สิทประโยชน์ - คน กับความท้าทายของ ‘อีอีซี’ ในการเป็น ‘สมาร์ทซิตี้’ ภูมิภาค

สิทประโยชน์ - คน กับความท้าทายของ ‘อีอีซี’ ในการเป็น ‘สมาร์ทซิตี้’ ภูมิภาค

“ไพรินทร์” แนะไทยเพิ่มสิทธิประโยชน์ - เตรียมพร้อมคน ดึงลงทุนเมืองอัจฉริยะในอีอีซี แข่งจีน - เวียดนาม รับห่วงเรื่องแรงงานไม่เพียงพอเป็นปัญหาอุตสาหกรรมระยะยาว อีอีซี เผยเตรียมดัน 10 เมืองในพื้นที่ 3 จังหวัดเป็นเมืองอัจฉริยะดึงเอกชนร่วมโครงการลงทุนวางโรดแมปการพัฒนา

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ “แนวทางการร่วมบูรณาการเพื่อพัฒนา EEC สู่เมืองน่าอยู่อัจฉริยะ” จัดโดยนักศึกษาหลักสูตรบริหาธุรกิจดุษฎีบัณฑิต รุ่นที่ 7 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ว่าศักยภาพของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) สามารถที่จะเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City)ที่มีความน่าอยู่ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในพื้นที่ได้ จากความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีที่มีการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นๆของประเทศ รวมทั้งการขนส่งที่ทางถนน ทางราง และทางเรือที่เพิ่มบทบาทความเป็นศูนย์กลางในด้านโลจิสติกส์ของอีอีซี

อย่างไรก็ตามแนวทางและนโยบายในการส่งเสริม Smart City ในรูปแบบที่อีอีซีมีการส่งเสริมในปัจจุบันมีพื้นที่อื่นๆที่เป็นคู่แข่งและมีการส่งเสริมการลงทุนเช่นกัน โดยในภูมิภาคอาเซียนและที่ใกล้เคียงมี 2 พื้นที่ดึงดูดการลงทุนเรื่อง Smart City ได้แก่เขตเศรษฐกิจพิเศษในเวียดนาม และในประเทศจีนที่มีการสนับสนุนนโยบาย Smart City ที่สำคัญใน 2 พื้นที่คือ บริเวณ Greater Bay Area และเขตเศรษฐกิจพิเศษไหหลำ

ทั้งนี้การที่จะส่งเสริมให้นโยบายSmart City ของอีอีซีประสบความสำเร็จ และสามารถดึงดูดการลงทุนได้นอกจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมแล้วจะต้องมีการเตรียมความพร้อมใน 2 เรื่องคือเรื่องสิทธิประโยชน์และกฎระเบียบ และเรื่องความพร้อมของแรงงาน

1.ในเรื่องของสิทธิประโยชน์ซึ่งจะต้องมั่นใจว่าสามารถที่จะแข่งขันกับประเทศอื่นๆที่มีนโยบายใกล้เคียงกับการส่งเสริมSmart city เพื่อดึงดูดการลงทุน ส่วนในเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบต้องไม่เป็นอุปสรรคกับการลงทุนใน Smart City

2.การเตรียมความพร้อมแรงงานรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอัจฉริยะ ได้แก่ทักษะ ในเรื่องดิจิทัล เพราะเทคโนโลยีต่างๆจะอาศัยระบบดิจิทัลในการสั่งการ ควบคุมจากส่วนกลาง ถือว่าใช้เทคโนโลยีขั้นสูงใช้หุ่นยนต์ และซอฟแวร์ในการกำกับต่างจากในอดีตมาก เช่น โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ที่เกิดขึ้นจะไม่มีคนงานอยู่บนท่าเรือมากนัก

 

สิทประโยชน์ - คน กับความท้าทายของ ‘อีอีซี’ ในการเป็น ‘สมาร์ทซิตี้’ ภูมิภาค

โดยในส่วนของการเตรียมพร้อมเรื่องของทักษะดิจิทัล ปตท.ได้มีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบที่จะรองรับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตนวัตกรรมอีอีซี (อีอีซีไอ) ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ในพื้นที่ 3,000 ไร่ ไร่ มีการจัดสิ่งแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ และสนามบิน รวมถึงสนามทดสอบรถยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น ซึ่งเป็นสมาร์ทซิตี้ที่ได้รับการประเมินและยอมรับให้ผ่านเกณฑ์ของการเป็นสมาร์ทซิตี้ทั้ง 7 ด้านตามข้อกำหนด

“การสร้างเมืองน่าอยู่ในอีอีซี มีความจำเป็นเพราะจะเกิดการขยายตัวของเมืองขนาดใหญ่ในอีอีซี ซึ่งต้องมีการวางแผนเพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดชุมชนแออัด ต้องจัดเมืองใหญ่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งต้องทำร่วมกับการวางเทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมที่ดี”

