ส่องพอร์ต "Addventure" SCG ลงทุนสตาร์ทอัพตัวไหนบ้าง

ส่องพอร์ต "Addventure" SCG ลงทุนสตาร์ทอัพตัวไหนบ้าง

AddVentures หน่วยงานด้านลงทุนในสตาร์ทอัพรูปแบบ (CVC) เครือ SCG เป็นอีกหนึ่งหน่วยลงทุนจากองค์กรใหญ่ที่เข้ามาร่วมจับเทรนด์ลงทุนสตาร์ทอัพที่โดดเด่นด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ด้วยจังหวะการดำเนินธุรกิจที่รวดเร็วกว่า และไม่เกรงกลัวความผิดพลาดดั่งลูกวัวไม่กลัวเสือ

นายประกิจ วรวัฒนนนท์ กรรมการผู้จัดการ AddVentures SCG กล่าวว่า เอสซีจีตั้งใจที่จะพัฒนาด้านนวัตกรรมและเริ่มทำมากว่า 10 ปี โดยมีหน่วยพัฒนาด้านนวัตกรรมดีพเทคโนโลยีภายในองค์กรที่เกี่ยวกับวัสดุและกระบวนการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้า นอกจากนี้ยังตั้งใจเปิดรับนวัตกรรมจากภายนอกที่เปลี่ยนแปลงเร็วมากในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านการลงทุนกับสตาร์ทอัพ

"ความต้องการของลูกค้าและการแข่งขันในตลาดสูง ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ธุรกิจที่เอสซีจีทำเท่านั้น แต่รวมถึงตลาดในภาพรวม สิ่งที่ทำได้ดีวันนี้อาจใช้ได้ไม่ถึง 1 ปี เรียกว่าเป็นการเดินทางที่ไม่มีเส้นชัย ถ้าเอสซีจีรอทำด้วยตัวเองจะเสียโอกาสทางธุรกิจ เอสซีจึงส่งตัวแทนไปสำรวจตลาดสตาร์ทอัพเทคโนโลยีดิจิทัลในไทยและต่างประเทศที่เปลี่ยนเร็ว โดยทำหน้าที่เป็นผู้พัฒนาไอเดียให้ใหญ่ขึ้นและใช้งานได้จริง"

โจทย์หลักที่ได้รับ คือ สร้างการเติบโตใหม่และสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีที่ได้จากการลงทุนกับสตาร์ทอัพ และสร้าง Synergy ให้ 3 กลุ่มธุรกิจของเอสซีจี คือ 1.ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง 2.ธุรกิจเคมิคอลส์ 3.ธุรกิจแพคเกจจิ้ง และรวมถึงกลุ่มเทคโนโลยีอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงแต่ต่อยอดร่วมกันได้ โดยหลังจากลงทุนแล้วจะประเมินเพื่อร่วมทุนในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) และอีกด้านหนึ่งคือการดูความสามารถการทำกำไร (Financial Gain) ของธุรกิจ และผลตอบแทนจากต้นทุนที่ลงไป

ขณะเดียวกันสิ่งที่สตาร์ทอัพจะได้รับมากกว่าเงินลงทุน คือ ความรู้เกี่ยวกับตลาด (Market Knowledge) จากฐานลูกค้าที่เอสซีจีมีในระดับประเทศและอาเซียน ซึ่งเป็นประโยชน์ในการขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ

สำหรับแผนการลงทุนปี 2565 จะปรับจุดโฟกัส แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ 

1.การเลือกลงทุนเชิงพื้นที่ จากประสบการณ์การลงทุนในอินเดียที่สำเร็จมาก จึงทำให้อินเดียเป็นพื้นที่ที่สนใจหาโอกาสลงทุนมากขึ้น รวมทั้งในจีนที่มีสตาร์ทอัพประสบความสำเร็จจำนวนมาก รวมถึงอาเซียนที่ยังคงเป็นที่น่าจับตามอง 

