เศรษฐกิจไทยปี 64-66: แนวโน้มทยอยฟื้นตัวจากส่งออก +แรงกระตุ้นภาครัฐ

เศรษฐกิจไทยปี 64-66: แนวโน้มทยอยฟื้นตัวจากส่งออก +แรงกระตุ้นภาครัฐ

เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 3.4% ต่อปี โดยเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องจากช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ปัจจัยสนับสนุนได้แก่ (1) คาดว่าตั้งแต่ช่วงต้นไตรมาส 2/2564 เป็นต้นไป

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่จะดีขึ้น ทำให้รัฐบาลสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุม ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและความเชื่อมั่นภาคเอกชนทยอยฟื้นตัว (2) รูปแบบการประกอบธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับตัวได้มากขึ้น อาทิ การใช้จ่ายออนไลน์ การทำงานจากบ้าน (Work from home) (3) การส่งออกมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวตามวัฏจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ผลจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ผนวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งด้านการเงิน และการคลังของหลายประเทศสำคัญ (4) การเริ่มผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม อาทิ กองถ่ายภาพยนตร์ ผู้มาเข้าร่วมงานแสดงสินค้า กลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูง และกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยฟื้นตัว 

โดยคาดว่า การเดินทางระหว่างประเทศ จะมีมากขึ้นตามลำดับ และในช่วงครึ่งหลังของ ปี 2564 การค้นพบวัคซีนและนำมาใช้ได้อย่างแพร่หลายจะทำให้มีการเดินทางระหว่างประเทศเป็นวงกว้างมากขึ้นซึ่งจะหนุนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และ (5) แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งจะช่วยเอื้อให้การใช้จ่ายในประเทศฟื้นตัวต่อเนื่อง ประกอบด้วย มาตรการกระตุ้นการบริโภคและลดค่าครองชีพของประชาชน การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีและพระราชกำหนดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท งบลงทุนรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการด้านการเงินอื่นๆ ได้แก่ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงโครงการค้ำประกันสินเชื่อระยะพิเศษ โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega projects) ของภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนฉบับล่าสุด พ.ศ. 2561 ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) มีมูลค่าการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยรวมทั้งสิ้น 1.77 ล้านล้านบาท โดยการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมระบบรางหลายโครงการมีกำหนดเริ่มก่อสร้างในช่วงปี 2564 ที่สำคัญ ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงของ และสายบ้านไผ่-นครพนม โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนต่อขยาย จะเชื่อมต่อระบบขนส่งครอบคลุมพื้นที่สู่ภูมิภาคกว้างขวางขึ้น 

ขณะเดียวกันโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridors: EEC) ยังเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์หลักที่การลงทุนขนาดใหญ่อีกหลายโครงการกำลังจะเริ่มก่อสร้าง ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดและแหลมฉบังระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ด้วยมูลค่าลงทุนรวมประมาณกว่า 6.0 หมื่นล้านบาทในปี 2564 (จากมูลค่ารวมกว่า 6.8 แสนล้านบาทตลอดทั้งโครงการ) นอกจากนี้ ภาครัฐยังเห็นชอบแผนยกระดับบางโครงการอย่างเช่น การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเพื่อเชื่อมโยง EEC ไปสู่ภาคใต้และประเทศเพื่อนบ้านเพื่อหนุนไทยเป็น Hub การขนส่งอาเซียน ทำให้เกิดการพัฒนาโครงการใหม่ที่ต้องลงทุนก่อสร้างเพิ่ม เช่น การพัฒนาท่าเรือบก (Dry port) ซึ่งกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2566-2567 การเร่งโครงข่ายคมนาคมที่เชื่อมโยงสู่ภูมิภาคอื่นๆ ในลักษณะของ Multimodal transport ดังกล่าว จะเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุน ทั้งภาคการผลิตโดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยี ขั้นสูง เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล และการแพทย์ รวมถึงภาคเศรษฐกิจอื่น ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก และก่อสร้าง
ดัชนีชี้วัดความสามารถด้านการแข่งขันปี 2562 (The Global Competitiveness Index (GCI) 2019, WEF) พบว่าไทยมีคะแนนรวมดีขึ้นเป็น 68.1 จาก 67.5 ปี 2561 แต่อันดับลดลงมาอยู่ที่ 40 ของโลกจาก 141 ประเทศทั่วโลก จากอันดับ 38 ในปีก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นว่าไทยมีพัฒนาการดีขึ้นหลายด้าน แต่ยังไม่เร็วพอที่จะก้าวทันการเปลี่ยนแปลงตามบริบทของโลกเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ทั้งนี้ ปัจจัยเด่นของไทยยังคงเป็นภาวะเศรษฐกิจมหภาคที่มีเสถียรภาพ ภาคการเงินมีความเข้มแข็ง และสวัสดิการด้านสุขภาพที่ดี ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของประเทศสามารถเข้าถึงได้ สำหรับด้านที่ไทยต้องพัฒนาต่อเนื่อง ได้แก่ การปรับปรุงกฎระเบียบและเกณฑ์ปฏิบัติ ลดขั้นตอนและความซับซ้อนในการติดต่อราชการ สนับสนุนการเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะของกำลังแรงงานในลักษณะ Lifelong learning ต้องมีการ Upskill & Reskill รวมถึงสนับสนุนการผลิตและการจำหน่ายจากหลายๆ แหล่ง เพื่อเพิ่มระดับการแข่งขันและลดการผูกขาดตลาด นอกจากนี้ ไทยยังต้องเร่งปรับปรุงในด้านอื่นๆ ได้แก่ โครงข่ายที่เชื่อมโยงของระบบโครงสร้างพื้นฐาน สิทธิประโยชน์ของทุนมนุษย์ในตลาดแรงงาน ความสามารถด้านนวัตกรรม ทั้งการพัฒนาสิ่งใหม่ 
โดยสรุปว่า การประยุกต์ใช้ และความตระหนักด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) รวมถึงด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งไทยได้คะแนนเพียง 33.6 จาก 100 คะแนน น้อยกว่าหลายประเทศ เช่น จีน 79.5 อินเดีย 57.1 และมาเลเซีย 44.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของไทยอยู่ที่ระดับเพียง 0.8% ของ GDP นอกจากนี้ ไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ถึงแม้จะมีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อให้ได้ต้นทุนที่ถูกลงและคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้นบ้างแล้ว แต่เทคโนโลยีหุ่นยนต์ของไทยเป็นไปในลักษณะ Technology user ซึ่งแตกต่างและยังคงล้าหลังกว่าญี่ปุ่น สหรัฐฯ และจีน ที่มีการประยุกต์เทคโนโลยีหุ่นยนต์และพัฒนาด้านนวัตกรรมอื่นที่เป็นลักษณะ Technology investor ด้วยตนเองมาอย่างต่อเนื่อง จึงมีผลให้ในไทยมีการใช้หุ่นยนต์ในภาคการผลิตเฉพาะในบางอุตสาหกรรมเท่านั้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลและโลหะ พลาสติก และอาหาร  ส่งผลให้โครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่ยังพึ่งพิงสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีไม่ซับซ้อน