ 34.5-35 บาทต่อดอลลาร์ จากความเสี่ยง “สัญญาณเฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็ว-การแพร่ระบาดโอมิครอนทั่วโลกและในไทย

แต่ลุ้นครึ่งปีหลัง หวังท่องเที่ยวกลับมาฟื้น พลิกเงินบาทเปลี่ยนโหมด “แข็งค่า” สูงสุด 31.50 บาทต่อดอลลาร์ จับตาจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยจริงอาจกดบาทอ่อนค่าสิ้นปีแตะ 35 บาทต่อดอลลาร์

ทางด้านแนวโน้มเงินเฟ้อของไทยปีหน้า ไต่ระดับในช่วงต้นปีจากฐานสูงปีก่อน แต่จะปรับลดลงในในช่วงครึ่งปีหลัง สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจ มองทั้งปีเฉลี่ยที่ระดับ 1.5-1.9% จากปีนี้ที่ 1.2% ทำให้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังทรงตัวที่ 0.5 %ในปีหน้าเพื่อประคองเศรษฐกิจ แต่ระวังความผันผวนช่วงปลายปี หากธปท. อาจส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย ได้เช่นกัน

แนะผู้ประกอบการ นอกจากป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว การใช้เครื่องมือทางการเงิน อย่างการใช้บัญชี FDC และสกุลเงินท้องถิ่นสามารถช่วยผู้นำเข้าและผู้ส่งออก ป้องกันความเสี่ยงจากเงินบาทผันผวนที่สูงขึ้นจะเกิดขึ้นแน่นอน

กรุงไทย -ศูนย์วิจัยกสิกรไทย-ซีไอเอ็มปี มองปี 65

ค่าเงินบาท ครึ่งแรก “อ่อน” -ครึ่งหลัง “แข็ง”

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การปัจจัย เร่งลดวงเงินคิวอี ( QE ) และสัญญาณเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดภายใต้การประเมินสถานการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถรับมือกับโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้นั้น น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์ ทยอยแข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อเข้าสู่จังหวะการดำเนินนโยบายการเงินที่คุมเข้มมากขึ้นของสหรัฐฯ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะยังอยู่ในระดับที่อ่อนแอต่อเนื่อง

ดังนั้น “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินว่า ช่วงครึ่งแรกของปี 2565 เงินบาทมีทิศทางทยอยอ่อนค่าลงกว่าแนว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี หากการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี ดุลบัญชีเดินสะพัดที่กระเตื้องขึ้นอาจหนุนเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ทั้งนี้ อยู่ที่ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวว่าจะแข็งแกร่งเพียงใด

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปี 2565 ช่วงครึ่งแรกค่าเงินบาทมีแนวโน้มไซด์เวย์ในกรอบ 32.50-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งต้องลุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐ ทั้งภาวะตลาดแรงงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ต้องติดตามท่าที่ประชุมเฟดที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 15-16 ม.ค. 2565 ว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยทันทีหรือส่งสัญญาณทยอยขึ้นดอกเบี้ยช่วงที่เหลือของปี

โดยสถิติในอดีตของรอบการขึ้นดอกเบี้ยเฟดชี้ว่า เงินดอลลาร์มักจะแข็งค่าขึ้เฉลี่ยราว 4% ในช่วง 6 เดือนก่อนการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก ทำให้ช่วงครึ่งแรกที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ฟื้นตัวดีขึ้น อาจเผชิญแรงกดดันจากปัญหาการระบาดของโอมิครอนทั่วโลก โดยเฉพาะในฝั่งการท่องเที่ยวจากนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เงินบาทขาดแรงหนุนและเสี่ยงที่จะผันผวนในด้านอ่อนค่า

ส่วนช่วงครึ่งหลัง แนวโน้มเงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นชัดเจน ในกรอบ 31.50- 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและหนุนให้นักลงทุนจ่างชาติกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยเพิ่มเติม อีกทั้ง ปัญหาด้าน Supply Chain มีแนวโน้มคลี่คลายได้ ลดผลกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัด สามารถทยอยกลับมาเป็นบวกได้

        แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า แต่กว่าที่เศรษฐกิจจะพ้นหลุมวิกฤติ โควิด และกลับสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติได้นั้นก็อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควรและคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติในช่วงครึ่งหลังของปี 2566

 ดังนั้น เรามองว่าท่าทีของคณะกรรมการนโยบายการเงิน( กนง.) ที่เน้นให้น้ำหนักการเติบโตเศรษฐกิจมากกว่าเงินเฟ้อ จะทำให้ กนง. สามารถใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายต่อตลอดทั้งปี 2565 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ก่อนที่จะปรับขึ้นช่วงครึ่งหลังปี 2566 สู่ระดับ 0.75% และมีโอกาสที่สิ้นปี 2566 อาจเห็นที่ระดับ 1.00% หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแข็งแกร่งในปี 2566

 

 

“ซีไอเอ็มบีไทย” จับตาธปท.

