“เจ้าสัวเจริญ” ทุ่มเงิน 435 ล้านซื้อ "ดุสิต ดีทู เชียงใหม่" จาก “ดุสิตธานี”

“เจ้าสัวเจริญ” ทุ่มเงิน 435 ล้านซื้อ "ดุสิต ดีทู เชียงใหม่" จาก “ดุสิตธานี”

“AWC” ธุรกิจอสังหาฯใต้ปีก “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” เดินหมากซื้อโรงแรมในไทยเติมพอร์ตต่อเนื่องยุคโควิด "วัลลภา" เผย ทุ่มงบฯ 435 ล้านบาท ซื้อโรงแรม “ดุสิต ดีทู เชียงใหม่” จาก “ดุสิตธานี” ด้านซีอีโอดุสิตธานี “ศุภจี” ชี้ภาระหนี้สินลดลง เสริมแกร่งโครงสร้างทางการเงิน

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์  คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มุ่งเน้นตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการ AWC มีมติอนุมัติให้บริษัท ทรัพย์ ทีซีซี โฮเทล เชียงใหม่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เข้าซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจาก บริษัท ดุสิตธานี พร็อพเพอร์ตี้ส์ รีท จำกัด ด้วยงบลงทุน 435 ล้านบาท ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ ขนาด 130 ห้องพัก ตั้งอยู่บนถนนช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ติดกับ “เชียงใหม่ ไนท์บาซาร์” แหล่งช้อปปิ้ง และศูนย์รวมร้านอาหาร ร้านค้าชื่อดังใจกลางเมือง ทั้งยังอยู่ใกล้กับโรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ อีกหนึ่งโครงการคุณภาพจากทาง AWC

ทั้งนี้ เมื่อบวกกับศักยภาพของทำเล ที่มีทั้งศิลปะวัฒนธรรม ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ความบันเทิง ประวัติศาสตร์ แหล่งพบปะ การประชุมสัมมนา ที่พัก ถนนคนเดิน จะทำให้ถนนช้างคลาน กลายเป็นถนนสายท่องเที่ยวแห่งใหม่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ โดยบริษัทมีแผนเชื่อมการให้บริการแบบไร้ขีดจำกัดเพื่อรองรับตลาดของนักท่องเที่ยวกลุ่มวัยรุ่น และนักธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ AWC สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ครบทุกเซกเมนต์ เพื่อผลักดันจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางสำคัญ ในการต้อนรับนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลก

การลงนามในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือกันระหว่าง AWC และกลุ่มดุสิตธานี เครือโรงแรมระดับตำนานของไทย ที่เปิดให้บริการมาอย่างยาวนานเพื่่อยกระดับการท่องเที่ยวและเสริมศักยภาพการเชื่อมต่อของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ของ AWC เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และการท่องเที่ยวที่หลากหลายของนักท่องเที่ยว โดยหลังจากที่รัฐบาล มีนโยบายเปิดประเทศพร้อมเดินหน้าจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการการท่องเที่ยวภายในประเทศสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวยุทธศาสตร์ของภาคเหนือ ที่เป็นศูนย์รวมวัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และอาหารพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อ

AWC รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ โรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงที่ดีเสมอมา ถือเป็นการเริ่มต้นในการสร้างคุณค่าในระยะยาวร่วมกัน โดยเชื่อมั่นในศักยภาพของความร่วมมือกันในครั้งนี้ว่าจะสามารถเป็นประตูที่เชื่อมต่อการท่องเที่ยวจากจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองหลัก ไปยังเมืองรองต่างๆ ในจังหวัดใกล้เคียงได้อีกด้วย” นางวัลลภา กล่าว

“เจ้าสัวเจริญ” ทุ่มเงิน 435 ล้านซื้อ \"ดุสิต ดีทู เชียงใหม่\" จาก “ดุสิตธานี”

นายสานต่อ มุทธสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดุสิตธานี พร็อพเพอร์ตี้ส์ รีท จำกัด ผู้จัดการกองทรัสต์ (REIT Manager) ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานี (DREIT) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ DREIT มีมติให้ขายโรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ (D2CM) ให้กับบริษัท ทรัพย์ ทีซีซี โฮเทล เชียงใหม่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) (“AWC”)  ในราคา 435 ล้านบาท หลังจากประเมินความเหมาะสมในการขายทรัพย์สิน ที่จะทำให้กองทรัสต์สามารถรับรู้กำไรจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าทรัพย์สิน และนับเป็นโอกาสที่ดีในการปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเงินที่ได้รับจากการขายทรัพย์สินดังกล่าว คาดว่าจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่กองทรัสต์ รวมถึงชำระหนี้เงินกู้ยืมบางส่วน และ/หรือเป็นแหล่งเงินลงทุนในการปรับปรุงทรัพย์สิน และ/หรือลงทุนในทรัพย์สินที่มีศักยภาพเพิ่มเติม โดยกองทรัสต์จะจัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหน่วยทรัสต์ เพื่อพิจารณาอนุมัติมติดังกล่าวในวันที่ 27 มกราคม 2565

ทั้งนี้ กองทรัสต์ได้เข้าลงทุนในโครงการโรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ เมื่อปี 2553 ตั้งแต่ยังเป็นกองทุนรวมเพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ด้วยมูลค่าลงทุน 362 ล้านบาท ต่อมาภายหลังการแปลงสภาพเป็นกองทรัสต์ DREIT ทางผู้จัดการกองทรัสต์ ได้ดำเนินนโยบายเชิงรุกหลายด้านตามนโยบายที่ได้รับจากคณะกรรมการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงทรัพย์สินที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนการเข้าไปลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติม

“การปรับปรุงโครงสร้างทรัพย์สินภายใต้การบริหารของกองทรัสต์ DREIT มีเป้าหมายในการสร้างสมดุลให้กับกลุ่มทรัพย์สินที่เราเข้าไปลงทุน เช่นเดียวกับการตัดสินใจขายโรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ ในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้พอร์ตการลงทุนกระชับและเหมาะสมมากขึ้นแล้ว กองทรัสต์ยังสามารถรับรู้กำไรจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าทรัพย์สินอีกด้วย” นายสานต่อกล่าว

ขณะที่ นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บริหารทรัพย์สินของกองทรัสต์ (Hotel Operator) กล่าวเพิ่มเติมว่า การขายทรัพย์สินของกองทรัสต์ DREIT ในครั้งนี้ ถือเป็นข้อตกลงในลักษณะของการเป็นพันธมิตรร่วมธุรกิจที่ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย เนื่องจากกลุ่มผู้ลงทุนใหม่มองว่าพื้นที่ตั้งของโรงแรมอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ที่สามารถนำไปร่วมพัฒนากับสินทรัพย์ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันได้เป็นอย่างดีในอนาคต และดำเนินการพัฒนายกระดับบริเวณถนนช้างคลาน ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ ขณะที่กลุ่มดุสิตธานีก็มองหาโอกาสการลงทุนอื่นๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปและสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต โดยในระหว่างนี้ กลุ่มดุสิตธานีจะยังคงบริหารงานโรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ เพื่อรักษาสัดส่วนการตลาดและรักษาแบรนด์ไว้ในจังหวัดเชียงใหม่ไปอย่างต่อเนื่อง จนกว่ากลุ่มผู้ลงทุนใหม่จะทำการพัฒนาสินทรัพย์ต่อไป

“นอกจากธุรกรรมครั้งนี้จะทำให้ทรัพย์สินภายใต้การบริหารของกองทรัสต์ DREIT เป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ธุรกรรมดังกล่าวยังช่วยให้ภาระหนี้สินของกลุ่มดุสิตธานีดีขึ้น เนื่องจากสัญญาเช่าโรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ ที่มีภาระผูกพันอยู่กับกองทรัสต์ DREIT อีก 10 ปีจะสิ้นสุดลงเมื่อการซื้อขายสำเร็จเรียบร้อย ซึ่งจะส่งผลให้โครงสร้างทางการเงินของกลุ่มดุสิตธานีมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น” นางศุภจีกล่าว

“เจ้าสัวเจริญ” ทุ่มเงิน 435 ล้านซื้อ \"ดุสิต ดีทู เชียงใหม่\" จาก “ดุสิตธานี” “เจ้าสัวเจริญ” ทุ่มเงิน 435 ล้านซื้อ \"ดุสิต ดีทู เชียงใหม่\" จาก “ดุสิตธานี”