จับตา ’โอมิครอน’ ฉุดเศรษฐกิจ กระทบภาคส่งออก-ท่องเที่ยว

ภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวเดินหน้าขอรัฐ​ เปิดพื้นที่แซนด์บ็อกซ์หรือบลูโซนรับต่างชาติเพิ่ม​ หวั่นโอมิครอนทำเศรษฐกิจ​สะดุด​ คนท่องเที่ยวตกงานซ้ำรอยเดิม

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า จากผลกระทบการแพร่ระบาดโคมิครอน ซีไอเอ็มบีไทย ยังไม่ปรับประมาณการจีดีพี จากเดิมที่คาดปี 2565 ขยายตัว 3.8% แต่ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าคาดได้ จากผลกระทบทั้งภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภายในประเทศ แต่คาดว่าไม่ถึงการขั้นล็อกดาวน์เหมือนอดีต 


แต่หากการระบาดรุนแรงขึ้น กระทบต่อการท่องเที่ยวระหว่างประเทศยาวนานถึงครึ่งปีแรกของปี 2565 รวมถึงกระทบต่อภาคการบริโภคในประเทศด้วย คาดว่า อาจเห็นจีดีพีไทยขยายตัวลดลงเหลือเพียง 3% เท่านั้น เพราะมองว่า เศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงขับเคลื่อนจากส่งออกที่ดีอยู่แม้ ท่องเที่ยว บริโภคในประเทศจะลดลง 


อย่างไรก็ตาม กรณีร้ายแรงสุด หากการระบาดโอมิครอนรุนแรง กระทบส่งออก อุปทานหยุดชะงัก จากซัพพลายเชนดิสรัปชั่น การขาดแคลนวัตถุดิบ กรณีนี้คาดว่า จีดีพีไทยน่าจะขยายตัวต่ำกว่า 3% ได้ 
“ตอนนี้เรายังมองว่า ไม่กระทบรุนแรง เพราะปกติการระบาดรอบสองที่ผ่านมา จะกินเวลาไม่เกิน 3 เดือน หลังจากนั้นเศรษฐกิจจะกลับมาเร่งตัวขึ้น ดังนั้นมองว่า จะไม่ระบาดรุนแรง จนทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก ดังนั้น เรายังรอ  ไม่ปรับประมาณการ แต่ต้องติดตามว่าการระบาดจะขยายวงกว้างรุนแรงหรือไม่ แต่เชื่อว่ารอบ 4 ไม่ใช่รอบสุดท้าย เราต้องอยู่กับมันให้ได้ ดังนั้นต้องปรับตัวเป็นประเด็นสำคัญ”


อย่างไรก็ตาม มองว่า ด้านการดูแลเศรษฐกิจ นโยบายการเงินการคลัง ยังมีรูมพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการคลัง ที่ยังมีเงินกู้ 5 แสนล้านบาท รวมถึงงบกลาง เพื่อใช้เป็นช่องทางเยียวยาช่วงไตรมาสแรกได้ หรือหากต้องกู้เพิ่มก็ทำได้ ส่วนมาตรการการเงินสามารถทำซอฟท์โลนเพิ่มขึ้นได้

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทยกล่าวว่า ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบโอมิครอน โดยเฉพาะอัตราการเจ็บป่วย อัตราเสียชีวิตและวัคซีนที่ฉีดให้ประชาชนป้องกันได้แค่ไหน ซึ่งมีข้อมูลชัดเจนรู้เพียงแพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา 


ทั้งนี้ ไทยได้ฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรไปแล้วกว่า 60% อย่างน้อยไทยมีวัคซีนป้องกันมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่สายพันธุ์เดลตาระบาด รวมทั้งมีมาตรการป้องกันเข้มข้น ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ซึ่งแตกต่างกับประเทศอื่น โดยเฉพาะในยุโรปที่อัตราการฉีดวัคซีนต่ำและไม่สวมหน้ากากอนามัย ทำให้โอมิครอนแพร่ระบาดได้เร็ว


ส่วนการส่งออกยังไม่กระทบเพราะดีมานด์ยังมาต่อเนื่อง ไทยส่งออกสินค้า ยังไปได้ดี มีความต้องการสินค้าสูง โดยเฉพาะสหรัฐพยายามมาดูซัพพลายเชนมากขึ้น เพราะกังวลอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงรวดเร็ว ครั้งนี้ปัญหาเงินเฟ้อไม่ได้เกิดจากเงินล้นระบบ แต่เกิดจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงจากราคาต้นทุนวัตถุดิบราคาแพง อีกทั้งระบบโลจิสติกส์มีปัญหา และค่าระวางเรือที่พุ่งสูง ทำให้ราคาสินค้าที่นำเข้าปรับตัวตาม โดยเฉพาะสินค้าทุนที่นำเข้าไปผลิตสินค้าในประเทศ 


ดังนั้นเมื่อต้นทุนสูงจึงเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เงินเฟ้อสูง คงต้องจับตาสถานการณ์โอมิครอนในช่วงหลังปีใหม่จะเป็นอย่างไร รวมทั้งมาตรการต่างๆ ของประเทศคู่ค้าของไทยจะเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน