โควิด “โอมิครอน” ไล่ล่าประเทศไทย

โควิด “โอมิครอน” ไล่ล่าประเทศไทย

"โอมิครอน" กำลังไล่ล่าประเทศไทยทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ ต้องเร่งปรับตัวก่อนกลายเป็นองค์กรที่ล้าหลังใน "ยุคดิจิทัล"

ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" รายแรกเป็นหญิงชาวจีนเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2563 นับถึงปัจจุบันเกือบ 2 ปีเต็มที่ประเทศไทยเผชิญกับโรคระบาดครั้งใหญ่ในรอบศตวรรษ ผลจากการระบาดได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมและเศรษฐกิจโลกจนเกิดภาวะปกติใหม่ หรือ “นิวนอร์มอล” ที่ทำให้วิถีชีวิตของประชากรโลกต้องเปลี่ยนแปลงหลายส่วน และผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวันและในภาคธุรกิจในอัตราเร่งจนกระทั่งทำให้เกิดธุรกิจใหม่หลายธุรกิจ

ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะควบคุมจัดการได้อย่างดีเยี่ยม และทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติ แต่ธรรมชาติย่อมมีพลังเหนือการควบคุม เมื่อเชื้อ "ไวรัสโคโรนา" กลายพันธุ์ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก จากสถานการณ์ที่ประเทศไทยควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีถึงปลายปี 2563 เกิดปรากฏการณ์การแพร่ระบาดในลักษณะคลัสเตอร์ที่ขยายวงกว้างจากจุดอ่อนของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างชาติ การลักลอบเล่นการพนัน หรือการลักลอบเปิดสถานบันเทิง

นับได้ว่าประเทศไทยถูกเชื้อไวรัสโจมตีครั้งใหญ่ตลอดปี 2564 นับตั้งแต่เดือน ม.ค.-ธ.ค. เว้นบางช่วงสั้นๆ ที่ปล่อยให้ประเทศไทยได้พักจากการถูกโจมตี โดยเฉพาะการโจมตีจากสายพันธุ์ "เดลตา" ที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยถึง 2 ล้านคน และปัจจุบันประเทศไทยกำลังถูกโจมตีจากสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา และจะเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทยในอีกไม่ช้า สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัว โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เร็วขึ้น ซึ่งทำให้หลายธุรกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว เกิดการทำงานในรูปแบบใหม่ รวมถึงวัฒนธรรมการทำงานที่บ้านที่ช่วยลดต้นทุนดำเนินการได้ส่วนหนึ่ง และปฏิเสธไม่ได้ว่าได้เกิดจุดเปลี่ยนให้กับธุรกิจบางประเภทที่ขยายตัวอย่งรวดเร็ว

ในขณะที่บางธุรกิจได้รับความบอบช้ำจากผลกระทบโควิด-19 และแรงกดดันจาก "โอมิครอน" จะยิ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจมากขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดครั้งนี้ทำให้ประชาชนทั่วโลกเข้าสู่ภาวะปกติใหม่ โดยเฉพาะคนไทยที่ได้เข้าสู่ "กึ่งสังคมไร้เงินสด" ถึงแม้เงินสดยังเป็นกระแสหลักของระบบชำระเงิน แต่สังคมไร้เงินสดกำลังก่อตัวอย่างมั่นคงจนเชื่อได้ว่าในอนาคตที่โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นยังคงทำให้สังคมไร้เงินสดขยายตัวเพิ่มขึ้น

แต่ดูเหมือนว่าส่วนที่น่ากังวลคือภาครัฐที่หลายหน่วยงานดูเหมือนจะปรับตัวไม่ทันกับเทคโนโลยี ซึ่งหน่วยงานของรัฐบางแห่งปฏิเสธการเข้าสู่เทคโนโลยี และจะกลายเป็นองค์กรที่ล้าหลังในยุคดิจิทัล