ย้อนรอยมหากาพย์ "เปิดประเทศ" บทพิสูจน์ท่องเที่ยวไทยฝ่าวิกฤติโควิด-19

ย้อนรอยมหากาพย์ "เปิดประเทศ" บทพิสูจน์ท่องเที่ยวไทยฝ่าวิกฤติโควิด-19

ใครจะคิด? ว่าวิกฤติโควิด-19 ยืดเยื้อมานาน 2 ปีเต็ม แม้ปี 2564 จะเป็นปีแห่งการจัดหาและระดม “ฉีดวัคซีน” ทั่วโลก เปรียบเป็น “Game Changer” หรือกุญแจสำคัญคลายล็อกให้ภาคธุรกิจฟื้นตัวอีกครั้ง จุดไฟแห่งความหวังแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

นำไปสู่การ “เปิดประเทศ” (Thailand Reopening) เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเคยสร้างรายได้แก่ประเทศไทยราว 2 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2562 ก่อนเจอวิกฤติโควิด-19 จากจำนวนชาวต่างชาติที่เดินทางเที่ยวไทยเกือบ 40 ล้านคน

แต่ “ความไม่แน่นอน” ของสถานการณ์โควิด-19 ยังคงตามหลอกหลอน! เมื่อเกิดการระบาดซ้ำภายในประเทศไทย โดยเฉพาะระลอก 3 เดือน เม.ย.2564 กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเปิดประเทศ ตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อใหม่พุ่งสูงต่อเนื่อง ทำนิวไฮทะลุ 20,000 คนต่อวัน เมื่อเดือน ส.ค. ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ มาตรการล็อกดาวน์ถูกงัดมาใช้อีกครั้งเพื่อสกัดการระบาด ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องระดมสรรพกำลังช่วยกันกดยอดผู้ติดเชื้อใหม่ให้ลดลงจนอยู่ที่ระดับ 2,000 คนต่อวัน

กระนั้นก็ยังมีตัวละครใหม่ ไวรัสสายพันธุ์ “โอมิครอน” มาปั่นป่วนในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2565

“กรุงเทพธุรกิจ”  ชวนย้อนความหลัง “มหากาพย์เปิดประเทศ” ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ภายใต้ปัจจัยหลัก 5 เรื่อง ได้แก่ ความเชื่อมั่นของคนไทยในฐานะเจ้าบ้าน สถานการณ์การเข้าถึงวัคซีนทั้งในไทยและต่างประเทศ การอำนวยความสะดวกในการเข้าเมือง นโยบายการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศของประเทศต้นทาง และมาตรด้านสาธารณสุขในการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย

เมื่อเดือน มี.ค.2564 สัญญาณการผ่อนปรนเปิดรับ “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” เริ่มชัดเจนขึ้น คำว่า “แซนด์บ็อกซ์” (Sandbox) หรือกระบะทรายเพื่อใช้ทดลองไอเดีย ถูกชูเป็นประเด็นเพื่อทดลองเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ สปอตไลท์ส่องไปที่ “ภูเก็ต” เข้าเต็มๆ เป็น “ความหวังของหมู่บ้าน” ไม่ต่างจากวาระแห่งชาติ! เพราะในช่วงก่อนหน้านั้น รัฐบาลกางโรดแมพเปิดประเทศก็จริง แต่เป็นการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ารับการกักตัวในโรงแรมก่อน ยังไม่เสรีมากพอที่จะจูงใจ

รัฐบาลจึงปรับมาตรการให้ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เริ่มคิกออฟตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2564 รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และมีผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เป็นลบ ระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนออกเดินทางจากประเทศต้นทาง สามารถเที่ยวภูเก็ตได้แบบ “ไม่ต้องกักตัว” แต่ต้องอยู่ในพื้นที่อย่างน้อย 7 คืน ถึงจะเดินทางไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้ทั่วประเทศ ภายใต้หลักเกณฑ์สำคัญเรื่องประชากรในภูเก็ตต้องได้รับการฉีดวัคซีนไม่ต่ำกว่า 70% เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ หวังกู้รายได้การท่องเที่ยวของ “ไข่มุกอันดามัน” ซึ่งเคยมีมูลค่ากว่า 4.7 แสนล้านบาทต่อปีกลับคืนมา คิดเป็นสัดส่วนถึง 15% ของรายได้รวมการท่องเที่ยวไทย 3 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2562

โมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้สร้างชื่อและกลายเป็น “ต้นแบบ” ของการปรับมาตรการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในหลายๆ พื้นที่ในไทยให้สอดคล้องกับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เช่น “สมุย พลัส โมเดล” เริ่มเมื่อวันที่ 15 ก.ค. รวมถึงโครงการในพื้นที่อื่นๆ

โดยตลอด 4 เดือนตั้งแต่ ก.ค.-ต.ค.2564 พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวผ่านโครงการเหล่านี้รวมประมาณ 60,000 คน แม้จะเป็นจำนวนที่ไม่มาก หากจะประสบความสำเร็จ...ก็เป็นในเชิงสัญลักษณ์มากกว่า!

