แบงก์พาณิชย์ขานรับ แก้หนี้ระยะยาว SCB ตั้งเป้าปรับโครงสร้างหนี้5แสนล้าน

แบงก์พาณิชย์ขานรับ แก้หนี้ระยะยาว SCB ตั้งเป้าปรับโครงสร้างหนี้5แสนล้าน

แบงก์เร่งเครื่องปรับโครงสร้างหนี้ ลดผลกระทบโควิด หวังช่วยลูกหนี้ให้อยู่รอดระยะยาว “ไทยพาณิชย์”ตั้งเป้าช่วยลูกหนี้สิ้นปีหน้า 5 แสนล้านบาท เครดิตบูโรคาดยอดปรับหนี้ปีนี้แตะ 1 ล้านล้าน

        นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แม้ปัจจุบัน คุณภาพสินเชื่อ หรือทิศทางหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลของธนาคาร ไม่ได้เร่งตัวขึ้นมากนัก และถือว่าปรับตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยอยู่ที่ระดับ 3.9% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยหากเทียบกับต้นปีที่ผ่านมา ที่อยู่ที่ 3.7% ซึ่งต่ำกว่าประมาณการที่คาดไว้เดิมที่คาดเร่งตัวสูงถึง 4-4.5%

     แต่หนี้เสีย และคุณภาพหนี้ ก็เป็นสิ่งที่ธนาคารต้องดูแลอย่างใกล้ชิด โดยการเร่งดูแลลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาระดับเอ็นพีแอลให้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ดังนั้นสิ่งที่ธนาคารจะทำต่อเนื่อง คือการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ออกมาเมื่อ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา

     โดยเฉพาะการเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ ลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของธนาคาร ให้สามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว และให้สอดรับกับรายได้ และความสามารถชำระหนี้ในระยะข้างหน้า โดยธนาคารตั้งเป้าในการเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ ให้ลูกหนี้ของธนาคาร จนถึงปี 2566 ที่ 5 แสนล้านบาท ตามมาตรการธปท.

     ซึ่งจะมาจากลูกหนี้ในพอร์ตของธนาคาร ที่เข้าสู่มาตรการช่วยเหลือแล้ว 4.6 แสนล้านบาท ที่ธนาคารจะเข้าไปช่วยปรับโครงสร้างหนี้ไปสู่มาตรการแก้หนี้ระยะยาวมากขึ้นเพิ่มเติมจากมาตรการช่วยเหลือในปัจจุบัน ที่มีทั้งพักหนี้ ยืดชำระหนี้ ลดการผ่อนชำระต่างๆ

      ขณะที่อีกส่วนจะมาจากลูกหนี้ของธนาคาร ที่อยู่ภายใต้การช่วยเหลือในช่วงที่ผ่านมา และออกจากโครงการไปแล้วในปัจจุบัน แต่ยังต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม จากผลกระทบจากโควิด-19 ที่เข้ามาเพิ่มเติม ทำให้คาดว่ากลุ่มนี้น่าจะเข้าสู่มาตรการระยะยาวเพิ่มขึ้นด้วย

     “วันนี้ ธนาคารมีลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการ 4.6 แสนล้านบาท ลดลงหากเทียบกับช่วงเกิดโควิดใหม่ๆ ที่ยอดการขอรับช่วยเหลือสูงถึง 8.4 แสนล้านบาท และคาดการณ์ระยะข้างหน้า ยอดการขอรับการช่วยเหลือจะลดลงต่อเนื่องในปีหน้า และที่ธนาคารเร่งทำ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ระยะยาว คือปรับโครงสร้างหนี้ หรือแก้หนี้ระยะยาว ให้ลูกหนี้อยู่รอดในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า หรือมากกว่านั้น โดยตั้งเป้าเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ จากมาตรการระยะสั้นในปัจจุบันราว 5 แสนล้านบาท ในช่วง 2ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้แบงก์สามารถดูแลลูกหนี้ได้ และคุมหนี้เสียให้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้”

     สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว หรือแก้หนี้ระยะยาว ธนาคารได้เริ่มทยอยทำแล้ว ตั้งแต่ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา และคาดว่าไตรมาส 4 จะเห็นยอดการแก้หนี้ระยะยาวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

