“พลังงาน” พับแผนเงินกู้ 2.5 พันล้าน พยุง LPG หวั่นผิกฎหมาย

“พลังงาน” พับแผนเงินกู้ 2.5 พันล้าน พยุง LPG หวั่นผิกฎหมาย

“พลังงาน” พับแผนเงินกู้ 2.5 พันล้าน พยุง LPG หวั่นผิกฎหมายพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท จับตากบง.เคาะดึงเงินกองทุนน้ำมันฯ ช่วย หรือปล่อยให้ราคาก๊าซหุงต้มขยับขึ้นเป็นขั้นบันได ส่วนความคืบหน้าเงินกู้ 3 หมื่นล้าน “ออมสิน-กรุงไทย” ขอเงื่อนไขเพิ่ม

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าเงินกู้เพื่อช่วยเหลือ LPG ภาคครัวเรือนเพื่อคงราคาขายปลีกที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม จากเดิมที่ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ช่วยเหลือประชาชนภาคครัวเรือนจะครบกำหนดวันช่วยเหลือในวันที่ 31 ธ.ค. 64 ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ขอแบ่งแยกบัญชีการช่วยเหลือ LPG ออกจากกองทันน้ำมันฯ โดยให้ยื่นกู้จากพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท จำนวน 2,570 ล้านบาท ตามกรอบ 4 เดือนนั้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ท้วงติงว่าอาจไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนแสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อลงรายละเอียดของความช่วยเหลือจะมีข้อกังวลในเรื่องของการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่เหมือนกับโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ โครงการคนละครึ่ง โดยสำนักงานฯ อาจจะชะลอการขอกู้เงินตรงนั้นไว้ก่อน โดยเบื้องต้นแนวทางการช่วยเหลือคือใช้เงินกู้ 30,000 ล้านบาทมาช่วยเหลือ และอีกแนวทางที่ศึกษาไว้โดยเทรนด์ที่มองราคาอาจจะเริ่มปรับตัวลดลงตามเทรนด์ความต้องการใช้พลังงาน หลังจากหมดฤดูหนาว ดังนั้น จะต้องหารือร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และติดตามมติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่าจะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งเข้าใจว่าภายในเดือนธ.ค.2564 จะต้องกำหนดนโยบายออกมาแน่นอน

“จะคุยกันอีกครั้งว่าจะเอาเงินจากกองทุนน้ำมันฯ มาช่วยเหลือหรือว่าจะมีการขยับราคาก๊าซหุงต้มเป็นขั้นบันไดตามที่กระทรวงพลังงานเคยระบุ และคิดในแง่ดีราคาก๊าซมีการปรับลดลงตามเทรนด์การใช้งาน ก็ต้องรอดูนโยบายอีกครั้ง เมื่อมีนโยบายออกมาอย่างไรทางเราก็พร้อมจะปฏิบัติตามขั้นตอน เพราะแนวโน้มการกู้เงินช่วยLPG จะค่อนข้างยากเกรงว่าเมื่อทำไปแล้วเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติอาจมีความผิดตามพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท กำหนดที่จะต้องจ่ายเงินให้กับประชาชนโดยตรง แต่การกู้เงินครั้งนี้ กองทุนน้ำมันฯ จะต้องจ่ายตรงไปทางผู้ค้าก่อน ถึงแม้ว่าประชาชนได้รับความช่วยเหลือแต่จะได้ทางอ้อม

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันฯ ได้เข้าไปอุดหนุนเพื่อตรึงราคา LPG ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อลดผลกระทบค่าครองชีพประชาชนในช่วงสถานการณ์ดังกล่าวตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมี.ค.2563 ไปแล้ว 13,251 ล้านบาท ขณะที่ในช่วงสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกผันผวน กองทุนน้ำมันฯ ได้เข้าไปตรึงราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ตามมติกบง.และกบน.ตั้งแต่เดือนต.ค.-พ.ย.2564 โดยมีการชดเชยไปแล้วกว่า 7,211 ล้านบาท

นายวิศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนการขอกู้เงินเพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เป็นจำนวนไม่เกิน 30,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ธนาคารกรุงไทยกับธนาคารออมสินได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม จากที่กำหนดในหนังสือให้ธนาคารแจ้งตอบภายใน 31 ม.ค.2565 เพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องของเงื่อนไขต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของความสามารถในการชำระเงินคืน เนื่องจากอาจจะยังกังวลในเรื่องของสถานการณ์ราคาน้ำมันยังอาจผันผวน

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2564 กรรมาธิการงบประมาณได้เชิญสกนช.ไปชี้แจง ร่วมกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะและกรมบัญชีกลาง โดยสกนช.ได้อธิบายถึงเหตุผลการกู้เงินโดยอิงในภาพรวมของปี2554 ที่เคยกู้ทั้ง 2 ธนาคารจำนวน 20,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังมีประเด็นในเรื่องของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 แต่การกู้เงินครั้งก่อนมีมาตั้งแต่เป็นพระราชกฤษฎีกา และได้มีการยุบและยกเลิกสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) มาเป็นกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พร้อมประเด็นคำถามในเชิงนโยบาย ซึ่งทางสกนช.ก็ได้อธิบายอย่างชัดเจนว่าสำนักงานฯ อยู่ในฝ่ายปฏิบัติบนพื้นฐานของกฎหมายที่ระบุว่ามีเงินเท่าไหร่ และจะบริหารอย่างไร เพื่อส่งรายละเอียดให้ผู้กำหนดนโยบายเห็นชอบในแนวทางปฏิบัติ ซึ่งทางกรรมาธิการงบประมาณก็ได้เข้าใจในเรื่องนี้แล้ว

สำหรับสถานะกองทุนน้ำมัน ณ วันที่ 28 พ.ย.2564 อยู่ที่ 1,426 ล้านบาท โดยมีวงเงินคงเหลือในบัญชีน้ำมันสุทธิ 22,400 ล้านบาท ส่วนบัญชี LPG มีวงเงินติดลบอยู่ที่ 20,974 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมาได้ใช้ไปเดือนละ 5,800 ล้านบาท แบ่งเป็นด้านน้ำมัน 3,900 ล้านบาท และ LPG จำนวน 1,900 ล้านบาท ดังนั้น กองทุนน้ำมันฯ จะต้องหาเงินเข้ามาในระบบเพื่อพยุงราคาทั้งน้ำมันและก๊าซ LPG เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด