“ประชัย” ชูแนวทาง “อีเอสจี” ส่งต่อคนรุ่นใหม่ต่อยอดธุรกิจ

“ประชัย” ชูแนวทาง “อีเอสจี”  ส่งต่อคนรุ่นใหม่ต่อยอดธุรกิจ

จากธุรกิจธุรกิจค้าอาหารสัตว์และธุรกิจค้าข้าวของครอบครัว “ประชัย เลี่ยวไพรัตน์” ได้ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปี 2521 จนสามารถผลักดันสู่ธุรกิจปิโตรเคมีแบบครบวงจรแห่งแรกของอาเซียน

ปัจจุบัน “ประชัย” ทำหน้าที่ประธานกรรมการ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาในการทำธุรกิจ ว่า ชีวิตในแวดวงธุรกิจเริ่มขึ้นหลังจากลาออกจากการเป็นอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบควบคุมไฟฟ้าที่สุดของจุฬาฯ 

ความเชี่ยวชาญดังกล่าวเริ่มต้นจากการได้ทุนการศึกษาไปเรียนต่อด้านวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคนเทอเบอรี่ นิวซีแลนด์ เมื่อปี 2504 ตามด้วยการจบปริญญาโทด้านวิศวกรรมไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สหรัฐ

“ในช่วงหลังบิดาบอกว่ารู้เรื่องวิศวกรรมแต่ไม่รู้การค้า จึงลาออกมาทำธุรกิจส่งออกข้าวและพัฒนาการส่งออกข้าวโพด มันสำปะหลัง และอาหารสัตว์ เป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกขณะนั้น”

ในขณะนั้นครอบครัวมีหลายธุรกิจ เช่น สิ่งทอ อาหาร แต่ได้ตัดสินใจเลิกทำธุรกิจที่ต้องฆ่าสุกรมาก และหลังจากนั้นตัดสินใจมาทำธุรกิจปิโตรเคมีในปี 2521 โดยมีต้นเหตุมาจากการที่ญี่ปุ่นบอกว่าไทยไม่สามารถทำธุรกิจปิโตรเคมีได้ ซึ่งขณะนั้นบริษัทญี่ปุ่นที่ขอใบอนุญาตทำปิโตรเคมีที่ศรีราชาได้ถอนตัว และเราไปขอสวมแทนในสมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบเพราะมองว่าคนไทยต้องมีศักดิ์ศรีไม่ใช่ญี่ปุ่นทิ้งแล้วเราทำไม่ได้

“ตอนนั้นผมอายุแค่ 34 ปี และน้องชาย ดร.ประมวล เลี่ยงไพรัตน์ จบมาจากสหรัฐ ได้เรียนจบปริญญาเอกด้านปิโตรเคมีจาก MIT คนแรกของไทย จึงตัดสินใจลองดูมั่นใจว่าทำได้ เริ่มนำจากการนำเข้าเอทิลีนเหลว และได้ พล.อ.เปรม ติณสูสานนท์ นายกรัฐมนตรี สนับสนุนเต็มที่ และช่วงแรกรัฐบาลออกมาตรการเซอร์ชาร์จเพื่อคุ้มครองผู้ผลิตในประเทศ"

ต่อมาเมื่อ พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ นายกรัฐมนตรี คนต่อมาได้สนับสนุนเต็มที่ เช่น การขอเพิ่มกำแพงภาษีเป็น 20% เพราะช่วงดังกล่าวมีการนำเม็ดพลาสติกในราคาต่ำ และหลังจากนั้นได้ขยายการผลิตประเภทอื่นจนครบวงจรและท้ายที่สุดมีการสร้างโรงกลั่นน้ำมัน จนกระทั่งปี 2540 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ 

ทั้งนี้ “จอร์จ โซรอส” ติดต่อผ่านโกลแมนแซค มาขอให้เราร่วมมือเพื่อซื้อดอลลาร์ไว้จำนวนมากแต่เราไม่ทำ ซึ่งช่วงนั้นไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพียง 30,000 ล้านดอลลาร์ และถ้าให้เราฟิกซ์เงินดอลลาร์ 5,000-10,000 ล้านดอลลาร์ ตามความจำเป็นที่ต้องใช้เงินลงทุนในขณะนั้น จะทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยหมดในเวลาไม่นาน

“ตอนนั้นเครดิตเรามีพอแต่เหมือนกับปล้นประเทศจึงไม่ทำ เขามองเราเป็นศัตรูทันทีจึงให้ทุกแบงก์เรียกเงินคืนจากผม และมีแบงก์ใหญ่ทำตามผมจึงไม่มีเงิน และเมื่อเครื่องจักรมาถึงก็วางไว้ที่หน้าท่าเรือแล้วให้ขายเป็นเศษเหล็กทำให้เสียหาย ทำให้ต้องสู้กับแบงก์ที่ไม่ให้เงินกู้จึงเป็นช่วงลำบากที่สุดในชีวิต แต่ท้ายที่สุดผมไปดึงเงินมาจนสร้างปิโตรเคมีครบวงจรได้ในช่วงวิกฤติ ที่ทำได้เพราะขายสินค้าล่วงหน้า เครดิตดีจึงมีผู้ซื้อ ตอนนั้นมีคู่ค้าเป็นหมื่นราย”