ส่งสัญญาณขึ้นดบ.ปลายปี 65

เช่นเดียวกับ นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย  กล่าวว่า ปัจจัยเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ทำให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็วในปีหน้า โดยใช้นโยบายการเงินเข้มขึ้น จะเป็นความเสี่ยงต่อค่าเงินบาทอ่อนค่า ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังขาดดุลในระดับสูง หากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดโอมิครอน ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมาและเงินทุนต่างชาติไหลออกต่อเนื่อง คาดว่า ครึ่งปีแรก เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าที่ระดับ  34-34.5 บาทต่อดอลลาร์

 แต่ครึ่งปีหลัง หากปัจจัยเสี่ยงในช่วงครึ่งปีแรกคลี่คลาย ในมุมมองด้านการลงทุน นักลงทุนน่าจะรับรู้ข่าวสารเร่งการถอน คิวอีและการขยับดอกเบี้ยเร็วไปก่อนหน้าแล้ว ตลาดน่าจะคลายความกังวลว่าเฟดเองน่าจะควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ และน่าที่จะมองภาพการขยายตัวเศรษฐกิจในปีหน้าที่ยังไม่สะดุด และการท่องเที่ยวเริ่มกลับมา มีโอกาสที่เงินบาทสิ้นปีพลิกกลับมาแข็งค่าที่ระดับ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์

พร้อมกันนี้ เตือนผู้นำเข้าและส่งออกว่า ให้ระวัง ช่วงปลายปี2565 ทางธปท​. อาจส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อ​ 1.สกัดการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อรักษาเสถียรภาพ​ตลาดการเงิน​ และ2. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ​ใน​การ​ดำเนิน​นโยบาย​หรือตุนดอกเบี้ยไว้ใช้หากเกิดวิกฤติ​เศรษฐกิจ​ในอนาคต โดยการเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD)  ช่วยให้ผู้ส่งออก​ ผู้นำเข้าใช้ฝากเงินตราต่างประเทศ​ได้​ นอกจากทำ​ ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว

 

“กรุศรี” ชี้เงินบาทปี65แกว่งตัวผันผวนสูง

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาทในปี 2565 มองกรอบไว้ที่ 31.50-34.25 บาทต่อดอลลาร์ และเป้าหมายสิ้นปี 2565 ที่ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ แต่ระหว่างทางจะแกว่งตัวผันผวนสูง ดอกเบี้ยนโยบายไม่ปรับ แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในตลาดจะเป็นขาขึ้นตามตลาดโลกและการกู้เงินของทั้งภาครัฐและเอกชน

ดังนั้น มองว่า ความเสี่ยงค่าเงินบาทที่ผู้นำเข้าและส่งออกต้องระวัง พร้อมคำแนะนำ แม้เรามองว่าเงินบาทอาจแข็งค่าได้เล็กน้อยในปี 2565 ตามแนวโน้มการพลิกกลับมาเกินดุลบริการ แต่ความผันผวนสูงและปัจจัยเสี่ยงที่มีความสลับซ้ำซ้อนหลากหลายมิติ ทำให้ผู้ประกอบการทั้งฝั่งซื้อและขายเงินตราต่างประเทศจับจังหวะตลาดได้ยากมาก จึงแนะนำการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและพิจารณาใช้สกุลเงินท้องถิ่นในกรณีที่สามารถทำได้อีกทางหนึ่ง

วิจัยกรุงศรี คาดอัตราเงินเฟ้อ ปี 2565 จะอยู่ที่ 1.5% จากปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.2% โดยในไตรมาส 1/2565 อัตราเงินเฟ้อในประเทศจะสูงขึ้นและอาจไต่ขึ้นไปเกือบ 3% เป็นผลจากฐานที่ต่ำและการส่งผ่านของต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในครึ่งปีหลัง อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงใกล้ระดับ 1% ซึ่งเป็นกรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากราคาน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มลดลงและอุปสงค์ในประเทศยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

“ทีทีบี” แทงเงินบาทขา “อ่อนค่า”

สิ้นปี 65 แตะ 34.50 บาทต่อดอลลาร์

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี ธนาคารทหารไทยธนชาต กล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาทปี 2565 มีโอกาสอ่อนค่าลงไปได้ถึงช่วง 34-35 บาทตต่อดอลลาร์ ในกลางปีหน้า ปัจจัยหลักมาจาก 1. การที่ธนาคารกลางสหรัฐและประเทศพัฒนาแล้วเริ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและลดการอัดฉีดสภาพคล่อง ส่งผลให้สภาพคล่องดอลลาร์ลดลงและดอกเบี้ยโลกปรับตัวขึ้น ส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ ดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น 2. การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไทยจะยังคงขาดดุลต่อเนื่องทำให้ ความต้องการเงินบาทยังไม่กลับมา การมีโอมิครอนยิ่งมีแนวโน้มที่ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยจะกลับมาเกินดุลยากขึ้น

 และยังคาดการณ์ว่า ค่าเงินบาทอาจผันผวน ขณะที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวมีโอกาสปรับสูงขึ้น ทำให้สิ้นปี 2565 ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่า แตะ 34.50บาทต่อดอลลาร์จากปัจจัยภายนอกที่มาจากการลดการเข้าซื้อสินทรัพย์และการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในครึ่งหลังปี 2565 ของเฟดและปัจจัยภายในที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจจะยังไม่ฟื้นตัวเร็ว ในขณะที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นจากความกดดันของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในระยะยาว โดยปัจจุบันพันธบัตรรัฐบาลไทย (10Y) มีอัตราคอกเบี้ยอยู่ที่ 190% มีโอกาสปรับตัวไปได้ถึง 220% ในปี 2565 เป็นสาเหตุสํคัญที่กคดันผลตอบแทนการลงทุนในตราสารหนี้และกระทบต้นทุนการกู้ยืมเงินของภาคเอกชน