"เซ็นทรัล" ปิดดีลส่ง CRC ซื้อห้างหรู “เซลฟริดเจส” ขึ้นแท่นผู้นำค้าปลีกโลก

"เซ็นทรัล" ปิดดีลส่ง CRC ซื้อห้างหรู “เซลฟริดเจส” ขึ้นแท่นผู้นำค้าปลีกโลก

ถือเป็น “ซุปเปอร์ดีล” ส่งท้ายปี หลัง “กลุ่มเซ็นทรัล” ของตระกูลจิราธิวัฒน์ จับมือพันธมิตรรายสำคัญ “ซิกน่า” ผู้นำธุรกิจห้างสรรพสินค้าและอสังหาริมทรัพย์ของยุโรป

ทุ่มเงินลงทุนก้อนโตกว่า 1.5 แสนล้านบาท เข้าซื้ออาณาจักร “เซลฟริดเจส” เครือข่ายห้างหรูระดับซุปเปอร์ลักชัวรี่ในยุโรป เพื่อเสริมทัพธุรกิจมุ่งสู่การเป็นผู้นำค้าปลีกระดับโลก

โดยการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ประกอบไปด้วยห้างสรรพสินค้าทั้งหมด 18 แห่ง นำโดย “เซลฟริดเจส” ห้างเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี บนถนนออกซ์ฟอร์ด กลางกรุงลอนดอนของอังกฤษ นอกจากนี้ ยังมีสาขาที่เมืองแมนเชสเตอร์และเบอร์มิ่งแฮม

ห้าง “ดี แบนคอร์ฟ” ในประเทศเนเธอร์แลนด์, ห้าง “บราวน์ โทมัส” และ “อาร์นอตส์” ในประเทศไอร์แลนด์ นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอีกด้วย 

กลุ่มเซ็นทรัลประเมินว่าหลังซื้อกิจการเซลฟริดเจสเข้ามาในพอร์ตแล้ว จะหนุนให้ยอดขายของทั้งกลุ่มเพิ่มเป็น 7 พันล้านยูโร หรือ มากกว่า 2.6 แสนล้านบาท ภายในปี 2567 จากปี 2562 ที่มียอดขายรวม 5 พันล้านยูโร หรือ กว่า 1.8 แสนล้านบาท

\"เซ็นทรัล\" ปิดดีลส่ง CRC ซื้อห้างหรู “เซลฟริดเจส” ขึ้นแท่นผู้นำค้าปลีกโลก

ดีลนี้ถือเป็นอีกหนึ่งการสยายปีกครั้งสำคัญของยักษ์ใหญ่ค้าปลีกเมืองไทย “เซ็นทรัล” ที่ขอโกอินเตอร์อย่างเต็มรูปแบบ หลังตัดสินใจก้าวสู่ตลาดยุโรปครั้งแรกเมื่อปี 2554 ด้วยการเข้าซื้อกิจการห้าง “ลา รีนาเชนเต” ในประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นหนึ่งในห้างที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเป็นที่นิยมของชาวอิตาเลียนและกลุ่มนักท่องเที่ยว ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “รีนาเชนเต”

โดยกลุ่มเซ็นทรัลส่งบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC เป็นตัวแทนในการเข้าซื้อกิจการ โดยใช้เงินลงทุน ณ ขณะนั้นไปทั้งหมด 260 ล้านยูโร หรือ ราว 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาไปทั้งโลกในฐานะตัวแทนกลุ่มทุนจากเอเชียที่ผงาดเข้าเทคโอเวอร์กิจการค้าปลีกรายใหญ่ในยุโรป

ต่อมาในปี 2556 ได้เข้าซื้อกิจการห้างอิลลุม ประเทศเดนมาร์ก เพื่อขยายฐานลูกค้ากำลังซื้อสูงในกลุ่มสแกนดิเนเวีย หลังจากเซ็นทรัลลุยเดี่ยวมาสักพัก มาเจอพันธมิตรถูกใจกลุ่มซิกน่าซึ่งมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจห้างสรรพสินค้าและอสังหาฯ 

โดยตัดสินใจที่จะร่วมทุนกันเพื่อเดินหน้าซื้อกิจการใหม่ๆ ซึ่งดีลแรกที่เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างเซ็นทรัลกับซิกน่า คือ การเข้าซื้อห้างกลุ่มคาเดเว ประเทศเยอรมนี เมื่อปี 2558 ตามด้วยห้างโกลบุส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี 2563

และเมื่อรวมกับดีลล่าสุด “เซลฟริดเจส” จะทำให้กลุ่มเซ็นทรัลมีเครือข่ายห้างสรรพสินค้าครอบคลุมทั้งหมด 8 ประเทศ ใน 35 เมืองของยุโรป ขึ้นแท่นยักษ์ใหญ่ค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในทวีป

สำหรับดีลซื้อกิจการของ “เซลฟริดเจส” เชื่อว่าเซ็นทรัลน่าจะเลือก CRC เป็นตัวแทนเข้าทำธุรกรรมเหมือนกับหลายๆ ดีลก่อนหน้านี้

จะเห็นว่ากลยุทธ์ของกลุ่มเซ็นทรัลในการเจาะตลาดยุโรป จะโฟกัสไปที่กลุ่มห้างหรู มีประวัติมายาวนาน มีฐานลูกค้าเหนียวแน่น โดยเฉพาะกลุ่มกำลังซื้อสูงที่แทบไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ

การเข้าลงทุนในช่วงจังหวะที่เกิดโรคระบาด แม้จะยังเต็มไปด้วยความเสี่ยง แต่เชื่อว่าทั้ง “เซ็นทรัล” และ “ซิกน่า” ซึ่งมากไปด้วยประสบการณ์ ผ่านร้อนผ่านหนาวมานับไม่ถ้วน คงคิดมาอย่างรอบคอบแล้ว

แม้โรคระบาดจะยังไม่คลี่คลายลงง่ายๆ แถมยังมีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้น แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้วเราจะปรับตัวและอยู่ร่วมกับโรคระบาดได้ ด้วยจำนวนการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมมากขึ้นเรื่อยๆ

ด้านบล.กรุงศรี ระบุว่า การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ อาจไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีนัก แม้เราจะตระหนักถึงความพิเศษของดีลนี้ แต่มองว่าความไม่แน่นอนจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในยุโรปจะส่งผลกระทบในระยะสั้น โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจสินค้าไม่จำเป็น

นอกจากนี้ มองว่าอาจจะเป็นดีลที่แพงไป อ้างอิงจากข้อมูลผลการดำเนินงานของเซลฟริดเจส ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ในช่วงเดือนมี.ค. 2562 - ก.พ. 2563 อาจได้เห็น Valuation ที่อย่างน้อย PE สูงถึง 45 เท่า โดยมีกำไร 88 ล้านปอนด์ และยอดขาย 1.97 พันล้านปอนด์ ขณะเดียวกัน CRC อาจมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุนเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ ซึ่งต้องรอความชัดเจนจากบริษัท