ททท.หวั่น "โอมิครอน" รุนแรง ทุบจับจ่าย-ท่องเที่ยวปีใหม่

ททท.หวั่น "โอมิครอน" รุนแรง ทุบจับจ่าย-ท่องเที่ยวปีใหม่

เอกชนท่องเที่ยวลุ้นหลังปีใหม่ 4 ม.ค.65 ภาครัฐพิจารณาปลดล็อกระงับการลงทะเบียนขอเข้าไทยประเภท Test & Go และ Sandbox เป็นการชั่วคราว “พิพัฒน์” ชี้หากสถานการณ์โควิด-19 เปลี่ยน จำเป็นต้องเลื่อนการลงทะเบียนฯไปอีกระยะ เล็งเลือกเปิดพื้นที่ “แซนด์บ็อกซ์” สูงสุด 28 จังหวัด

ด้าน โอมิครอน ทุบมู้ดเที่ยว-กำลังซื้อปีใหม่แผ่ว คนไทยรัดเข็มขัดแน่น “ททท.” คาดจำนวนการเดินทาง 2.63 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ท่องเที่ยว 8,040 ล้านบาท

หลังรัฐบาลปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคสำหรับสถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนตามมติของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา ระงับการลงทะเบียนผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรประเภท Test & Go และแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) เป็นการชั่วคราว ยกเว้นภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ และการเข้ามาแบบกักตัว เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.2564-4 ม.ค.2565 พบว่าสิ่งที่ภาคเอกชนท่องเที่ยวตั้งตารอมากที่สุด คือรัฐจะขยายระยะเวลาอีกหรือไม่ และยังส่งจดหมายเปิดผนึกถึงกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อขอให้พิจารณาเปิดพื้นที่ต่างๆ เป็นแซนด์บ็อกซ์อีกด้วย

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า หลังเทศกาลปีใหม่ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะประชุมกันในวันที่ 4 ม.ค.2565 เพื่อประเมินสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะการระบาดของโอมิครอน หากไม่มีการกระเพื่อมทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) อาจจะพิจารณาปลดล็อกการระงับการลงทะเบียนฯ อนุญาตให้นักท่องเที่ยวยื่นขอไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) ประเภท Test & Goและแซนด์บ็อกซ์ได้อีกครั้ง

แต่ถ้าสถานการณ์เปลี่ยน ภาครัฐจำเป็นต้องขยายระยะเวลา ก็ต้องผลักดันให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยผ่านภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และในกรณีที่จำเป็นต้องเลื่อนการเปิดลงทะเบียนฯ กระทรวงฯ ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าสามารถเลือกเปิดแซนด์บ็อกซ์รับนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งสามารถเปิดได้สูงสุดใน 28 จังหวัด ว่าสามารถเลือกเปิดในจังหวัดไหนนอกจากภูเก็ต ขณะเดียวกันก็สามารถควบคุมไม่ให้นักท่องเที่ยวออกนอกพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ได้ด้วย

สำหรับช่วงเทศกาลท่องเที่ยวปีใหม่ ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้หน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงดูแลความปลอดภัย และแม้จะมีการระบาดของโอมิครอน แต่ทางนายกฯ ก็ไม่ได้มีคำสั่งล็อกดาวน์ เพื่อให้สามารถเดินทางได้ตามปกติ และจัดงานเคาท์ดาวน์ได้ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุข

 

++ ททท.คาด 2 ซีนาริโอท่องเที่ยวปีใหม่

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ วันที่ 31 ธ.ค.2564-3 ม.ค.2565 เป็นช่วงเวลาที่คาดการณ์การท่องเที่ยวในประเทศช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้และแนวโน้มปี 2565 ว่าจะเดินหน้าหรือจะชะลอตัว เนื่องจากมีตัวแปรใหม่ “โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน” โดยมี 2 กรณีคือ 

กรณีแรก หากโอมิครอนยังไม่ทวีความรุนแรง หลายพื้นที่สามารถจัดงานเคาท์ดาวน์ได้ โดยมีแรงจูงใจอย่างสภาพอากาศหลายพื้นที่ มีวันหยุดยาวติดต่อกัน อีกทั้งอยู่ในช่วงการใช้สิทธิ์มาตรการโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 และคนละครึ่ง การจัดกิจกรรมกระตุ้นท่องเที่ยวทั้งในส่วนของ ททท.ร่วมกับภาคเอกชนจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ด้วยแนวคิด “Amazing Thailand Countdown 2022-Amazing New Chapters” ภายใต้มาตรการ New Normal ปลอดภัยตามมาตรการสาธารณสุข ยิ่งช่วยสร้างบรรยากาศและสีสันแห่งความสุข ความรื่นเริงและความมั่นใจให้ผู้คนออกมาท่องเที่ยวมากขึ้น 

ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางภายในภูมิภาคเป็นหลัก เนื่องจากพฤติกรรมท่องเที่ยวช่วงโควิด-19 เปลี่ยนไป เดินทางระยะใกล้มากขึ้นและนิยมขับรถเที่ยวเอง สอดคล้องกับผลสำรวจพฤติกรรมคนไทยหลังโควิด-19 ของ กวจ.ระบุว่า จะเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว 85% และเลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่อากาศดี ถ่ายเทสะดวก ไม่คับแคบ

 

++ รายได้ท่องเที่ยวปีใหม่สะพัด 8 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของโอมิครอนส่งผลกระทบต่อความมั่นใจบางส่วน ทำให้เลื่อนเดินทาง แต่ก็มีบางกลุ่มที่ยังคงออกเดินทางท่องเที่ยว อาทิ กลุ่ม Gen Y, Gen X ที่มั่นใจในการดูแลตัวเอง 

ด้านผลสำรวจคนไทยกับการท่องเที่ยวส่งท้ายปี 2564 ของสวนดุสิตโพล พบว่า 40.57% จะไม่เดินทางช่วงวันหยุดยาวปีใหม่นี้เพราะกังวลโควิด-19 อมิครอน ปัญหาเศรษฐกิจและเงินไม่พร้อม 34.35% จะเดินทางเพราะฉีดวัคซีนแล้ว อีก 25.08% ไม่แน่ใจรอดูสถานการณ์

ดังนั้นจึงคาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวจะแผ่วลงกว่าช่วงวันหยุดก่อนหน้า ผนวกกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ทำให้จำนวนการเดินทางอยู่ที่ 2.63 ล้านคน-ครั้ง รายได้ทางการท่องเที่ยว 8,040 ล้านบาท อัตราการเข้าพักเฉลี่ย 48%

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม เกือบทั้งหมดเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ ชลบุรี นครราชสีมา กาญจนบุรี กรุงเทพฯ ขอนแก่น ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรปราการ และเพชรบุรี ซึ่งส่วนใหญ่นิยมขับรถพาครอบครัวไปรับประทานอาหาร และท่องเที่ยวพักผ่อน ขณะที่เมืองหลักอย่างเชียงใหม่และเมืองรองอย่างเชียงรายยังคงได้รับความนิยม สอดคล้องกับรายงานของธุรกิจจองที่พักออนไลน์ (OTAs: Online Travel Agency) พบว่าสถานที่ท่องเที่ยวที่นิยม คือ เชียงใหม่ พัทยา และกรุงเทพฯ นครราชสีมา และกาญจนบุรี

 

++ ชูเอกลักษณ์ท้องถิ่น “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ เคาท์ดาวน์”

ด้านการจัดงาน “Amazing Thailand Countdown 2022-Amazing New Chapters” ของ ททท. โดยชูเอกลักษณ์ท้องถิ่น ซึ่ง ททท. จัดกิจกรรม 5 พื้นที่ ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา ระยอง พระนครศรีอยุธยา และภูเก็ต และให้การสนับสนุน 1 พื้นที่คือ กรุงเทพฯ (ไอคอนสยาม และเซ็นทรัลเวิลด์)

“คาดว่าบรรยากาศทางการท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าวค่อนข้างดี มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเดินทางเข้าพื้นที่ประมาณ 545,000 คน-ครั้ง และสร้างรายได้หมุนเวียน 2,040 ล้านบาท โดยแต่ละพื้นที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเกิน 50% ขณะที่ภูเก็ตและกรุงเทพฯ มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยต่ำกว่า 20% อาจเป็นเพราะช่วงนี้คนไทยต้องการสัมผัสอากาศหนาวเย็น ประกอบกับทั้ง 2 พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางท่องเที่ยวจากคนจังหวัดใกล้เคียง ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวพักค้างมีน้อย”

 

++ หากโอมิครอนรุนแรงฉุดท่องเที่ยวซบเซา

กรณีที่ 2 หากโอมิครอนทวีความรุนแรง และต้องงดจัดงานเทศกาลปีใหม่เคาท์ดาวน์ ไม่ว่าจะใช้มาตรการล็อคดาวน์หรือไม่ก็ตาม จะส่งผลกระทบต่อท่องเที่ยวพร้อมกับฉุดให้เศรษฐกิจในประเทศตกอยู่ในภาวะหดตัว และกำลังซื้อของประชาชนยังไม่กลับเข้าสู่ระดับศักยภาพที่จะใช้จ่ายได้เหมือนก่อนเกิดวิกฤติโควิด ทำให้จำนวนครั้งในการเดินทางลดลง จึงคาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศจะกลับมาอยู่ในภาวะซบเซาอีกครั้ง โดยมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้ใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563

ททท.หวั่น \"โอมิครอน\" รุนแรง ทุบจับจ่าย-ท่องเที่ยวปีใหม่