Beverage Sector - ฟื้นตัวหลังเปิดเมือง

Beverage Sector - ฟื้นตัวหลังเปิดเมือง

เราเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของยอดขายใน 4Q21-FY22F จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และดัชนีค้าปลีกในกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่ฟื้นตัวขึ้น เช่นเดียวกับยอดส่งออกเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ไป CLMV ที่เพิ่มขึ้นในเดือนต.ค.

อย่างไรก็ตาม ราคาวัตถุดิบที่ยังอยู่ในระดับสูงยังคงเป็นตัวกดดันกำไรสุทธิ เราคาดว่าปี FY22F ยอดขายจะเติบโตขึ้นหนุนจากยอดขายในประเทศ จึงเลือก HTC และ OSP เป็นหุ้นเด่น เนื่องจาก เป็นตัวแทนการฟื้นตัวของยอดขายในประเทศหลังเปิดเมือง รวมทั้งบริษัทมีแผนจัดการต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นได้ดี

 

ปริมาณการผลิตและค้าปลีกกลุ่มเครื่องดื่ม และยอดส่งออกฟื้นตัวหลังเปิดเมือง

เรามองว่ายอดขายกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ใน 4Q21–FY22F จะฟื้นตัวได้หลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนก.ย. ตามตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในเดือนต.ค. ที่เติบโตขึ้น 8%mom และดัชนีค้าปลีก (RSI) ในกลุ่มเครื่องดื่มเดือนก.ย. เติบโตขึ้น 3%mom นอกจากนั้นตัวเลขการส่งออกกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ไป CLMV เริ่มฟื้นตัวในเดือนต.ค. (กัมพูชา +5%mom, พม่า +9%mom) แต่การส่งออกไปจีนยังไม่ฟื้นตัว (-21%mom)

 

ต้นทุนราคาวัตถุดิบสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นยังเป็นตัวกดดันกำไรขั้นต้น

ราคาวัตถุดิบสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ ได้แก่ อลูมิเนียม, น้ำตาล, ก๊าซธรรมชาติ ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2021 และมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อเนื่องใน 4Q21 โดยราคาเฉลี่ยใน 4QTD อลูมิเนียมอยู่ที่ 2,749 USD/ton (+43%yoy), น้ำตาลอยู่ที่ 19.7 cent/lb (+35%yoy), ก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 5.1 USD/MMBtu (+62%yoy) โดยเราคาดว่าในปี 2022 ราคาวัตถุดิบเหล่านี้ยังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนเกิด Covid-19 จึงเป็นปัจจัยหลักกดดันกำไรขั้นต้นในปี FY22F ซึ่งราคาอลูมิเนียมจะมีผลกระทบต่อ CBG มากที่สุด เนื่องจากมีสัดส่วนการส่งออก Energy drink มากกว่า OSP ส่วนราคาน้ำตาลและก๊าซธรรมชาติจะกระทบต่อ OSP มากที่สุด (fig 13)

 

ปี FY22F คาดยอดขายเติบโตขึ้น หนุนจากช่องทาง Modern trade ในประเทศ 

เราคาดว่ายอดขายในปีหน้าจะดีขึ้นตามการฟื้นตัวของยอดขายในประเทศและต่างประเทศ แต่ยอดขายในต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะพม่าจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ส่วนในจีนยอดส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัวและมีความเสี่ยงเรื่องการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด รวมทั้งการระบาดของ Omicron ที่อาจทำให้หลายประเทศกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง อย่างไรก็ตามราคาวัตถุดิบที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงยังคงเป็นตัวกดดันกำไรของกลุ่มเครื่องดื่ม แต่เรามองว่าบริษัทส่วนใหญ่มีแผนจัดการควบคุมต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ดี จึงมีมุมมองเชิงบวกต่อกลุ่มเครื่องดื่ม

 

เลือก HTC และ OSP เป็นหุ้นเด่นในกลุ่ม

เราเลือก HTC และ OSP เป็นหุ้นเด่นสำหรับกลุ่ม เนื่องจาก เป็นตัวแทนการฟื้นตัวของยอดขายในประเทศหลังจากเปิดเมือง (สัดส่วนยอดขายในประเทศ: HTC 100%, OSP 85%) และเป็นบริษัทที่สามารถควบคุมจัดการต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นได้ดี นอกจากนั้น หุ้นทั้ง 2 ตัวยังมี Valuation ที่ถูก (HTC: ซื้อขายที่ระดับ PER ปี FY22F ที่ 11x เท่ากับค่าเฉลี่ย 5 ปี / OSP: ซื้อขายที่ระดับ PER ปี FY22F ที่ 28x เท่ากับ -1.2SD ของค่าเฉลี่ย 3 ปี)