2.การเลือกลงทุนกลุ่มสตาร์ทอัพที่อยู่ระยะเติบโต คือ Series-C และ Series-D จากช่วงแรกที่เลือกลงทุนในกลุ่มที่อยู่ระยะเริ่มต้นใน Series-A และ Series-B ที่ลงทุนเฉลี่ยต่อราย 1 ล้านดอลลาร์ โดยจะเพิ่มการลงทุนเฉลี่ย 5-10 ล้านดอลลาร์

"ขณะเดียวกันก็บริหารความเสี่ยงของพอร์ตที่ลงทุนไปแล้ว 1,300 ล้านบาท จากงบลงทุน 3,000 ล้านบาท ด้วยการหาจังหวะเหมาะสมที่จะถอนทุน (Exit) เพื่อทำกำไรจากเงินลงทุน ให้เป็นเงินทุนหมุนเวียนกลับมา ตามธรรมชาติของการลงทุน VC ที่มีการซื้อและปล่อย ซึ่งหลังจากลงทุนไปแล้ว 4-5 ปี ก็ทำให้เราอยู่ในช่วงการตัดสินใจนั้น"

ปัจจุบันมีลงทุนโดยตรงและผ่านกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) แบ่งเป็น 

ไทย 5 ราย ได้แก่ ‘Baania’ แพลตฟอร์มซื้อขายบ้านและอสังหาริมทรัพย์ ‘BUILK’ ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์งานก่อสร้างครบวงจรให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 

GETLINKS แพลตฟอร์มจัดหางานแก่บริษัทเทคโนโลยีและองค์กรขนาดใหญ่ , GIZTIX บริการโลจิสติกส์สำหรับเอสเอ็มอี , HG robotics ให้บริการหุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่นสำหรับเกษตรกรรม

อินโดนีเซีย มากที่สุด 6 ราย ได้แก่ Printerous ให้บริการออกแบบแพคเกจจิ้งออนไลน์ , Tanihub แพลตฟอร์มรวมวัตถุดิบการเกษตรและอาหาร , Ralali.com แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขายสินค้าสำหรับอุตสาหกรรม 

Seekmi แพลตฟอร์มผู้ให้บริการคนงานบลูคอลลาร์ ที่มีฐานข้อมูลใหญ่สุดในอินโดนีเซีย , eFishery ให้บริการ IOT สำหรับเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ , Dekoruma แพลตฟอร์มสำหรับรีโนเวทและตกแต่งบ้าน 

สิงคโปร์ 3 ราย ได้แก่ Adatos ให้บริการเอไอที่ใช้กับเกษตรกรรมขนาดใหญ่ , Janio ให้บริการโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนสำหรับอีคอมเมิร์ซครบวงจร , Validus ให้บริการทางการเงินระยะสั้นแก่เอสเอ็มอี  

เวียดนาม 1 ราย คือ Logivan บริการโลจิสติกส์ 

อินเดีย 1 ราย คือ Bizongo เป็นแพลตฟอร์มสำหรับสินค้าบรรจุภัณฑ์ มีลูกค้ารายใหญ่อย่าง Amazon, Ecom Express, Flipkart

ในขณะที่กลุ่มสตาร์ทอัพที่กำลังเจรจาเพื่อลงทุนเพิ่มในไทยจะเป็นธุรกิจดิจิทัล อาทิ อีคอมเมิร์ซ รีเทล โลจิสติกส์ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ยังเติบโตได้ดี ซึ่งจะเกิดการแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้นต่อเนื่อง

ส่วนกลุ่มที่ไปร่วมลงทุนช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นสตาร์ทอัพกลุ่มเทคโลโนยีดิจิทัลด้านอีคอมเมิร์ซ มาร์เก็ตแพลตฟอร์ม และโลจิสติกส์ซึ่งเป็นกลุ่มที่เติบโตตามเทรนด์ตลาดโลก รวมทั้งเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักของเอสซีจี

“นอกจากนี้ยังสนใจลงทุนเกี่ยวกับดีพเทคโนโลยีเกี่ยวกับการลดคาร์บอน ตามเป้าหมายที่เอสซีจีต้องการมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2050"

