หอนานาชาติไทย เปิด 5 แผน ขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศปี 2565

หอนานาชาติไทย เปิด 5 แผน ขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศปี 2565

หอการค้านานาชาติไทยจับมือกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พัฒนาความรู้ผู้ประกอบการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่ระดับสากล เปิด 5 แผนผลักดันเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด คาดปี 2565 ส่งออกไทยยังขยายตัวได้ดี

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานคณะกรรมการบริหาร หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย (ICC Thailand)  เปิดเผยว่า  สถานการณ์ด้านการค้าระหว่างประเทศและการส่งออกของไทยในปี 2565 ยังคงมีความท้าทายอยู่หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ ปัญหาค่าระวางเรือ ปัญหาด้าน supply chain disruption และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ล้วนมีผลกระทบโดยตรง และเป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหา โดยหอการค้านานาชาติ เล็งเห็นว่า ฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศคือ การพัฒนาศักยภาพและความรู้ของผู้ประกอบการในด้านต่างๆ ให้มีความทันสมัย รู้เท่าทัน พร้อมรับมือกับความเสี่ยงทางธุรกิจ และสามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้

ในปี 2565 นี้ หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรที่มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ จึงได้มุ่งเน้นแผนการดำเนินงานเพื่อที่จะเตรียมความพร้อมให้กับภาคธุรกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 5 แผน ประกอบด้วย 1. Bring digitization to support Digital Trade ICC สำนักงานใหญ่ได้ร่วมมือกับองค์กรนานาชาติและกลุ่มการค้าต่างๆ ในการผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อเข้าสู่การทำ Digitization ทั้งด้านกฎหมาย ด้านกฎระเบียบ การกำหนดมาตรฐานต่างๆ รวมไปถึงการพัฒนาการเชื่อมโยงของข้อมูลผ่าน API

นอกจากนี้ ICC Thailand, ICC Digital Standard Initiative (DSI) working group และ สำนักงานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ร่วมกันทำโครงการความร่วมมือในการพัฒนา National Digital Trade Platform เพื่อให้เป็น platform หลักของประเทศ สำหรับ Digital Trade Transaction และยังเป็น gateway ที่จะเชื่อมโยงข้อมูลการค้าทั้งภาคเอกชน และภาครัฐไว้ในที่เดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การทำธุรกรรม digital ในอนาคตต่อไป

2. สนับสนุนภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยการผลักดันนโยบายสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) ของสถาบันการเงิน ซึ่ง ICC Thailand เห็นว่า หากสถาบันการเงินผลักดันนโยบายสินเชื่อสีเขียวให้เป็นรูปธรรม จะจูงใจให้ภาคธุรกิจปฏิบัติตามเงื่อนไข ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากภาคธุรกิจจะได้ต้นทุนทางการเงินที่ถูกลงแล้ว จะเป็นการสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปตลาดในต่างประเทศ ที่ให้ความสำคัญ และมีการกำหนดนโยบายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจน

3. ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้อนุญาโตตุลาการในประเทศไทย  เนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด มีข้อพิพาททางการค้าใหม่ๆ เกิดขึ้นซึ่งส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของภาคธุรกิจ กระบวนการอนุญาโตตุลาการและการไกล่เกลี่ยของหอการค้านานาชาติ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาททางการค้า

4. ยกระดับความรู้ ความเข้าใจในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศของผู้ประกอบการให้ทัดเทียมระดับสากลโดยภารกิจหลักที่สำคัญของ ICC Thailand คือ การพัฒนาศักยภาพและยกระดับความรู้ ความเข้าใจในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศของผู้ประกอบการที่สนใจในการทำการค้าระหว่างประเทศ ให้มีความสามารถทัดเทียมระดับสากล เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้ “กฎ” การค้าระหว่างประเทศได้อย่างเหมาะสม

5. สนับสนุนให้ภาคธุรกิจคำนึงถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยคณะทำงานด้าน Cybersecurity and Responsibility ของ ICC สำนักงานใหญ่ ได้จัดทำคู่มือความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อให้มีแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากภัยคุกคามความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งจะทำการเผยแพร่คู่มือฯ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ซึ่งจะเป็นข้อมูลและแนวทางปฏิบัติสำหรับภาคธุรกิจ

“ภารกิจที่สำคัญ คือ จะต้องเร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอทั้งทวิภาคและพหุภาคี เช่น อาร์เซ็ป และเอฟทีเออื่นๆ ที่ผ่านยังไม่เข้าใจถึงประโยชน์ต่างๆที่ได้รับจากเอฟทีเอ  รวมทั้งการผลักดันให้ไทยเข้าร่วมในเอฟทีเอในกรอบต่างๆ ”นายพจน์ กล่าว

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมได้สนับสนุนการดำเนินการของICC Thailand เป็นประจำทุกปี โดยในปี 2565 กรมมีแผนจะร่วมกับ ICC Thailand ในการจัดฝึกอบรม สัมมนาทั้งในรูปออนไลน์และออฟไลน์ และความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูล ด้านการใช้เครือข่ายของกันและกันในการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ร่วมมือในการประชาสัมพันธ์หลักสูตรอบรมต่างๆของกรมและของ ICC Thailand นอกจากนี้กรมสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการใช้สถานที่สถาบันผู้ประกอบการค้ายุคใหม่ ถ.รัชดาภิเษก เพื่อบูรณาการความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ในการขับเคลื่อนการพัฒนาองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้

แนวโน้มการส่งออกในปีหน้าคาดว่าน่าจะยังขยายตัว แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโอมิครอน ซึ่งผู้ประกอบการไทยได้มีการปรับตัวหลังเกิดโควิดระบาดแต่ยังมีปัญหาในเรื่องของค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่จะทำให้กระทบต่อต้นทุนของผู้ส่งออก อย่างไรก็ตามในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมกรอ.พาณิชย์เพื่อประเมินการส่งออกไทยในปี 65 “นายภูสิต กล่าว

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์