20 อันดับ “ค่าเงินโลก” ปี2564 สกุลไหน “อ่อนค่า-แข็งค่า”ที่สุด

20 อันดับ “ค่าเงินโลก” ปี2564 สกุลไหน “อ่อนค่า-แข็งค่า”ที่สุด

กรุงไทย เปิด 20 อันดับ ค่าเงินโลก ปี64 “อ่อนค่า-แข็งค่า” ที่สุด พบ”ไทย” อ่อนค่าสุดติดอันดับ19 ที่ 10.2% เป็นรองแค่ญี่ปุ่น อ่อนค่าสูงสุด อันดับ 20 ที่10.4% เหตุ “เงินดอลลาร์” แข็งค่าและฝั่งเอเชีย อย่างไทย โดน “โควิดเดลตา-โอมิครอน” เล่นงาน เป็นปัจจัยกดดันช่วงต้นปี65

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทย  กล่าวว่า

สรุป20อันดับค่าเงินโลกปี2564 "อ่อนค่า-แข็งค่า"สูงสุด ดังนี้ 

อันดับ 1 Chinese Renminbi (CNY) แข็งค่าสูงสุด 2.4% 

อันดับ 2 Taiwanese Dollar (TWD)  แข็งค่า 2.3%

อันดับ 3 Vietnamese Dong (VND) แข็งค่า 1.3% 

อันดับ 4 Russian Ruble (RUB) อ่อนค่า 0.5 % 

อันดับ 5 Indonesian Rupiah  (IDR) อ่อนค่า 1.5%

อันดับ 6 British Pound (GBP) อ่อนค่า 1.5%

อันดับ 7 Indian Rupee (INR) อ่อนค่า 1.8%

อันดับ 8 Singapore Dollar (SGD) อ่อนค่า 2.3%

อันดับ 9 Mexican Peso (MXN) อ่อนค่า 3.3%

อันดับ 10 Malaysian Ringgit (MYR) อ่อนค่า 3.8% 

อันดับ 11 New Zealand Dollar (NZD) อ่อนค่า5.0% 

อันดับ 12 Australian Dollar (AUD) อ่อนค่า 5.7%

อันดับ 13 Philippine Peso (PHP) อ่อนค่า 5.8% 

อันดับ 14 Euro (EUR) อ่อนค่า 7.5%

อันดับ 15 South African Rand (ZAR) อ่อนค่า 7.9%

อันดับ 16 South Korean Won (KRW) อ่อนค่า 8.6%

อันดับ 17 Brazilian Real (BRL) อ่อนค่า 8.7% 

อันดับ 18 Swedish Krona (SEK) อ่อนค่า 9.2% 

อันดับ 19 Thai Baht (THB) อ่อนค่า 10.2%

อันดับ 20 Japanese (JPY) อ่อนค่าสูงสุด 10.4%
 

20 อันดับ “ค่าเงินโลก” ปี2564 สกุลไหน “อ่อนค่า-แข็งค่า”ที่สุด

 

ตลาดการเงินโลกปี2564 

“เงินดอลลาร์” โดยรวมปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งภูมิภาคอื่นๆ รวมถึง แนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด

อย่างไรก็ดี “สกุลเงินฝั่งเอเชีย”โดยเฉพาะเอเชียเหนือ อย่าง เงินหยวนจีนและเงินดอลลาร์ไต้หวัน และสกุลเงินอาเซียนอย่าง เงินดองเวียดนาม กลับสามารถแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ได้ จากอานิสงส์การฟื้นตัวของการค้าโลกโดยเฉพาะความต้องการใช้สินค้าเทคโนโลยี 

นอกจากนี้ สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในจีนและไต้หวันที่ดูจะสงบกว่าประเทศอื่นๆ จากนโยบาย Zero COVID ก็มีส่วนช่วยให้ สกุลเงินหยวนและดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่าขึ้น

ขณะที่สกุลเงินเอเชีย อื่นๆ เฉลี่ยแล้วอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์จากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ซึ่งแน่นอนว่า จะกระทบหนักที่สุดกับประเทศที่เน้นพึ่งพาการท่องเที่ยว อย่างไทย ส่งผลให้ เงินบาทอ่อนค่าถึง -10% 

ส่วนเงินเยนญี่ปุ่นในปีนี้ อ่อนค่าที่สุดในเอเชีย เนื่องจากความแตกต่างนโยบายการเงินของเฟดกับธนาคารกลางญี่ปุ่นรวมถึงแนวโน้มการเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า สกุลเงินในฝั่งยุโรป รวมถึง ตลาดเกิดใหม่อื่นๆ อาทิ ประเทศในแถบอเมริกาใต้ ต่างก็อ่อนค่าลงพอสมควร ซึ่งปัจจัยหลักที่กดดันสกุลเงินดังกล่าว คือ ปัญหาการระบาด COVID-19 ที่กดดันให้เศรษฐกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้แข็งแกร่ง รวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นในหลายประเทศ 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของเงินบาท ปี 2564  

อยู่กรอบระหว่าง 29.84-33.99 บาทต่อดอลลาร์ ในปี2564 โดยเงินบาททรงตัวในกรอบแคบ แต่ก็ยืนในระดับที่แข็งค่ากว่าแนว 30.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นปีสอดคล้องกับสกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่ที่มีทิศทางแข็งค่าขึ้นท่ามกลางแรงหนุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจากความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์ฯ มีแรงกดดันจากสัญญาณยืนยันเดินหน้ามาตรการคิวอี ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในเวลานั้นเพื่อประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเมินว่า แรงกดดันเงินเฟ้อเป็นภาวะชั่วคราว

อย่างไรก็ดี “เงินบาท” เริ่มทยอยอ่อนค่าลงตั้งแต่ในช่วงเดือนมี.ค. จนถึงช่วงท้ายปี 2564 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศ (ทั้งจากสายพันธุ์เดลต้าและโอมิครอน) ซึ่งนอกจากจะมีผลกระทบต่อสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของค่าเงินบาทแล้ว ยังมีผลต่อเส้นทางและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน 

ขณะที่ในฝั่งค่าเงินดอลลาร์มีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการทยอยปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯหลังแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามจังหวะการฟื้นตัวของตลาดแรงงงานและเศรษฐกิจสหรัฐฯจนทำให้เฟดต้องส่งสัญญาณทยอยลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน และเตรียมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2565 

ขณะที่ในวันทำการสุดท้ายของปี 2564 (30ธ.ค.) เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์ที่ 33.32 ก่อนจะกลับมาปิดตลาดในประเทศที่ 33.38 เทียบกับระดับ 33.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 ธ.ค. 64)

 

เงินบาทขยับแข็งค่าในสัปดาห์สุดท้ายของปี 2564 

โดยเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับค่าเงินหยวนและอีกหลายสกุลในเอเชียท่ามกลางความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ดีกรอบการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากยังคงมีแรงประคองต่อเนื่องจากสถานะซื้อสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขายเป็นระยะๆ หลังมีรายงานระบุว่า อาการป่วยของผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนอาจไม่รุนแรง และมีความเสี่ยงน้อยที่จะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-7 ม.ค. 65) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.80-33.80 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19 และตัวเลขเงินเฟ้อเดือนธ.ค. ของไทย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน การจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนธ.ค. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนพ.ย. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และรายงานการประชุมเฟดเมื่อ 14-15 ธ.ค. 64 นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลPMI เดือนธ.ค. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษ และตัวเลขเงินเฟ้อเดือนธ.ค. ของยูโรโซนด้วยเช่นกัน