      ทั้งนี้การแก้หนี้ระยะยาว ธนาคารจะดูเป็นรายกรณี รายอุตสาหกรรม รวมถึงผลกระทบของแต่ละลูกหนี้ว่ามากน้อยแค่ไหน ซึ่งบางรายอาจเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว 5-10 ปีได้ เช่น ธุรกิจโรงแรม

     “การช่วยเหลือผ่านมาตรการแก้หนี้ระยะยาว หรือการปรับโครงสร้างหนี้ สามารถทำได้หลายด้าน เช่นการช่วยลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้มียอดหนี้ลดลง และมีความสามารถชำระหนี้เพิ่มขึ้น ส่วนนี้แบงก์ก็ต้องยอมสูญเสียรายได้ดอกเบี้ย เพื่อมาดูแลลูกหนี้ เพราะหวังว่าในระยะยาวเกิน 5 ปีไปแล้วลูกหนี้กลุ่มนี้น่าจะดีขึ้น และไม่กลับมาปรับโครงสร้างหนี้ซ้ำซ้อนอีก และลูกหนี้บางส่วนที่เรารู้ว่าไปไม่รอด แบงก์ก็มีการตี และรับรู้เป็นเอ็นพีแอลไปแล้ว 1 ใน 3 ของพอร์ตด้วยเพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต”

กสิกรชี้แบงก์ปรับโครงสร้างเร่งตัวต่อเนื่อง

    นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า หากดูยอดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบของแบงก์ 29 แห่งในปัจจุบัน พบว่าเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยก่อนหน้าเกิดโควิด-19 การปรับโครงสร้างหนี้ของแบงก์ให้กับลูกหนี้ ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ระยะสั้นระยะยาวต่างๆ เฉลี่ยต่อปีเพิ่มขึ้น 8-8.3 หมื่นล้านบาท

     แต่ตั้งแต่เกิดโควิด-19 แบงก์มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้เพิ่มขึ้น เฉลี่ยต่อปี 8.5-9 หมื่นล้านบาทต่อปี ภายใต้การคาดการณ์หนี้เสียของทั้งระบบที่คาดสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 3.2 % และสิ้นปีหน้า 3.3% ดังนั้นคาดว่ายอดการปรับโครงสร้างหนี้ปีหน้า จะเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 9.5 หมื่นล้านบาทต่อปี

    “เรามองการปรับโครงสร้างหนี้ยังเร่งตัวขึ้นต่อ ซึ่งมาตรการธปท.ที่ออกมาถือว่าช่วยลูกหนี้ได้มาก เพราะเป็นการมองภาพไกลกว่านี้ในการช่วยเหลือลูกหนี้ สอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้ จากผลกระทบโควิด-19 เพราะลูกหนี้ฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้นคาดว่าการปรับโครงสร้างหนี้จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”

    สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ แบ่งเป็นธุรกิจและสินเชื่อรายย่อย พบว่า ธุรกิจ มีการปรับโครงสร้างหนี้เฉลี่ยปีก่อนอยู่ที่ 1.35 หมื่นล้านต่อไตรมาส ขณะที่ 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของปีนี้ แบงก์มีการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 หมื่นล้านบาทต่อไตรมาส สะท้อนการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่เป็นระยะยาวมากขึ้น

    ขณะที่สินเชื่อรายย่อย มีการปรับโครงสร้างหนี้ปีก่อนหน้าอยู่ที่ 7.8 พันล้านบาทต่อไตรมาส แต่ปีนี้ มาเป็น 7 พันล้านบาทต่อไตรมาสลดลง แต่ยังสูงหากเทียบกับก่อนโควิด-19

     สำหรับลูกหนี้ที่เข้าสู่มาตรการช่วยเหลือธปท. ล่าสุด ณ ต.ค. อยู่ที่ 2.41 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นยอดหนี้ 2.13 ล้านล้านบาท

แลนด์แบงก์ช่วยกลุ่มท่องเที่ยว

    นางสาวชมภูนุช ปฐมพร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH Bank กล่าวว่า ธนาคารประเมินแนวโน้มลูกหนี้ที่จะเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ปี 2565 จะลดลงจากปีนี้ ที่มีลูกหนี้เข้ารับการช่วยเหลือมูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท หรือ 29% ของพอร์ตสินเชื่อรวม