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีระดับโลกที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนยังไม่แน่ชัดและมีต้นทุนสูง ในระหว่างนี้จึงร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพและกองทุนร่วมลงทุนที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาว่าในระดับโลกพัฒนาถึงระดับใด แล้วนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาต่อยอดกับธุรกิจของเอสซีจีอย่างไรได้บ้าง

“การเข้าไปร่วมลงทุนมองเป้าหมายผลักดันให้เป็นยูนิคอร์น แต่ไม่ใช่เป้าหมายทั้งหมดเป็น 1 ไมล์สโตน ร่วมกับเป้าหมายให้สตาร์ทอัพเติบโตในภูมิภาคและตอบโจทย์ธุรกิจของเอสซีจี”

สำหรับสตาร์ทอัพในไทยและต่างประเทศมีลักษณะพื้นฐานที่เหมือนกัน คือ จังหวะการดำเนินธุรกิจ ความตื่นตัว และความสามารถของคน โดยแง่ของวัฒนธรรมภูมิภาคอาเซียนมีจุดที่คล้ายคลึงกันและมีความต่างกัน 

"มุมมองการลงทุนในสตาร์ทอัพสำหรับผมคิดว่าการพูดคุยกับสตาร์ทอัพไทยจะมีช่องว่างน้อยกว่า และเข้าใจกันง่ายกว่าด้วยพื้นฐานความคิดเชิงสังคมที่เหมือนกัน แต่ผมไม่คิดว่าความต่างและช่องว่างความเข้าใจจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการเลือกลงทุนในไทยหรือต่างประเทศ"

ทั้งนี้ ภาพรวมของการพัฒนาสตาร์ทอัพไทยมีความท้าทายและอุปสรรค อาทิ จำนวนประชากรไม่มากเมื่อเทียบอินโดนีเซีย อินเดียและจีน แต่ไม่ใช่ข้อจำกัดใหญ่ที่สุดเพราะสิงคโปร์กลับมีสตาร์ทอัพยูนิคอนมากที่สุดในภูมิภาค ดังนั้นยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของสตาร์ทอัพ เช่น โมเดลธุรกิจ แพลตฟอร์มการใช้งาน และความสามารถในการเติบโตแบบไร้พรมแดน 

ข้อจำกัดอีกด้าน คือ คนเก่ง (Talents) ที่จะมาทำงานกับสตาร์ทอัพไทย ส่วนมากยังทำงานในองค์กรใหญ่ แต่เมื่อไทยมีสตาร์ทอัพที่โตไปถึงยูนิคอร์นมากขึ้นก็เป็นสัญญานดีที่จะสร้างแรงบันดาลใจแก่คนเก่งให้ออกไปทำธุรกิจมากขึ้น 

นอกจากนี้อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มสตาร์ทอัพไทย คือ ระยะเริ่มต้นธุรกิจ (Early Stage) มักไม่มีนักลงทุนรายใหญ่สนใจ โดยส่วนมากจะเติบโตด้วยเงินทุนจากนักลงทุนอิสระ (Angel Investor) ที่มีไม่มาก ดังนั้น กลุ่มสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้นควรได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐทั้งเงินทุนและลดตัวแปรที่ชะลอการเติบโตของธุรกิจ เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คิด 20% ในขณะที่สิงคโปร์ 0% และอินโดนีเซีย 5% 

ส่วนภาพรวม ecosystem ของสตาร์ทอัพไทยยังไม่มีผู้ลงทุน VC ที่ถอนทุนเพื่อทำกำไร เช่น การขายหุ้นให้แก่กิจการขนาดใหญ่ที่มีความสนใจซื้อ การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือ การควบรวมกับกิจการอื่นและมีการแลกหุ้นกัน ซึ่งหากมีการถอนทุนในสตาร์ทอัพไทยที่มีความสามารถในการทำกำไรสูงจะเพิ่มความแข็งแกร่งให้ทั้ง ecosystem