แต่หนทางหมื่นลี้ย่อมมีก้าวแรกฉันใด ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ก็คือก้าวแรกที่สำคัญมากๆ ฉันนั้น กรุยทางสู่การประกาศ “เปิดประเทศภายใน 120 วัน” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2564 ภายใต้บทพิสูจน์สำคัญ…ต้องระดมฉีดวัคซีนแก่คนไทยให้ถึงเป้าหมาย

ทว่าสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ “เดลต้า” ภายในประเทศกลับบานปลาย ลุกลามเป็นวงกว้าง! จากยอดผู้ติดเชื้อใหม่เมื่อเดือน มิ.ย.ที่มีราว 2,000 คนต่อวัน พุ่งเป็น 10 เท่า ทะลุ 20,000 คนต่อวันในเดือน ส.ค. ที่น่ากังวลคืออัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 200 คนต่อวันจากหลักสิบคน จนเป็นเหตุให้ต้องล็อกดาวน์อีกครั้ง เศรษฐกิจพัง แม้แต่ตลาดท่องเที่ยวในประเทศที่เป็นน้ำบ่อหน้าหวังดื่มกิน ยังไม่เหลือ

เมื่อเห็นเค้าสถานการณ์คลี่คลาย พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯจึงออกแถลงการณ์อีกครั้งเมื่อวันที่ 11 ต.ค.2564 เรื่อง “เปิดประเทศ 1 พ.ย.2564” คราวนี้ปรับมาตรการให้ผ่อนคลายมากขึ้น เปิดรับนักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยแบบ “ไม่กักตัว” และ “ไม่จำกัดพื้นที่” รองรับดีมานด์ช่วงไฮซีซั่นปลายปี ด้วยการแบ่งประเภทนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยออกเป็น 3 ประเภท

ได้แก่ 1.Test & Go (Exemption from Quarantine) ผู้ที่เดินทางมาจาก 63 ประเทศที่กำหนด สามารถเดินทางมา “เที่ยวไทยแบบไม่กักตัว” ภายใต้เงื่อนไขรับวัคซีนครบโดสไม่น้อยกว่า 14 วัน มีผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เป็นลบ ระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง พำนักในโรงแรมที่พักมาตรฐาน SHA Plus หรือ AQ จำนวน 1 คืน เพื่อรอผลการตรวจโควิด-19 เมื่อผลเป็นลบ สามารถออกเดินทางท่องเที่ยวไม่จำกัดพื้นที่

2.Living in The Blue Zone Sandbox สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสที่เดินทางมาจากประเทศอื่นๆ สามารถท่องเที่ยวในพื้นที่สีฟ้า (Blue Zone) อย่างน้อย 7 วัน และ 3.Happy Quarantine สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศใดก็ได้ กรณีได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ กักตัวใน Alternative Quarantine (AQ) จำนวน 7 วัน กรณีได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ หากเดินทางทางอากาศและทางน้ำ กักตัวใน AQ จำนวน 10 วัน ส่วนทางบก กักตัวใน AQ จำนวน 14 วัน

ผลตอบรับจากการปรับมาตรการเป็นไปด้วยดี สะท้อนจากดีมานด์นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รายงานว่าเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมามีจำนวน 1.6 แสนคน เฉพาะเดือน ธ.ค.มีแนวโน้มเดินทางเข้ามาอีก 1.3 แสนคน คาดการณ์ว่าตลอดปี 2564 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4 แสนคน สร้างรายได้จากตลาดต่างประเทศ 2.4 แสนล้านบาท

แต่แล้ววายร้ายโควิด-19 ก็พ่นพิษไม่หยุด เกิดการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ “โอมิครอน” มาเป็นบททดสอบการเปิดประเทศว่าจะไปต่อ หรือพอแค่นี้?!

และคำตอบที่ได้รับจากรัฐบาลขณะนี้ก็คือ พักก่อน! กดปุ่ม PAUSE ระงับการลงทะเบียนผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรประเภท Test & Go และแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) เป็นการชั่วคราว ยกเว้นภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และการเข้ามาแบบกักตัว เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.2564-4 ม.ค.2565 ตามมติด่วนของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสกัดการระบาดของโอมิครอนที่กำลังป่วนโลก โดยเฉพาะในตลาดหลักของภาคท่องเที่ยวไทยอย่างยุโรป เช่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส รวมถึงสหรัฐก็ยังหลบไม่พ้น

พร้อมย้ำว่า...ไม่ได้ “ปิดประเทศ” แต่อย่างใด! ขอให้เข้าใจตรงกันตามนี้

เปิดม่านปีใหม่ 2565 จึงมีเรื่องให้ต้องตามลุ้นกันต่อว่ารัฐบาลจะพิจารณายืดระยะเวลาระงับการลงทะเบียนฯ ชั่วคราวต่อไปอีกจากกำหนดเดิมสิ้นสุดในวันที่ 4 ม.ค.2565 หรือไม่ หรือจะมีการปรับมาตรการเพื่อ “อุดช่องโหว่” ลดคำครหาว่านักท่องเที่ยวต่างชาติคือผู้นำเข้าเชื้อโอมิครอนเข้าสู่เมืองไทย

กลายเป็นว่าช่วงหยุดยาวเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยต้อง “เคาท์ดาวน์” ด้วยใจระทึก! ขอให้แคล้วคลาดจากโอมิครอน กลับมาเปิดระบบรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เช่นเดิม

เพราะนี่คือ “ของขวัญปีใหม่” ที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวอยากได้มากที่สุด เพื่อต่อลมหายใจธุรกิจให้ไปต่อได้ในปี 2565 !!!