"ปีใหม่" เริ่มต้นนิสัย "รวย" ด้วย 5 แนวคิดทางการเงิน

"ปีใหม่" เริ่มต้นนิสัย "รวย" ด้วย 5 แนวคิดทางการเงิน

"ปีใหม่" เตรียมตัวเป็น "เศรษฐีหน้าใหม่" กับ 5 แนวคิดทางการเงิน สร้าง "นิสัยรวย" ที่ช่วยทำไม่ติดกับดักทางการเงิน และบริการ "จัดการเงิน" ได้ดีขึ้น หรือมีโอกาส "รวย" มากกว่าปีที่ผ่านมา

"ปีใหม่ 2022" เชื่อว่าหลายคนกำลังตั้งเป้าหมายใหม่ๆ ในชีวิต หวังพัฒนาตัวเองไปอยู่ในเวอร์ชั่นที่ดีกว่าเดิม หนึ่งในเป้าหมายยอดฮิต คือ "เป้าหมายทางการเงิน

ทว่าเป้าหมายที่สวยหรูช่วงต้นปี มีคนจำนวนไม่น้อยที่ได้ผลลัพธ์พังไม่เป็นท่าและไปไม่ถึงเป้าหมายทางการเงินที่ตัวเองตั้งไว้ สาเหตุที่แท้จริงสำหรับบางคนอาจไม่ใช่เพราะ เงินน้อย แต่อาจเป็นเพราะกำลังบริหารเงินบนความเชื่อหรือแนวคิดทางการเงินผิดๆ ที่กลายเป็นตัวฉุดให้ทำงานหนักเท่าไรก็เข้าไม่ใกล้ความ "รวย" กับเขาสักที 

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ชวนคนอยากรวยทั้งหลาย มาเช็คแนวคิดทางการเงินของตัวเอง 5 ข้อ ที่จะช่วยให้เห็นมุมมองทางการเงินอีกด้านและสลัดตัวเองออกจากกับดักความคิดแบบเดิมๆ ก่อนเริ่มต้น "นิสัยรวย" ในปีใหม่นี้ 

 

 1. เงินในอนาคตก็เงินเรา VS เงินอนาคตไม่มีในโลก 

"รูดจ่ายไปก่อน เดี๋ยวเงินเดือนก็ออก!"
"เดือนหน้าจะได้โบนัสก้อนใหญ่ ซื้ออะไรดีน้า?" 

การใช้เงินอนาคตจากบัตรเครดิตไปก่อน เพราะคิดว่า “เงินอนาคตก็คือเงินเรา” เป็นกับดักความจนที่หลายคนดิ้นไม่หลุด 

การจินตนาการถึงเงินเดือนหน้า เดือนถัดๆ ไป โบนัสที่คาดว่าจะได้ในอนาคต มาเป็นเหตุผลสนับสนุนในการใช้จ่าย โดยที่ยังไม่มีเงินอยู่ในกระเป๋าหรือในบัญชี ทำให้ใช้เงินโดยขาดความระมัดระวัง โดยเฉพาะเงินอนาคตจาก “บัตรเครดิต” แบบไม่มีจ่าย หนี้ยิ่งเพิ่มพูน และยากที่จะ “เก็บออม” หรือ “ลงทุน” ต่อยอดอะไรได้ 

ตรงกันข้ามถ้ามีแนวคิดว่า “เงินอนาคตไม่มีในโลก” แล้วรู้ตัวอยู่เสมอว่าต้องมีเงินเท่านั้นถึงจะซื้อของได้ ตราบใดที่ยังไม่มีเงินอยู่ในมือต้องไม่ใช้จ่ายไปล่วงหน้า โดยเฉพาะกับของที่แค่อยากได้ แต่ไม่จำเป็นเลยสักนิด แค่นี้โอกาสเป็นหนี้แบบไม่จำเป็นก็จะไม่เกิดขึ้น และบริหารเงินที่มีได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย

 

 2. Sale ต้องซื้อ VS Sale จุดระเบิดต่อมยั้งคิด 

แนวคิดที่ว่า "Sale ต้องซื้อ" ยิ่งลดยิ่ง "คุ้มค่า" ยิ่งซื้อยิ่งคุ้ม อาจไม่ได้เป็นอย่างที่หลายคนคิด

เพราะความคุ้มค่าจะเกิดขึ้นต่อเมื่อ ราคาโปรโมชั่นนั้นๆ จำเป็นต้องใช้ หรือได้มาแล้วเกิดประโยชน์ในชีวิต (จริงๆ) เท่านั้น แต่หากซื้อเพราะกลัวเสียโอกาส แต่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับทำเงินก้อนนั้นหล่นหายไปเฉยๆ 

หากปรับมุมมองมาเห็นความจริงอีกด้านว่า “Sale คือจุดระเบิดต่อมยั้งคิด” หลีกเลี่ยงการเดินเข้าหาจุดระเบิดต่อมยั้งคิด จะลดโอกาสจับจ่ายด้วยอารมณ์ชั่ววูบ ช่วยอุดรอยรั่วในการใช้เงินไปกับสิ่งเปล่าประโยชน์ได้ 

เหมือนกับที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนระดับโลกกล่าวไว้ว่า "หากคุณซื้อแต่ของไม่จำเป็น ไม่นานคุณจะต้องขายของที่จำเป็น" 

 

 3. จ่ายเครดิตขั้นต่ำก็พอ VS รูดเท่าไหร่ ต้องจ่ายเท่านั้น!  