    โดยเป็นลูกหนี้รายย่อยประมาณ 1,220 ล้านบาท ซึ่งภาพรวมลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการปรับตัวลดลงจากช่วงพีค 5.9 หมื่นล้านบาท หรือ 36% ของพอร์ตสินเชื่อรวม

    ทั้งนี้ เนื่องจากลูกหนี้ของธนาคารส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่มีรายได้สูงและมีวินัยในการชำระเงิน จึงไม่ค่อยได้รับผลกระทบและไม่ต้องการยืดเวลาชำระหนี้

    อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการกลับมาชำระหนี้ของลูกหนี้กลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มลูกหนี้ธุรกิจที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยว หากโควิด-19 มีความเสี่ยงกลับมาระบาดรุนแรง หรือภาครัฐใช้มาตรการที่ส่งผลให้การเดินทางชะงักงัน จะส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ในกลุ่มดังกล่าวโดยตรง ซึ่งอาจส่งผลให้ลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการในปีหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น

    “ธนาคารยังเชื่อว่าหากไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ระลอกใหม่ จำนวนลูกหนี้ที่เข้าโครงการจะไม่เพิ่มขึ้น แต่หากมีระลอกใหม่คาดว่าจะมีการขอความช่วยเหลือเข้ามาในส่วนของลูกหนี้รายย่อยสินเชื่อบ้าน ส่วนสินเชื่อธุรกิจอาจมีส่วนของภาคธุรกิจโรงแรม แต่คาดว่าจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือโดยคำนึงถึงการฟื้นตัวที่ค่อยเป็นค่อยไปแล้ว ซึ่งการฟื้นตัวภาพรวมน่าจะค่อยๆ กระเตื้องดีขึ้น”

ยอดปรับโครงสร้างจ่อแตะ1ล้านล้าน

    นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร กล่าวว่า หากดูลูกหนี้ ที่อยู่ภายใต้การปรับโครงสร้างหนี้ในปัจจุบัน พบว่ายังเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง ภายใต้ผลกระทบจากโควิด-19 และการเร่งเข้าไปดูแลของสถาบันการเงิน และนอนแบงก์ ในการดูแลลูกหนี้ผ่านมาตรการแก้หนี้ระยะยาว ทำให้ยอดการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้น

    โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ยอดการปรับโครงสร้างหนี้ บนข้อมูลของเครดิตบูโร จากสินเชื่อคงค้างที่ 12.5 ล้านล้านบาท พบว่าในนี้ เข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้แล้ว 8.5 แสนล้านบาท โดยคาดว่า ณ สิ้นปีนี้จะเห็นการปรับโครงสร้างหนี้สู่ 1 ล้านล้านบาท 

    ดังนั้นการปรับโครงสร้างหนี้จะเป็นโจทย์สำคัญ ที่จะช่วยพยุงลูกหนี้และหนี้เสียในระบบไม่ให้เพิ่มมาก ขึ้นอยู่กับว่าทำมาตรการเชิงป้องกันได้เร็วแค่ไหนอันนี้ก็เป็นความหวัง และความกดดันสำหรับแบงก์ในระยะข้างหน้า

    “เราเชื่อว่าการปรับโครงสร้างหนี้จะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะมีบางส่วน ที่ธนาคารเข้าไปช่วยเหลือผ่านการยืดหนี้ออกไป และยังไม่ปรับมาตรการไปสู่การปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ดังนั้นจะมีบางส่วนที่ยังไม่เข้าสู่มาตรการที่อาจเข้ามาในอนาคตได้ แต่ แม้ว่านี้มีมาตรการช่วยเหลือต่างๆแต่ยอดปรับโครงสร้างหนี้ก็ยังเพิ่มขึ้น ดังนั้นเหล่านี้คือความน่ากลัว กลุ่มที่เราห่วงเช่น กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท และกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท ที่ยังเป็นกลุ่มเปราะบางด้านรายได้เมื่อถูกผลกระทบ”