ในช่วงดังกล่าวพยายามหาแนวทางหาเงินใช้คืนให้เจ้าหนี้ โดยมีการพิมพ์ตั๋วปูนในลักษณะเดียวกับพันธบัตรรัฐบาล และใช้เวลาปรับโครงสร้างหนี้เกือบ 10 ปี ซึ่งพยายามกู้บริษัทขึ้นมาให้ได้ แต่ถูกยึดได้เฉพาะโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกที่ระยอง ส่วนโรงงานปูนซิเมนต์ยึดไม่ได้ และปรับโครงสร้างหนี้จนสำเร็จ

การทำธุรกิจในช่วงแรกที่เรียนจบมาไม่นานจะเน้นกำไรเพียงอย่างเดียว และต่อมามีกระบวนทัศน์ใหม่เป็น CSR หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น และล่าสุดกระบวนทัศน์ใหม่ คือ กรอบการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ ESG ทำให้ TPIPP สนใจเรื่องเพื่อเป็นการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการกล่าวถึงโรงงานปูนซีเมนต์ของเราปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์มากเกินไปจึงเปลี่ยนเชื้อเพลิงและปรับการผลิต ดังนี้

1.ผลิตไฮโดลิกซีเมนต์ โดยลดเปอร์เซ็นต์ปูนลงและใช้หินปูนไปทดแทนมากขึ้น 

2.ผลิตคอนกรีตสีเขียว โดยใส่คาร์บอนไดออกไซด์ตันละ 25 ก.ก.และทำให้ปูนแข็งแรงขึ้น

3.นำขยะชีวภาพมาผลิตไฟฟ้าเป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหิน

“เราต้องพัฒนาองค์กรให้เป็น ESG จะเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ใช่ว่าองค์กรเก่าแล้วทำอะไรไม่ได้ ขณะนี้เรานำขยะมาทดแทนถ่านหินได้ 40% ลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 6 ล้านตัน และโรงไฟฟ้าขยะของเรามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก รวมทั้งจะพัฒนาให้โรงไฟฟ้าถ่านหินให้ใช้ขยะหมดจะลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 18 ล้านตัน”

ทั้งนี้ ปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ชวนให้ลงทุน TPIPP ลงทุนในภาคใต้ จากการที่ไม่มีใครเข้าไปลงทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่ เพราะมีเหตุก่อการร้าย โดยได้ยื่นเงื่อนไขว่าภาครัฐต้องดำเนินการให้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน

หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ “โครงการโรงไฟฟ้าจะนะ” จ.สงขลา กำลังการผลิต 3,700 เมกะวัตต์ ใช้พลังงานแก๊ซ 1,700 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ 800 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ แต่เมื่อจะดำเนินการจริงติดปัญหา โดยเฉพาะการขอใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่ถ้าภาครัฐสนับสนุนให้เกิดการลงทุนจะเกิดอุตสาหกรรมใหม่อีกมาก รวมทั้งแก้ปัญหาไฟฟ้าไม่พอใช้ในภาคใต้

รวมทั้งจะมีการพัฒนา “อุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล” ซึ่งจะทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เดิมแปรรูปเป็นน้ำมันเพียงอย่างเดียวสามารถนำมาต่อยอดเพิ่มได้และสอดคล้องกับ ESG 

“หวังว่านายกฯ จะดำเนินการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนุมัติตามมติ ครม.และภายใน 10-15 ปี โครงการนี้จะไปได้ จะเห็นการส่งต่อธุรกิจให้กับคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะมีการดำเนินธุรกิจที่ยึดแนวทางแบบ ESG”

หากมองถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เรียนรู้ว่าจะต้องดูแลร่ายกายและจิตใจอย่างไร โดยต้องทำให้จิตใจเข้มแข็งก่อนถ้าไม่เข้มแข็งจะอยู่ไม่ได้ ซึ่งใช้วิธีการนั่งสมาธิและพบว่าถ้าใครเข้าถึงธรรมะจะคิดได้เร็ว ส่วนการออกกำลังกายก็เดินไปมาและควบคุมอาหาร

“โควิด-19 ไม่เดือดร้อนแต่ไม่กระเทือนเพราะเตรียมไบโอน็อกไว้ รวมทั้งเคลียร์งานทุกอย่างให้พร้อม ถ้าเป็นธุรกิจต้องเตรียมเงินให้มาก ถ้ามีหลักทรัพย์ 1 ล้าน ต้องมีเงินสด 1 ล้าน อย่างน้อย 50% ของหลักทรัพย์ อย่าไปยืมแบงก์” 

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 กับวิกฤติโควิดพบว่ากลุ่มคนรวยได้รับผลกระทบมากช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ แต่เงินบาทอ่อนค่าทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรดีขึ้นจึงทำให้ประชาชน 70% ไม่ได้รับผลกระทบ 

ในขณะที่วิกฤติโควิด-19 พบว่าคนรวยไม่เดือนร้อน แต่ระดับล่างได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์ที่ตกงานและเงินที่เก็บไว้ถูกนำมาใช้หมด ดังนั้นการคลายล็อกดาวน์จะทำให้ทุกคนทำงานได้ รวมทั้งเมื่อเปิดให้มาทำงานแล้วทุกหน่วยงานต้องมีมาตรการควบคุมการระบาด เช่น การตรวจอุณหภูมิร่างกาย การพ่นยาฆ่าเชื้อ การรับประทานยาไบโอน็อก