บลจ.ไทยพาณิชย์ ปรับพอร์ตถือเงินสด-เก็บหุ้นรพ. ชี้โอมิครอนฉุดระยะสั้น

บลจ.ไทยพาณิชย์ ปรับพอร์ตถือเงินสด-เก็บหุ้นรพ. ชี้โอมิครอนฉุดระยะสั้น

บลจ.ไทยพาณิชย์ มั่นใจคุมระบาดโอมิครอนได้ ชี้กระทบเศรษฐกิจและการลงทุนเชิงลบช่วงสั้น ปรับพอร์ตถือเงินสดเพิ่ม -ช้อนหุ้นกลุ่มรพ. ที่ราคาปรับตัวลงมาก่อนหน้า ขณะที่หุ้นต่างประเทศ ชี้อินเดีย-ญี่ปุ่น ศก.ยังโตโดดเด่น พร้อมชี้ดัชนีหุ้นไทยปีหน้าลุ้นแตะ 1,800 จุดจากปีนี้

นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ  SCBAM เปิดเผยว่า ปัจจุบันแต่ละประเทศทั่วโลกมีความพร้อมในการรับมือโควิดสายพันธุ์ใหม่ มากกว่าเมื่อช่วงต้น-กลางปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณผู้ได้รับวัคซีน ทั้งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วมีการปรับเพิ่มขึ้นจาก 20% เมื่อเกิดการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ขึ้นมาอยู่ที่ที่น้อยกว่า 60% ของจำนวนประชากรในปัจจุบัน และกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา รวมถึงไทยที่มีการปรับตัวขึ้นจากระดับประมาณ 5% ของประชากร เป็นมากกว่า 50% ของจำนวนประชากรในปัจจุบัน มีความพร้อมในการรับมือในการระบาดมากกว่ารอบที่ผ่านมา

ดังนั้นโลกจึงมีโอกาสค่อนข้างดีในการป้องกัน และควบคุมการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน นักลงทุนน่าจะสามารถวางใจ และมีความเชื่อมั่นในรอบนี้ได้มากกว่าครั้งก่อน  จึงมองว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการลงทุนในหุ้นจากโควิดสายพันธุ์ โอมิครอน ในเบื้องต้น คาดว่าจะมีผลเชิงลบในช่วงแรกบ้าง จากนโยบายเฝ้าระวัง และป้องกันของรัฐบาล และความกลัวของนักลงทุน

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นไทย ทาง บลจ.ไทยพาณิชย์ ได้มีการปรับเพิ่มสัดส่วนเงินสดในพอร์ตเพิ่มขึ้น มีการเพิ่มการลงทุนในหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล ที่ราคาก่อนหน้านี้มีการปรับตัวลงมาก แต่จะได้ประโยชน์หากเกิดการระบาดของโควิด เพื่อรอความชัดเจนของสายพันธุ์โอมิครอนมากกว่านี้ ก่อนที่จะรอกลับไปลงทุนในหุ้นกลุ่มเปิดเมืองมากขึ้น

ในส่วนของหุ้นต่างประเทศ ก่อนหน้านี้ทาง บลจ.ไทยพาณิชย์ได้มีการปรับการลงทุน จากเดิมที่ให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารทุน เป็นคงน้ำหนักการลงทุน และเพิ่มน้ำหนักสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) เช่น ทองคำ เพิ่มขึ้นมาจากความเสี่ยงทางด้านปัจจัยเศรษฐกิจมหภาคที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยยังใช้นโยบายรอดูความชัดเจนของผลกระทบจากสายพันธุ์โอมิครอน ก่อนที่จะปรับการลงทุนในระยะถัดไป

โดยปัจจุบันด้านตราสารทุน ทาง บลจ. มีความชื่อชอบหุ้นอินเดีย และญี่ปุ่น เนื่องจากมีมูลค่าที่ดูน่าสนใจ และมีแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจระยะยาวที่ดูดี และนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดูน่าสนใจตามลำดับ

ในส่วนของดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้ (เดือน ธ.ค.2564) คาดว่าดัชนีจะแกว่งตัวในกรอบ รอความชัดเจนเกี่ยวกับสายพันธุ์โอไมครอน โดยมีแนวรับจากความเสี่ยงด้านการระบาดที่กรอบ 1590-1560 จุด

ส่วนปีหน้ามองดัชนี SET index มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้ดีต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังการเริ่มเปิดเมือง เปิดประเทศ ความเชื่อมั่นด้านการบริโภค และการลงทุนมีทิศทางการฟื้นตัวดีขึ้น

รวมถึงคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเริ่มกลับมาตั้งแต่กลางปี 2022 เป็นต้นไป โดยให้เป้าหมายดัชนี SET index ณ สิ้นปี2565 ที่ 1,800 จุด คิดเป็น forward PER ratio ที่ระดับ 16.7 เท่า และกำไรต่อหุ้นที่ 107 จุด

แนะนำให้นักลงทุนใช้กลยุทธ์รอความชัดเจน และเตรียมตัว buy-on-dip ในช่วงที่มีความไม่แน่นอน หรือเกิดการระบาดขึ้น โดยเฉพาะในหุ้นในกลุ่มเปิดเมืองที่ราคาปรับตัวลงมาก จากประสบการณ์ด้านการลงทุนในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด -19 สายพันธุ์ต่างๆ มาแล้ว 3-4 ครั้งในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เรารู้ว่าดัชนีตลาดหุ้นไม่ว่าในต่างประเทศหรือของไทยเอง จะมีการปรับตัวลงจากแรงเทขายบ้าง

แต่อย่างไรก็ตามภายในระยะเวลาไม่เกิน 1-2 เดือน ก็จะผ่านจุดต่ำที่สุดของรอบ และเริ่มฟื้นตัวกลับไปที่ระดับก่อนระบาดไม่ได้ยากมากนัก ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าอย่างไรก็ตามทิศทางการลงทุนทั่วโลกในโลกหลังการระบาดของโควิดยังคงดูดีได้ แม้ว่าการระบาดจะรุนแรงก็ตาม และเป็นบทเรียนสำหรับนักลงทุนว่า ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ นักลงทุนที่มีกล้าหาญเข้าซื้อในช่วงที่เกิดวิกฤต มักจะได้ผลตอบแทนที่สูงหลังจากวิกฤตนั้นคลี่คลายลง