นอกจากนี้ในเรื่องของแรงงานมีความน่าเป็นห่วงคืออัตราการเกิดของประชากรไทยที่น้อยปัจจุบันมีอัตราการเกิดของเด็กใหม่ประมาณ 6 แสนคน และในปีนี้ที่สถานการณ์โควิด-19 ระบาดหลายเดือน อัตราการเกิดของเด็กในไทยจะมีแค่ 4 แสนคนเท่านั้น ขณะที่เวียดนามอัตราเด็กเกิดใหม่อยู่ที่ 1.5 ล้านคน จึงดึงดูดการลงทุน และมีความพร้อมเรื่องแรงงานมากกว่าไทย ขณะเดียวกันประชากรที่เรียนในทางสายวิทยาศาสตร์ ของไทยเป็นสัดส่วนที่น้อยคือประมาณ 30% ขณะที่หลายประเทศคนเรียนในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกว่า 70% ส่งผลต่อการคิดค้นเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงทักษะด้านการคิดค้นนวัตกรรม และดิจิทัลของประเทศให้ลดลงในอนาคต

นางพจนีย์ อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่าการส่งเสริมเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่เป็นหนึ่งในหลายแผนการพัฒนาของอีอีซี โดยแผนงานนี้มีเจ้าภาพคือ คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่มีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เป็นเลขานุการคณะกรรมการ โดยมีการพัฒนาได้ใน 2 แนวทางคือการพัฒนาเมืองใหม่ให้เป็นมืองอัจฉริยะ และเมืองเก่าที่มีศักยภาพให้เป็นเมืองอัจฉริยะ โดยขั้นตอนจะขออนุมัติจากคณะกรรมการระดับจังหวัด และเสนอไปยังคณะกรรมการชุดใหญ่ระดับประเทศ และเมื่อได้รับการอนุมัติจะมีการขอส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ 

ปัจจุบันมีเมืองในพื้นที่อีอีซีที่ได้รับการอนุมัติแล้วจากคณะกรรมการให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ได้แก่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เทศบาลแสนสุข จ.ชลบุรี โครงการสามาร์ทซิตี้ อ.เมือง จ.ชลบุรี และโครงการ EECi ในจังหวัดระยอง ส่วนมืองใหม่ที่จะเป็นเมืองอัจฉริยะในอนาคต มีอีก 10 พื้นที่ใน 3 จังหวัดที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ บริเวณใกล้สนามบินอู่ตะเภาในรัศมีรอบ 30 กิโลเมตร พื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง เมืองเมดิเคิลฮับ จ.ชลบุรี อีอีซีเมืองธุรกิจน่าอยู่ โดยอีอีซีอยู่ระหว่างการศึกษาและเอาเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใส่ 7 เรื่อง ได้แก่ พลังงาน สุขภาพสาธารณสุข ข่าวสารข้อมูล คุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การเพิ่มรายได้ให้คนในพื้นที่ด้วยการใช้ดิจิทัลและเทคโนโลยี ที่ประชาชนในพื้นที่ต้องเข้าถึงดิจิทัลได้มากกว่า 70% 

“อีอีซีต้องการให้สมาร์ทซิตี้เก่าและใหม่เชื่อมโยงกัน มีการวางแผนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนให้เป็นเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ ควบคู่กับการใช้งาน 5G ในพื้นที่ โดยมีพื้นที่นำร่องในพื้นที่บ้านฉาง จ.ระยอง นอกจากนี้ยังมีการเชิญชวนโรงงานในพื้นที่อีอีซี 1 หมื่นโรงงาน ให้ปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นโรงการที่มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่รวมทั้งผลักดันให้มีการใช้พลังงานสะอาดในสามาร์ทซิตี้ทั้งในการผลิต การขนส่งและคมนาคม”

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่ารัฐบาลต้องการวางเป้าหมายให้อีอีซีเป็นพื้นที่ที่นักลงทุนเชื่อมั่น โดยต่อยอดจากฐานการผลิตอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งมีความพร้อมเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานนอกจากนี้ในการผลักดันให้เป็นเมืองอัจฉริยะน่าอย่าจะต้องมีระบบสาธารณสุขที่ดี โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับอีอีซีในการผลักดันโครงการสุขภาพที่สำคัญได้แก่ ศูนย์จีโนมิกส์แห่งชาติ ที่มหาวิทยาลัยบูรพา ภายใต้กรอบการลงทุน 560 ล้านบาท โดยจะมีการเก็บตัวอย่าง 5 หมื่นคนในพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด เพื่อให้สามารถรักษาในระดับพันธุกรรมตามแผนงานการแพทย์

ส่วนการลงทุนยกระดับโรงพยาบาลปลวกแดงจะมีศักยภาพในการดูแลประชาชนในพื้นที่อีอีซี โดยเป็นโครการการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โครงการแรกของกระทรวงสาธารณสุขและภาคเอกชนในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP)เพื่อลดความแออัด และยกระดับโรงพยาบาล โดยต้องมีการเปิดประมูลเพื่อเสนอราคาและโครงการในการดูแลประชาชนเพื่อเป็นพื้นที่จะลงทุน ถือเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่จะมีการลงทุนแบบ PPP

“เมืองอัจฉริยะจะเป็นเมืองน่าอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมีคุณภาพชีวิต และคุณภาพที่ดีด้วย” นายสาธิต กล่าว