“จ่ายเครดิตขั้นต่ำก็พอ...เขาคิดมาให้แล้ว” แนวคิดที่ทำให้ความจนอ้าแขนรับ เพราะการจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ หรือ 10% หรือต่ำกว่า 10% ของวงเงินทั้งหมดที่รูดไป จะมาพร้อมกับ “ดอกเบี้ย” เฉลี่ย 18-20% ต่อปี ที่จะพอกพูนไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังจ่ายวงเงินนั้นไม่หมด และคิดดอกเบี้ยจากยอดเต็มที่เรารูด แม้เราจะชำระไปบางส่วนแล้วก็ตาม 

ใครที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์นี้ ปรับแนวคิดใหม่ซะ! หลังจากนี้ต้องท่องไว้ว่า “รูดเท่าไหร่ จ่ายเท่านั้น!” จะเป็นทางเดียวที่ทำให้เราได้ประโยชน์อย่างแท้จริงจากการใช้บัตรเครดิต นั่นคือสิทธิประโยชน์ที่ตามมากับการใช้จ่ายผ่านบัตร โดยไม่เสียดอกเบี้ย เช่น แต้มบัตรเครดิตที่สามารถใช้แลกสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ หรือ Cash Back (เครดิตเงินคืน) ฯลฯ ตามมาอีกด้วย

 

 4. ผ่อนได้ผ่อนเลย VS ผ่อนเฉพาะที่จำเป็น(มากๆ)เท่านั้น 

ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคนี้บรรดาบัตรเครดิตแข่งกันอัดข้อเสนอ “รูดก่อนผ่อนทีหลัง” สร้างแนวคิดว่า “ใครๆ ก็เป็นเจ้าของสินค้าในฝันได้” 

แม้โปร 0% จะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มจากราคาสินค้า แต่แนวคิด “ผ่อนได้ผ่อนเลย” เป็นหนทางที่ทำให้หลายคนไปไม่ถึงเป้าหมายทางเงินอื่นๆ สักที เพราะใช้เงินไปกับการผ่อนไปเสียทุกอย่างโดยไม่มีการวางแผน ไม่ประเมินกำลังตัวเอง ผ่อนซ้ำซ้อน ผ่อนในสิ่งที่ไม่จำเป็น จนกระทบเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวันและกระทบสถานะทางการเงินของตัวเองในอนาคตด้วย

ฉะนั้นใครที่ไม่อยากเข้าวังวนนี้ เปลี่ยนแนวคิดมาเป็น “ผ่อนเฉพาะที่จำเป็น(มาก)” เท่านั้น เช่น การผ่อนชำระสิ่งที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตหรือหน้าที่การงานในระยะยาว อาทิ ที่อยู่อาศัย รถยนต์ (ในกรณีที่มีความจำเป็นและคุ้มค่ากว่าการเดินทางกว่าระบบขนส่งสาธารณะ) คอมพิวเตอร์สำหรับทำงาน ฯลฯ จะให้ดีอย่าลืมคำนวณงวดผ่อนให้จำนวนเงินไม่เกิน 30% ของรายได้ด้วย 

 

  •  ออมเงินขัดความสุข VS ยังไงก็ต้องออม 

หลายคนไม่ชอบออมเงิน เพราะมีแนวคิดว่า “การออมขัดความสุข” ทว่า การออมอย่างเป็นระบบและบาลานซ์ ไม่ได้ทำลายความสุขเสมอไป แถมยังช่วยทุเลาทุกข์เวลาเจอเรื่องฉุกเฉินทางการเงินได้อีกด้วย 

แนวคิดส่วนหนึ่งที่จะเริ่มต้นนิสัยรวยได้คือ “ยังไงก็ต้องออม” แม้ไม่ได้หมายความว่าแค่ “ประหยัด” แล้วจะ “รวย” แต่การออมจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการจัดสรรรายได้ที่จะทำให้ไปต่อยอดเป็นเงินที่เพิ่มขึ้น หรือมีไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน

สำหรับคนที่ไม่ชอบเก็บเงินหรือเก็บเงินไม่อยู่อาจเริ่มต้นเก็บอย่างต่ำ 10% ของรายได้หรือเงินเดือนก่อนนำไปใช้จ่ายก็ได้ ลองทำต่อเนื่องให้เป็นนิสัยอย่างน้อย 1 ปี แล้วจะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้รู้ว่าเราเข้าใกล้เป้าหมายทางการเงินได้ง่ายกว่าที่เคย

------------------------------------------------

อ้างอิง: ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก หนังสือ "25 วิธีคิดให้ชีวิตชิบหาย/25 วิธีคิดให้ชีวิตสบาย" โดย ทีมบรรณาธิการเงินติดล้อ